27 ม.ค. 2023 เวลา 05:00 • สุขภาพ

กรดไหลย้อน โรคที่สะท้อนสิ่งที่เราทำ

วันนี้เอไอไอเอนำโรคที่คนวัยทำงานหลาย ๆ คนในปัจจุบันชอบเป็นมาฝากกันครับ นั่นคือโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD)
กรดไหลย้อนเกิดจาก การที่กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากเกินไป หรือเกิดจากหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวผิดปกติ กรดจึงไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร
  • อาการที่พบบ่อย
- รู้สึกปวดแสบร้อนจากช่วงอกไปจนถึงลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก
- มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ
- มีอาการจุกเสียด แน่น คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้หลังรับประทานอาหาร
- กลืนอาหารได้ลำบาก คล้ายมีอะไรติดคอ มีอาการเจ็บคอ รู้สึกระคายเคืองตลอดเวลา
- ในกรณีที่กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปถึงกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วน บนจนทำให้คอ หลอดลม และกล่องเสียง เกิดการระคายเคือง จะพบว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบแห้ง มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ
ภาวะกรดไหลย้อนสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักจะพบในกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อการเกิดกรดไหลย้อน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างสามารถช่วยลดโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้ เช่น
- รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ
- ไม่รับประทานเร็วเกินไป การรับประทานเร็วเกินไป และเคี้ยวอาหารน้อยลง จะทำให้ระบบทางเดินอาหารต้องทำงานหนักมากขึ้น แถมยังทำให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด จนเกิดอาการกรดไหลย้อนตามมาได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้ช้าลง และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ผักบางชนิด เช่น มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม เป็นต้น
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- ไม่เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ ควรเว้นช่วงให้กระเพาะอาหารได้ย่อยอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนล้มตัวลงนอน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีกับรูปร่าง ไม่รัดแน่นจนเกินไป เสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นบริเวณท้องจะกดเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไหลล้นกลับไปในหลอดอาหารได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น รวมไปถึงจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้หูรูดหลอดอาหารปิดไม่สนิท
- อย่าปล่อยให้เกิดอาการเครียด ซึ่งอาจไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มากขึ้น ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือที่ชอบ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จะช่วยลดการหลั่งกรดที่มากเกินไปได้
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพราะหากน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ความดันในช่องท้องก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
วิธีบรรเทาอาการกรดไหลย้อน คือ ไม่ควรนอนหงายราบไปกับเตียง เพราะอาหารในกระเพาะจะกดทับหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้กรดไหลย้อน กรณีนี้แนะนำให้หนุนที่นอนตั้งแต่ช่วงอก ไหล่ และศีรษะให้สูงขึ้น จะช่วยลดแรงกดดังกล่าวได้
รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายประสุขภาพ เอไอเอ ประเทศไทย
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/topics/6322a4b8ae66c7433c8d5007
โฆษณา