27 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • หนังสือ

ANOTHER BOOK ขอนำเสนอ

“ทำงานลดลง สำเร็จมากขึ้น ด้วยบูโจ”
The Bullet Journal Method
วิถีบันทึกแบบบูโจ
โดย Ryder Carroll
#What_I_Get
“ชีวิตฉันยุ่งเหลือเกิน มีแต่สิ่งที่ต้องทำยาวเหยียดไม่สิ้นสุด จนฉันลืมความฝันและเป้าหมายของชีวิตไปจนหมด” ผมเชื่อว่าเราทุกคนเคยรู้สึกใกล้เคียงกับประโยคนี้ไม่มากก็น้อย
การใช้ชีวิตในยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พร้อมกับสื่อทุกรูปแบบที่พร้อมจะขโมยความสนใจของเราไปตลอดเวลา ทุกวันนี้เป็นเหมือนเพียงภาพที่ตื่นมาแล้วเพียงกระพริบตาก็หมดวันด้วยงานที่เราจำเป็นต้องทำ โดยที่เรายังไม่มีเวลาให้กับตัวเองบ้างเลย
เราจะเริ่มมีความสุขน้อยลงถ้าเราไม่อาจได้เลือกทำในสิ่งที่เราต้องการ เราอาจจะรู้อยู่แก่ใจว่าเราต้องการทำอะไร แต่เราไม่เคยได้มีเวลา หรือโอกาสที่จะได้ทำมัน
วิถีบันทึกแบบบูโจจะสามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยสำหรับปัญหานี้ได้ โดยการค่อย ๆ ให้เราได้ทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้นทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัว
วิถีบันทึกแบบบูโจ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บูโจ นั้นเป็นระบบการจดบันทึกเพื่อคอยสะกิดเตือนคุณถึงเจตจำนงของคุณเสมอ เพื่อให้คุณได้เลือกทำสิ่งที่คุณต้องการทำมากที่สุด โดยเป็นการบันทึกที่เน้นความสั้น กระชับ และใช้เพียงแค่ปากกาและกระดาษ เท่านั้น
สิ่งแรกที่คุณต้องพิจารณา คือ เจตจำนงของคุณ
เจตจำนง คือ สิ่งที่คุณเลือกทำเพื่อสร้างคุณค่าอะไรบางอย่างให้กับสิ่งที่คุณให้ความสำคัญ เจตจำนงที่ดีควรมีคุณสมบัติที่ มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ มีความแข็งแกร่งไม่ล้มเลิกง่าย ๆ และสามารถฟื้นตัวได้ง่ายจากความล้มเหลวระหว่างทาง
การหาเจตจำนงของตัวเองอาจทำได้โดยการถามคำถาม 3 ข้อ ต่อไปนี้
1. อะไร คือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ
2. ทำไม มันจึงสำคัญ
3. จะทำให้สิ่งเหล่านี้สำเร็จได้ อย่างไร
นอกจากนี้เรายังควรขจัดสิ่งที่รกสมองออกไป เพราะโดยปกติแล้วคนเรามีความคิดประมาณ 50000 – 70000 ความคิดต่อวัน ถ้าเราใส่ใจทุกความคิดที่ผ่านเข้ามาย่อมทำให้สมาธิของเรากระจัดกระจายมากเกินไป จนเรารู้สึกยุ่งไปกับมันและไม่ได้ลงมือทำสิ่งที่เราต้องการ
เราสามารถขจัดสิ่งที่รกสมองได้ด้วยการสร้าง รายการความคิด โดยการเขียนทุกอย่างที่เราคิดออก และจัดประเภทแต่ละความคิดให้อยู่ใน 3 หมวดหมู่ ต่อไปนี้
1. สิ่งที่ กำลัง ทำ
2. สิ่งที่ ควร ทำ
3. สิ่งที่ อยาก ทำ
การเขียนรายการแต่ละอย่างควรเลือกคำให้สั้นกระชับ และเข้าใจได้ง่าย จากนั้นให้เราค่อย ๆ พิจารณาแต่ละรายการด้วยคำถามที่ว่า
1. งานนี้สำคัญหรือไม่
2. มันจำเป็นหรือไม
ถ้างานใดในรายการที่ทั้งไม่สำคัญต่อเจตจำนงของเรา และไม่ได้จำเป็นต่อการใช้ชีวิต รายการนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจ ให้ขีดฆ่ารายการนั้นออกเสีย
หลังจากที่คุณเรื่องเข้าใจว่าเจตจำนงของคุณคืออะไร และสามารถขจัดสิ่งที่รกสมองออกไปได้แล้ว คุณจะเริ่มมองเห็นชีวิตของตัวเองชัดเจนขึ้น แล้วสามารถมองเห็นเส้นทางต่อไปของชีวิตเราได้ แต่ความคิดต่าง ๆ ของเราบางทีก็อาจถูกลืมเลือนเมื่อเวลาผ่านไป การจดบันทึกแบบบูโจจะเข้ามามีส่วนช่วยให้คุณได้เดินหน้าไปยังเป้าหมายตามเจตจำนงของคุณ
เทคนิคหนึ่งที่สำคัญสำหรับการบันทึกแบบบูโจ คือ เทคนิคบันทึกเร็ว
เทคนิคบันทึกเร็ว คือ การบันทึกสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำที่สั้น ง่าย ได้ใจความ และตัดสิ่งปรุงแต่งออก ให้เหลือเพียงส่วนสำคัญเท่านั้น เทคนิคบันทึกเร็วจะแบ่งการบันทึกเป็นข้อ ๆ (Bullet) โดยใช้สัญลักษณ์ในการช่วยแบ่งประเด็นต่าง ๆ ออกจากกัน
สัญลักษณ์พื้นฐานของเทคนิคบันทึกเร็ว คือ
• คือ งาน (สิ่งที่ต้องทำ)
x คือ งานที่ทำเสร็จแล้ว
> คือ งานที่ถูกย้าย (ย้ายไปวันถัดไป หรือเดือนถัดไป)
o คือ เหตุการณ์ ( เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ , ประสบการณ์ต่าง ๆ )
- คือ โน้ต ( ข้อเท็จจริง ความคิด ไอเดีย ข้อสังเกตุ )
การใช้สัญลักษณ์จะช่วยให้เราสามารถแบ่งแยกประเภทความคิดของเราในแต่ละวันได้อย่างดี นอกจากสัญลักษณ์พื้นฐานแล้วคุณยังสามารถเพิ่มสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่คุณมองว่าเป็นประโยชน์ต่อการจดบันทึกของคุณได้เอง เพื่อให้สามารถจดบันทึกได้ง่าย และเร็วที่สุดด้วย เช่น * คือ หัวข้อที่สำคัญ และ @ คือ สถานที่ เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้เทคนิคบันทึกเร็ว
Ex1: จดบันทึกแบบเดิม “ โทรกลับหาคีธเพื่อตกลงกันว่าสุดสัปดาห์นี้จะไปกินร้านไหน”
 
เทคนิคบันทึกเร็ว “ • คีธ : โทรหา : ดินเนอร์วันเสาร์ ”
Ex2: จดบันทึกแบบเดิม “ สั่งเค้กวันเกิดให้คิมวันพฤหัสหน้า เอาแบบปลอดกลูเตนเพราะเธอแพ้ ”
 
เทคนิคบันทึกเร็ว “ x คิม : ซื้อเค้กวันเกิด
- แพ้กลูเตน
- งานจัดวันพฤหัส ”
วิธีสร้างบุลเล็ตเจอร์นัล
สำหรับคนที่พึ่งเคยจดบันทึกรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกผมแนะนำให้เริ่มจาก
1. สร้างหน้าดัชนี (ใช้ค้นหาด้วย หัวเรื่อง และ เลขหน้า) ที่หน้า 1-4
2. สร้างบันทึกอนาคต (บันทึกงานที่ต้องนอกเดือนปัจจุบัน) ที่หน้า 5-8 แบ่งกระดาษเป็น 3 ช่องต่อหน้า ใส่ชื่อเดือนลงไป ใส่ งาน และ เหตุการณ์ ในอนาคต
3. สร้างบันทึกประจำเดือน (รายการความคิดของเดือนปัจจุบัน และภาพรวมของงานในรอบเดือน) ที่หน้า 9-10 ใส่หัวข้อเป็นเดือนปัจจุบัน ใส่วันที่เรียงลงมาที่หน้า 9 และงานที่ต้องทำในเดือนนั้นที่หน้า 10
 
4. สร้างบันทึกประจำวัน (เก็บความคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน) ใส่เลขหน้า ใส่วันที่ เขียนงานของวันนั้น ๆ และบันทึกเลขหน้าลงในดัชนีในหัวข้อที่สำคัญ
5. สร้าง รายการความคิด ของคุณออกมา เขียนทุกอย่างที่คิดออกลงไป
6. ทบทวน รายการความคิด ขีดฆ่าสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่สำคัญทิ้ง
7. ย้ายข้อมูลจากรายการความคิด ไปยังบันทึกอนาคต บันทึกประจำเดือน และย้ายรายการที่มีความสำคัญแรก ๆ ไปยังบันทึกประจำวัน ตามเวลาที่ต้องทำงานนั้น ๆ
หลังจากที่ได้สร้างพื้นฐานของสมุดบันทึกแบบบูโจแล้ว ให้คุณค่อย ๆ บันทึกความคิดในทุกวัน โดยมุ่งเน้นที่ความง่าย และความสม่ำเสมอของการบันทึกเป็นหลัก เพื่อให้คุณสามารถที่จะทำมันได้ในทุกวัน
ในระยะสั้น การบันทึกแบบบูโจจะช่วยให้คุณไม่ลืมว่าคุณต้องจัดการงานใดบ้างที่สำคัญ และไม่ถูกท่วมท้นด้วยงานที่ไม่ได้สำคัญหรือจำเป็นต่อตัวคุณ คุณจะค่อย ๆ ได้เรียนรู้การใช้เวลาในแบบของคุณเองผ่านการบันทึก และเลือกใช้เวลาได้อย่างชาญฉลาดขึ้น
ในระยะยาวการที่คุณค่อย ๆ ได้บันทึกงานที่คุณได้ทำมา การเลือกใช้เวลาของคุณ การเกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป แล้วมองกลับมาที่สมุดบันทึกนี้ คุณจะเริ่มมองเห็นภาพรวมชีวิตของคุณมากขึ้น มองเห็นว่างานใดที่ไม่คุ้มค่ากับเวลาและแรงงานของเรา และสามารถเลือกทำงานที่ให้คุณค่าและตรงกับเจตจำนงของคุณมากกว่า ซึ่งนั่นคงเป็นชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน
หมายเหตุ : การบันทึกแบบบูโจยังมีวิธีบันทึกแบบอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจจะเหมาะสมกับคุณมากกว่ารูปแบบมาตรฐานคุณสามารถอ่านรายละเอียดได้ในส่วนอื่น ๆ ของหนังสือ
#How_I_Feel
การบันทึกแบบบูโจเป็นการบันทึกที่เรียบง่าย มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบที่เราต้องการ และค่อย ๆ ให้เราได้ใช้เวลาคิดและเรียนรู้เรื่องราวของตัวเราเองในแต่ละวัน
รูปแบบของบูโจ ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมสำคัญ ๆ ของชีวิตเราที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามเจตจำนงที่เราอยากทำหรือไม่ เปิดช่องทางให้เราได้ตรวจสอบชีวิตของเราเอง เพื่อปรับปรุงแก้ไขชีวิตให้ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นได้
#Who_Should_Read
-ผู้ที่อยากจัดระเบียบชีวิตจากชีวิตที่วุ่นวาย
-ผู้ที่ต้องการจดบันทึกชีวิตของตัวเอง
-ผู้ที่มองหาเทคนิคการจดบันทึก
Review by Another Book
 
ถ้าชอบบทความนี้ กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
ช่องทางการติดตาม
Facebook Page : Another Book https://www.facebook.com/AnotherBookReview
โฆษณา