1 ก.พ. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

อย่ามัวแต่หาช่องโหว่ในบทสนทนา จนพลาดสาระสำคัญไป

ผมเห็นด้วยกับการถกเถียง และการแสดงความคิดเห็นนะครับ ถ้ามันอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น เวทีดีเบต คำถามในห้องเรียน หรือห้องประชุมที่ต้องการความรอบคอบมาก ๆ
แต่ในหลายสถานการณ์ แม้เราจะสามารถถกเถียงหรือแสดงความเห็นได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะเห็นแย้งตลอดเวลา เช่น บทสนทนาในชีวิตประจำวัน แค่ลองจินตนาการดูว่าเวลาคุณพูดอะไรให้ใครฟัง แล้วคนคนนั้นหาเรื่องแย้งตลอด “แต่ว่าแบบนั้น” “แต่ว่าแบบนี้” เราก็คงไม่ประทับใจเท่าไรนัก
ในหนังสือ “จิตวิทยา รู้ใจคนจากคำพูดติดปาก” เขียนโดยคาซุยุกิ มาคิมุระ บอกว่าคนที่ชอบพูด “แต่ว่า” จนติดปากนั้นมีแนวโน้มจะผลักไสคู่สนทนาพอสมควรครับ
1
เช่น ผมเสนอแนวทางการทำงานไปว่า “เดี๋ยวเราทำงาน A ก่อน จากนั้นค่อยทำงาน B นะ” บางคนอาจจะสวนขึ้นมาว่า “แต่ว่าการทำแบบนั้นอ่ะ มันเสียเวลามากไปนะ”
ผู้เขียนบอกว่าความจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียครับ และความถูกต้องก็ไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียวเสมอไป ดังนั้นไม่ว่าเราพูดอะไรออกไป มันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีด้านเสีย ๆ ของเรื่องนั้นอยู่แล้ว
และคนที่พูดคำว่า “แต่ว่า” บ่อย ๆ จนติดปาก ลึก ๆ แล้วอาจต้องการทำให้คู่สนทนาตระหนักว่า ความคิดของฉันถูกต้องกว่าที่อีกฝ่ายกำลังพูด และฉันเหนือกว่า คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะยึดติดกับการแพ้ชนะ ชอบแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่น มั่นใจในตัวเองสูง
ซึ่งคนเหล่านี้มักจะถกเถียงด้วยยาก เพราะหลังคำว่า “แต่ว่า” ก็มักจะมีแต่เรื่องที่เขาอยากพูดเต็มไปหมดจนไม่อาจหาข้อสรุปร่วมกันได้
สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำกันเลยก็คือ ข้อคิดเห็นดังกล่าวเองก็ไม่ใช่สิ่งที่จริงแท้เสมอไป ไม่ใช่ว่าเราพูด “แต่ว่า” ปุ๊ป เราจะกลายเป็นคนยึดติดกับการแพ้ชนะเลย แต่หากพูดบ่อยจนเกินไป ก็อาจมีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้น แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นคือคนไม่ดีด้วย แต่นี่เป็นเพียงข้อสังเกตคนจากคำพูดติดปากเท่านั้น เพราะงั้นผมว่าสิ่งสำคัญของการอ่านหนังสือประเภทนี้ คือเอามาคิดทบทวนว่าลึก ๆ แล้วเราเป็นคนแบบที่ในหนังสือบอกไหม เราชอบไหม แล้วเราอยากแก้ไขหรือเปล่า
เมื่ออ่านบทดังกล่าวจบ ผมก็สรุปออกมาเป็นข้อคิดได้ข้อนึงครับว่า “อย่ามัวแต่หาช่องโหว่ในบทสนทนา จนพลาดสาระสำคัญไป” ครับ เช่น สมมุติผมต้องการจะพูดเรื่อง A แต่มียกตัวอย่างเรื่อง B ประกอบ แล้วก็อาจจะมีแตะเรื่อง C บ้างเล็กน้อย แต่สุดท้ายแล้วภาพใหญ่ที่ต้องการจะโฟกัสก็คือเรื่อง A
แต่มันจะมีบางคนที่รู้นะครับว่าวงสนทนาโฟกัสเรื่อง A กันอยู่ แต่ก็ไปขุดเอาช่องโหว่ของเรื่อง B กับ C มาแย้ง จนสุดท้ายเราก็หลงประเด็นกันไปหมด แล้วบทสนทนาก็ไม่เดินไปข้างหน้า
ยกตัวอย่างเช่น ผมบอกว่า “หากเราเห็นความสำเร็จของคนอื่นใน Social Media เยอะเกินไป แล้วเรารู้สึกแย่ บางทีเราอาจจะต้องลดการเล่น Social Media บ้างนะ” ใจความสำคัญคือการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง
แต่ก็จะมีบางคนแย้งว่า “แต่ว่า คนที่ประสบความสำเร็จเขาเอาความสำเร็จคนอื่นมาเป็นแรงผลักดันนะ ถ้าคิดแบบคุณเมื่อไรจะสำเร็จล่ะ?” คือเอาช่องโหว่เล็ก ๆ ของอีกประเด็นนึงมาแย้ง ทั้งที่มันไม่ใช่ใจความสำคัญของเรื่อง แล้วบทสนทนาก็ไม่นำไปสู่อะไรเลย นอกจากทำให้คนที่แย้งรู้สึกว่าตัวเองชนะ
เพราะงั้น ลองสังเกตดูครับว่าบทสนทนาของคุณควรโฟกัสอะไร เพราะการจะแย้งอะไรออกไป มันมีผลต่อทั้งคนพูดและคนฟังด้วยนะครับ
ชื่อหนังสือ: จิตวิทยา รู้ใจคนจากคำพูดติดปาก #จิตวิทยารู้ใจคนจากคำพูดติดปาก
ชื่อสำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา