31 ม.ค. 2023 เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์

พนักงานสำคัญไม่แพ้ลูกค้า! ถอดบทเรียนความผิดพลาด จากวัฒนธรรมแย่ๆ ของ Amazon

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Amazon เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาทำให้ชีวิตในการซื้อสินค้าของเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้เราสามารถซื้อสินค้าเกือบทุกอย่างได้เพียงแค่ไม่กี่คลิกบนเว็บไซต์ของ Amazon หลังจากนั้นแค่รอสินค้ามาส่งที่บ้าน เรียกได้ว่า Amazon ได้สร้างอาณาจักรโลจิสติกส์เป็นของตัวเองและแตกกิ่งก้านสาขาออกไปในหลายพื้นที่
หากพูดถึงในทางที่ดีแล้ว Amazon เป็นแบรนด์ที่ได้สร้างงานให้กับคนมากมาย เพราะปัจจุบัน Amazon มีพนักงานมากกว่า 1.1 ล้านคนในสหรัฐฯ ซึ่งบางส่วนทำงานในออฟฟิศและบางส่วนทำงานอยู่ที่คลังสินค้ากว่า 800 แห่งในอเมริกาเหนือเพียงอย่างเดียว โดยอัตราการจ้างงานของ Amazon นี้สูงกว่า Walmart ที่เป็นเอกชนรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เสียอีก
แม้จะดูเหมือนว่าการที่ Amazon เติบโตจะทำให้ชีวิตการทำงานของใครหลายๆ คนดีขึ้น แต่สำหรับบางคนนั้น การทำงานกับ Amazon ถือว่าเป็นประสบการณ์ในการทำงานอันเลวร้ายเลยทีเดียว
Amazon กับปัญหากดขี่แรงงานในอดีต
ด้วยความที่ Amazon มีคู่แข่งมากมาย ทำให้พวกเขาต้องการสร้างวัฒนธรรมการทำงานโดยเน้นไปที่ “ความหลงใหลที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้บริโภค” (Customer obsession) คือการพยายามทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Amazon จึงได้ติดตั้งหุ่นยนต์ ติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อติดตามประสิทธิภาพการทำงาน และปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งนี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านแรงงานและอัตราการหมุนเวียนของพนักงานสูงขึ้น
ย้อนกลับไปในปี 2015 บทความจาก New York Times เล่าว่า พนักงานของ Amazon ถูกบังคับให้อยู่ทำงานจนดึกดื่น เข้าร่วมประชุมนานๆ ยังให้พนักงานตอบอีเมลจนถึงเที่ยงคืนด้วย อีกทั้งยังมีนโยบายให้พนักงานส่งฟีดแบ็กถึงหัวหน้าแบบไม่ระบุตัวตน ซึ่งก่อให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสี เพื่อตัดแข้งตัดขาคนอื่นและให้ตัวเองได้เลื่อนขั้น โดย Bo Olson พนักงานคนหนึ่งของ Amazon ก็ได้อ้างว่า “เกือบทุกคนที่ทำงานด้วยต่างก็เคยร้องในที่ทำงานกันทั้งนั้น”
และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปี จนดำเนินมาถึงในปี 2018 หลายคนคงคิดว่าปัญหานี้จะหมดไป แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะสำนักข่าว New York Post ได้ออกมารายงานถึง Amazon โดยในครั้งนี้มีตัวละครสำคัญคือ James Bloodworth นักสืบผู้ที่พยายามเข้าไปสืบการทำงานในคลังสินค้าแห่งหนึ่งของ Amazon
เขาได้เล่าเรื่องราวการทำงานใน Amazon ผ่านหนังสือของตัวเองว่า “พนักงานต้องปัสสาวะใส่ขวด เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษทางวินัยและตกงาน เพียงแค่ต้องการเข้าห้องน้ำ” เขาจึงเปรียบโกดังเป็นเหมือนคุกดีๆ นี่เอง ซึ่งในตอนนั้น Amazon ได้ออกมาแก้ข่าวนี้โดยการกล่าวหาว่า New York Times ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนลงข่าว
แต่ในปี 2021 นี้เอง Mark Pocan สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเดโมแครตออกมาเปิดเผยอีกครั้งว่า แม้ว่าพนักงาน Amazon จะได้รับค่าจ้างสูง แต่กลับโดนบีบบังคับและกดดันด้วยเวลา จนต้องปัสสาวะลงในขวดพลาสติก
1
Amazon ควบคุมชีวิตการทำงานของคนขับรถส่งพัสดุ ตั้งแต่การบังคับใส่เครื่องแบบของ Amazon ขับรถตู้แบรนด์ Amazon รวมถึงแอปฯ ในโทรศัพท์และกล้องในรถจะมีตัวที่คอยติดตามประสิทธิภาพการทำงานและการขับขี่ของคนเหล่านี้อยู่ด้วย และยังไม่หมดแค่นั้น เพราะ Amazon ยังเป็นผู้กำหนดโควตาการจัดส่งของพนักงานด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานขับรถบางคนต้องปัสสาวะใส่ขวดขณะทำงาน เพราะมีเวลาการทำงานที่จำกัด
1
แม้ในตอนแรกดูเหมือนว่า Amazon จะออกมาปฏิเสธ แต่ในภายหลังได้ออกมายอมรับว่ามีพนักงานบางคนต้องปัสสาวะในขวดจริง นั่นก็คือ คนขับรถส่งพัสดุ เพราะในบางครั้งระหว่างเดินทางคนขับอาจเจอกับปัญหารถติด หรือบางครั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีห้องน้ำสาธารณะ จึงทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น พร้อมบอกอีกว่าจะนำปัญหานี้ไปปรับปรุงแก้ไข ส่วนด้านพนักงานในคลังสินค้าทาง Amazon มีห้องน้ำไว้ให้พนักงานใช้ได้ตลอดอยู่แล้ว
Amazon กับภาวะสมองไหลในปัจจุบัน
อีกประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในบริษัท Amazon คือ การมีอัตราการลาออกสูง ซึ่งในบางครั้งสูงถึง 150% เลยทีเดียว
โดยปกติแล้วเวลา Amazon พูดถึงบริษัทเมื่อต้องจ้างงาน ทางบริษัทมักจะใช้สโลแกนว่า “Come Build the Future with Us.” หรือก็คือ “มาสร้างอนาคตกับเราเถอะ” แต่พนักงานหลายคนกลับไม่ได้อยู่ร่วมสร้างอนาคตไปด้วยกันนานขนาดนั้น
3
เพราะแม้ว่า Amazon จะให้ค่าตอบแทนสูงกว่าหากเทียบกับงานลักษณะเดียวกันในบริษัทอื่น อีกทั้งยังให้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนยังลาออกเยอะอยู่ดี ซึ่งคนที่ลาออกไม่ได้มีแค่พนักงานในคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฝ่ายวิศวกรรมที่เป็นหัวกะทิขององค์กรด้วย
โดยสาเหตุหลักๆ ที่คนลาออกก็มาจากเหตุผลเดิมๆ นั่นคือ “วัฒนธรรมการทำงานขององค์กร” ตัวอย่างเช่น Patrick McGah วิศวกรของ Amazon ออกมาเล่าว่า ผู้จัดการแนะนำให้เขานอนงีบตอน 21.00 น. ถึง 22.00 น. และหลังจากนั้นให้ทำงานไปจนถึงตีสอง ซึ่งพนักงานคนอื่นๆ ที่ลาออกไปแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องทำงานจนดึกดื่นเช่นกัน
1
นอกจากนี้ ที่ Amazon ยังมีระบบการประเมินประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่ดี โดยทางบริษัทมีการแบ่งพนักงานเป็น 3 กลุ่ม คือ พนักงานระดับท็อป (Top Tier) จำนวน 20%, พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง (Highly Valued) จำนวน 75% และพนักงานที่มีประสิทธิภาพน้อยสุด (Least Effective) จำนวน 5%
พนักงานที่มีเกรดต่ำสุดจะถูกเรียกว่า Unregretted Attrition Rate หรือ URA จะต้องเข้าโครงการ Focus เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง หากไม่สามารถทำได้ก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่ง Amazon มีการกำหนดเป้าหมายไว้แล้วว่าจะปลดพนักงานออก 6% ต่อปีในเกือบทุกแผนกของบริษัท
1
บทเรียนจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ของ Amazon
เราจะเห็นกันแล้วว่าบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดังและขึ้นชื่อเรื่องการสร้างนวัตกรรมอย่าง Amazon ก็มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ต้องปรับปรุงและพัฒนากันต่อไป ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีบทเรียนอะไรบ้างที่เราสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจหรือองค์กรของตัวเองได้
1. วัฒนธรรมองค์กรส่งผลต่อการรักษาคนเก่ง
อย่างแรกคือ วัฒนธรรมองค์กรมีความสำคัญกับพนักงานและองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะจากการศึกษาโดย MIT Sloan Management Review พบว่า บริษัทไหนที่มีวัฒนธรรมแย่ๆ บริษัทนั้นมีแนวโน้มที่พนักงานจะลาออกมากกว่าเหตุผลเรื่องเงินเดือนถึง 10.4 เท่า ในทางกลับกัน ข้อมูลจาก Glassdoor ยังพบว่า สิ่งที่จะช่วยรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้มากกว่าการให้ค่าตอบแทนสูงๆ ก็คือ “วัฒนธรรมองค์กร” นั่นเอง
2. ชื่อเสียงที่ไม่ดีส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์
วัฒนธรรมขององค์กรไม่ได้สำคัญแค่กับพนักงานเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับคนภายนอกที่กำลังคอยจับตาอยู่ด้วยว่าบริษัทนั้นๆ ยึดถือหลักจริยธรรมอะไรบ้าง และหากบริษัทปฏิบัติไม่ดีกับพนักงานก็อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ (Brand Identity) ถ้ามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ลูกค้าก็อาจจะลังเลในการใช้จ่ายเงินให้กับแบรนด์ได้
3. แม้ลูกค้าจะสำคัญ แต่พนักงานก็สำคัญไม่แพ้กัน
จากข้อมูลในปี 2019 ของ Yahoo ชี้ให้เห็นว่า ตลอดช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ พนักงานจากคลังสินค้าของ Amazon ใน 46 แห่งมีปัญหาสุขภาพจิต และได้มีการโทรฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือกว่า 189 ครั้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย โดยมีพนักงานได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ความเครียดในการทำงานส่วนใหญ่มาจากการที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี เช่น ต้องเข้าห้องน้ำตามเวลาที่กำหนด และต้องทำงานแยกกับคนอื่นๆ
1
แม้ว่าองค์กรจะให้ความสำคัญกับลูกค้า หรือผลประกอบการของบริษัทมากแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่องค์กรไม่ควรมองข้ามมากที่สุดคือ “ความเป็นอยู่ของพนักงาน” เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้องค์กรก้าวเดินและเติบโตต่อไปได้
1
ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเสียผลผลิตประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญต่อปี อีกทั้งการสำรวจของ Anxiety and Depression Association of American (ADAA) ยังพบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าความวิตกกังวลและความเครียดส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทต่างๆ จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงานในบริษัทให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าตอนนี้ไม่ใช่แค่ Amazon เท่านั้นที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตของพนักงาน แต่ยังมีอีกหลายร้อยบริษัททั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่กำลังมองข้ามความเป็นอยู่ของพนักงานไป
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น
แปลและเรียบเรียง :
- Amazon Can’t Keep Thriving Without Fixing Its Culture : Sarah Green Carmichael, Washington Post - https://bit.ly/3C91HUX
- Amazon apologises for wrongly denying drivers need to urinate in bottles : BBC - https://bit.ly/3FZUTv0
- Amazon's Allegedly Harsh Work Culture Has Made Headlines: Here's What You Can Learn : Entrepreneur - https://bit.ly/3V55F7r
- Amazon’s ‘Toxic’ Workplace Shows Why We Need to Prioritize Employee Mental Health : Juliette Virzi, Yahoo - https://bit.ly/3jdf1B1
- Toxic Culture Is Driving the Great Resignation, MIT Sloan - https://bit.ly/3j7wE4V
- Performance evaluations at Amazon are so predatory and opaque, they drove me to quit. Here's how I navigated the worst weeks of my career. : Patrick McGah, Business Insider - https://bit.ly/3V874Ky
- Internal memo shows one tactic Amazon uses to force a set number of employees out every year : Ashley Stewart, Ashley Stewart, Eugene Kim, Business Insider - https://bit.ly/3W7c03v
#business
#culture
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา