1 ก.พ. 2023 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

เปิดประวัติหวย ตั้งแต่กระดาษจนถึงดิจิทัล และเหตุผลที่ต้อง "กินแบ่งรัฐบาล"

• ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า ‘หวย’ คือสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยทุก ๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือน พ่อแม่ลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายจะต้องเปิดวิทยุหรือทีวีรอฟังเลขเด็ดกัน แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนจะมาเป็น ‘สลากกินแบ่งรัฐบาล’ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ‘หวย’ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไม ‘สลาก’ ถึงต้อง ‘กินแบ่งรัฐบาล’ ? beartai BRIEF พบคำตอบแล้วครับ
• ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2375 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงเวลานั้นเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ประชาชนอดอยาก และต้องทำงานหนักเพื่อแลกข้าวประทังชีวิต ดังนั้น เมื่อทำงานได้เงินมาแล้ว จึงไม่ยอมนำไปใช้จ่าย เก็บเงินใส่ไหฝังลงดินไว้ ไม่เกิดการจับจ่ายในตลาด จนเงินตราที่มีอยู่ในประเทศค่อย ๆ ลดลง เรียกว่า “ภาวะเงินฝืด”
• ต่อมาพระศรีไชยบาล (จีนหง) นายอากรสุราชาวจีน ได้เข้าเฝ้าและกราบทูลรัชกาลที่ 3 ว่าภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากชาวบ้านต่างนำไปฝังลงดินไว้ ทางแก้ไขคือจะต้องออก ‘หวย’ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านนำเงินออกมาใช้จ่ายเหมือนกับในประเทศจีน
• หวยจึงเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยระยะแรกนั้น หวยจะเล่นอยู่ในกลุ่มชาวจีน เรียกว่า “ฮวยหวย” มีความหมายว่า “ชุมนุมดอกไม้” ซึ่งมีที่มาจากรูปดอกไม้ที่ถูกวาดไว้บนหวยนั่นเอง
• ต่อมาหวยได้เปลี่ยนรูปลักษณ์จากกระดาษวาดรูปดอกไม้ กลายมาเป็นแผ่นป้ายที่รูปหน้าและชื่อของคนจีน โดยทำเป็นป้ายเล็ก ๆ จำนวน 34 ป้าย และให้คนเล่นแทงว่าจะออกเป็นชื่อใคร ถ้าทายถูกเจ้ามือจ่าย 30 ต่อหนึ่ง
• แต่ด้วยความที่คนไทยอ่านภาษาจีนไม่ออก และไม่คุ้นเคยกับรูปใบหน้าดั้งเดิมของคนจีน จึงมีการเปลี่ยนลักษณะของหวยอีกครั้ง มาใช้เป็นพยัญชนะภาษาไทย เรียงตั้งแต่ ก.ไก่ จนถึง ฮ.นกฮูก แต่ตัดพยัญชนะออก 8 ตัว ได้แก่ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ ทั้งนี้ คาดว่าเพื่อลดความสับสน และทำให้เหลือหวยให้เล่น 36 ตัว จนต่อมาก็มีการเรียกชื่อหวยชนิดนี้แบบง่าย ๆ ว่า ‘หวย ก ข’
• ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงอยากเลิกอากรหวย เพราะไม่อยากให้ชาวบ้านเล่นการพนัน แต่อากรหวยก็ถือเป็นรายได้สำคัญของรัฐเช่นกัน จึงยังไม่สามารถยกเลิกได้ทันที รัชกาลที่ 5 จึงค่อย ๆ จำกัดจำนวนหวยและลดปริมาณลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถยกเลิกอากรหวยได้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
• แม้ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงอยากเลิกอากรหวย แต่ในรัชสมัยของพระองค์ก็ได้มีการออก ‘ลอตเตอรี่’ (Lottery) เป็นครั้งแรก โดยขุนนางไทยที่ได้ไปศึกษาในยุโรปเป็นผู้นำเข้ามา ซึ่งรูปแบบในการออกรางวัลนั้นปฏิบัติตามอย่างลอตเตอรี่ในยุโรป และผู้ถูกรางวัลจะได้รับเงิน สำหรับลอตเตอรี่นั้น ประชาชนทั่วไปจะเรียกว่า “หวยเบอร์”
1
• โดยจุดประสงค์หลักของการออกลอตเตอรี่ในช่วงเวลานั้น คือการหารายได้บำรุงการกุศล จึงจำเป็นต้องใช้เงินของรัฐบาลในการจัดการ ต่อมาได้มีการออกลอตเตอรี่ในวาระพิเศษอีกหลายครั้ง จนในที่สุด รัฐบาลเห็นว่ารายได้จากการออกลอตเตอรี่สามารถจุนเจืองบประมาณแผ่นดินได้ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อและมีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาล”
• ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้มีการจัดตั้ง ‘สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล’ ขึ้น โดยกำหนดให้มีการออกสลากฯ เป็นประจำ ส่วนการเล่นหวยก็กลายเป็นว่าผิดกฎหมายไป แต่หลายคนรู้ดีว่า แม้ว่าหวยจะผิดกฎหมาย แต่หวยก็ไม่ได้หายไป แต่เปลี่ยนรูปแบบมาใช้การเสี่ยงดวงบอกเลข 2 หลักสุดท้ายของสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่หลายคนเรียกอย่างติดปากว่า “หวยใต้ดิน” นั่นเอง
• ปัจจุบัน สลากกินแบ่งรัฐบาลก้าวไปไกลกว่าการเป็นแค่กระดาษธรรมดา ๆ มาก เพราะมีผู้ค้าหลายราย ยกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นมาวางขายบนโลกออนไลน์ กลายเป็น “ลอตเตอรี่ออนไลน์” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
• ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังคงมีการถกเถียงกันว่า ลอตเตอรี่ออนไลน์ขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ ทางรัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดการออก ‘สลากดิจิทัล’ มา เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อสลากดิจิทัลได้ผ่านแอปพลิเคชันของรัฐ และไม่ถูกผู้ค้าเอาเปรียบด้วยการขายสลากฯ เกินราคานั่นเอง
• ไม่ว่าจะเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากดิจิทัล หรือหวยใต้ดินไหน ๆ ก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนสมหวัง และกลายเป็นเศรษฐีได้ในชั่วข้ามคืน เนื่องจากโอกาสในการถูกรางวัลที่ 1 ของสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น มีเพียง 0.0001% ครับ
1
‣ เรื่อง สรวิชญ์ พระสุจริตวงศ์
โฆษณา