30 ม.ค. 2023 เวลา 00:01 • หนังสือ

นินทาแค่เพื่อหารือ ไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง

หากถามใครไปแบบกว้าง ๆ ว่า “คุณคิดอย่างไรกับการนินทา” ผมว่าความเห็นส่วนใหญ่น่าจะประมาณว่า “มันเป็นเรื่องแย่อย่างแน่นอน จงอยู่ให้ห่าง ๆ การนินทาเข้าไว้”
ซึ่งผมไม่เถียงนะครับว่าการอยู่ในสังคมที่นินทากันตลอดเวลา มันน่าปวดหัวมากจริง ๆ แต่ผมกลับคิดว่าการนินทาเองก็มีข้อดีเช่นกัน หากเราใช้มันอย่างเหมาะสม และไม่เยอะจนเกินไป
ในหนังสือ “500 ล้านปีของความรัก” เขียนโดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา พูดถึงเหตุผลที่มนุษย์วิวัฒนาการมาให้ชอบนินทาได้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มมาตั้งแต่ในอดีตเลยครับ
ผู้เขียนบอกว่า หนึ่งในพฤติกรรมของสัตว์ตระกูลลิงที่ใช้สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันก็คือ “การหาเห็บเหาเกาหลังให้กัน” พฤติกรรมนี้ช่วยให้ลิงเกิดความผ่อนคลาย และเป็นการส่งสัญญาณบอกลิงอีกตัวว่า “ฉันเป็นมิตรกับนายนะ”
เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์เราแยกสายวิวัฒนาการออกมา เราก็หยิบเอาความชอบการสัมผัสร่างกายมาด้วยเช่นกัน (นึกถึงเวลามีคนเกาหลัง หรือนวดให้) แต่พอสังคมเราขยายใหญ่ขึ้น เราจึงไม่สามารถไปนั่งเกาหลังให้ทุกคนได้ ระบบวิวัฒนาการจึงสร้างเครื่องมือใหม่ในการเชื่อมสัมพันธ์กันในสังคมขึ้นมา นั่นก็คือ “การนินทา” ครับ
ผู้เขียนบอกว่า หากเราสังเกตดูก็จะพบว่ามันแปลกมากที่ไม่มีใครสอนให้เรานินทาเลย แต่พอเรามีสังคมปุ๊ป เรากลับค่อย ๆ เรียนรู้วิธีนินทาขึ้นมาได้เอง แล้วก็รู้สึกสนุกไปกับมันเสียด้วย ยิ่งเป็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่น เรื่องบนเตียง หรือเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ (เจ้านายใหม่ หรือการหักหลัง) ก็จะยิ่งรู้สึกอยากนินทาต่อ
แล้วหากมีใครเอาเรื่องคนอื่นมานินทาให้ฟัง เราก็มีแนวโน้มจะรู้สึกอยากเอาเรื่องที่เรารู้มานินทาให้ฟังเพื่อเป็นการตอบแทนด้วย ทำให้เราเกิดความรู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น
ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะในสมัยที่เรายังหาของป่าล่าสัตว์ เราไม่มีข่าวออนไลน์แบบในทุกวันนี้ ดังนั้นช่องทางเดียวในการหาข่าวของเราคือการนินทากันปากต่อปาก ว่าใครเกลียดใคร ใครวางแผนฆ่าใคร ใครจะล้มอำนาจหัวหน้าเผ่า เป็นต้น
ดังนั้นการนินทาจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ในทางกลับกันการนินทายังช่วยควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมด้วย หากใครทำตัวแย่และถูกนินทาต่อกันไปทั้งเผ่า ก็จะโดดเดี่ยวไม่มีใครเอา ทุกคนเลยพยายามทำตัวให้ดีตามขนบเพื่อความอยู่รอด
แม้ในปัจจุบันการนินทาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของเรามากแล้ว แต่วิวัฒนาการที่มีมานาน ก็ยังทำให้เราให้ความสำคัญกับการนินทามากอยู่ดี
จากเนื้อหาดังกล่าว ผมเลยคิดว่าถ้าวิวัฒนาการส่งต่อการนินทามาจนถึงปัจจุบัน มันย่อมต้องเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์แน่ ๆ เพียงแต่เราต้องใช้มันให้เหมาะสมกับยุคสมัย ดังนั้นข้อคิดที่ผมได้ก็คือ “นินทาแค่เพื่อหารือ ไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง”
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่านาย A เป็นคนขี้โมโหและเหวี่ยงใส่เพื่อนร่วมงานเป็นประจำ แล้วบังเอิญคุณก็อยู่ในบริษัทที่ไม่สามารถรายงานกับ HR หรือหัวหน้าได้ แต่คุณและเพื่อนร่วมทีมก็ยังต้องทำงานร่วมกับนาย A
ผมว่ากรณีนี้เราสามารถคุยกับเพื่อนร่วมทีมถึงนาย A เพื่อระบายความรู้สึกกันได้ รวมถึงหารือร่วมกันว่าควรรับมือกับนาย A อย่างไรดี แน่นอนว่าบทสนทนาควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่ช่วยกันสุมไฟเพื่อสร้างความเกลียดชัง เพราะนั่นไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ผมก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนซุบซิบนินทากันตลอดเวลา ทุกเรื่อง ทุกวัน เพราะนั่นคงเป็นสถานที่ที่ Toxic มากทีเดียว แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในบางสถานการณ์ การจะรับมือกับสิ่งที่เจอเพียงลำพังมันอาจเกินความสามารถ ดังนั้นเราลองหาวิธีเอาเครื่องมือที่ระบบวิวัฒนาการส่งต่อมาให้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันดีกว่าครับ
ชื่อหนังสือ: 500 ล้านปีของความรัก #500ล้านปีของความรัก
ชื่อสำนักพิมพ์: Chatchapholbook
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา