3 ก.พ. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

อย่าทำตัวเชี่ยวชาญ หลังทุกอย่างจบแล้ว

ไม่ว่าเราจะพยายามคิดบวก และใจเย็นมากแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าก็จะต้องมีคนบางคนที่คุยด้วยแล้วหงุดหงิดเสมอ เหมือนมีบางอย่างในตัวเขามากระตุ้นความรู้สึกไม่พอใจเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดแล้วเขาไม่เข้าใจสักที ท่าทางในการพูดของเขา หรืออะไรก็ตาม แต่หนึ่งในแรงกระตุ้นสำคัญสำหรับผม ก็คือคำพูดติดปาก
ตอนแรกคิดว่าตัวผมเองคงอคติกับคนอื่นมากไป แต่ในหนังสือ “จิตวิทยา รู้ใจคนจากคำพูดติดปาก” เขียนโดย คาซุยูกิ ยูคิมุระ ทำให้ผมสบายใจขึ้นว่า อย่างน้อยก็น่าจะมีใครบางคนที่คิดเหมือนผมบ้างล่ะ
ผู้เขียนพูดถึงคนที่ชอบพูดคำว่า “ก็บอกแล้ว” หลังจากที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ว่าอาจเป็นคนที่ประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินไป คิดว่าตัวเองสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติคุณขับรถไปกับเพื่อน แล้วคุณถามเพื่อนว่า “ระหว่างเส้นทาง A กับเส้นทาง B ควรไปเส้นไหนดี” เพื่อนคุณก็อาจตอบมาเป็นกลาง ๆ ว่า “ทางไหนก็ได้ ไม่รู้เส้นทาง A จะรถติดหรือเปล่า” แต่ด้วยความคุ้นชินกับเส้นทาง A คุณก็เลยขับไปเส้นทาง A แต่สุดท้ายกลับรถติด คราวนี้เพื่อนคนนั้นก็อาจตอบอย่างมั่นใจว่า “ก็บอกแล้ว ว่าทาง A มันติด” (ชวนหงุดหงิดจริง ๆ ครับ)
ในกรณีนี้เพื่อนของคุณอาจกำลังคิดว่า ตัวเองทราบผลลัพธ์ดีอยู่แล้วว่าเส้นทางนี้รถจะติด ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่แน่ใจนัก ผู้เขียนบอกว่าการกระทำนี้อาจเชื่อมโยงกับความต้องการการยอมรับโดยไม่รู้ตัว แต่ในมุมมองของคนอื่นอาจเป็นตรงกันข้าม เพราะหลายคนมักจะหงุดหงิด หรือไม่ก็สวนกลับไปว่า “ถ้ารู้ก่อนแล้วทำไมไม่บอกล่ะ”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่พูดคำนี้จะต้องการการยอมรับ หรือเป็นคนประเมินตัวเองสูงเสมอไป เรื่องแบบนี้ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น หากคนที่ออกมาเตือนแต่แรกเป็นคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเรื่องที่เตือนมาก ๆ อย่างนักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ ก็อาจทราบผลของการกระทำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่พอไม่มีใครฟังการเตือนเลย เขาอาจพูดได้ว่า “ก็บอกแล้ว” โดยไม่มีใครขัดข้อง
ข้อคิดที่ผมได้จากการอ่านบทดังกล่าวก็คือ “อย่าทำตัวเชี่ยวชาญ หลังทุกอย่างจบแล้ว” ครับ เพราะผมเชื่อว่ามันไม่ได้มีแค่คำว่า “ก็บอกแล้ว” เพียงอย่างเดียวที่ทำให้เรารู้สึกว่าผู้พูดทำตัวเชี่ยวชาญทีหลัง
จริง ๆ แล้วมันอาจมีคำอื่นหรือสถานการณ์อื่น ที่ทำให้รู้สึกว่าผู้พูดกำลังพยายามอวดว่าฉันรู้หมดทุกอย่างตั้งแต่แรก
ยกตัวอย่างเช่น การเล่นหุ้น อาจมีใครสักคนแนะนำหุ้นหลายตัวมาก แล้วก็มีหนึ่งในตัวนั้นราคาขึ้นจริง ๆ คนคนนั้นก็อาจบอกว่า “รู้ตั้งนานละ” ทั้งที่ในความเป็นจริงก็มีอีกหลายตัวที่ทายผิด
หรืออีกกรณีที่เห็นบ่อยคือ คนที่นั่งดูบอลจนจบ แต่ทีมที่ตัวเองเชียร์ดันแพ้ ก็จะวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนเลยครับว่า “จริง ๆ ต้องส่งคนนั้นลงต่างหาก โค้ชไม่ยอมใช้แผนการเล่นนี้ มัวแต่ตั้งรับจนยิงประตูไม่ได้” และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งที่จริงแล้วแม้แต่โค้ชที่ทั้งเก่งและมีประสบการณ์ ก็ยังไม่รู้แน่ชัดเลยครับว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นแบบนี้
แน่นอนครับ ผมไม่ได้บอกว่าห้ามวิจารณ์ ห้ามแสดงความเห็น หรือห้ามพูดอะไรเลย เรายังสามารถพูดได้ทำได้หากมันไม่เดือดร้อนใคร แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวบนโลก เราจะตามใจตัวเองไปหมดทุกอย่างก็คงไม่เหมาะ ดังนั้นก่อนจะพูดอะไรออกไปก็ให้ลองชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสียดูก่อน เพราะหากพูดไปโดยไม่ไตร่ตรอง ผลเสียมันอาจตกอยู่กับตัวคุณเองก็ได้ครับ
ชื่อหนังสือ: จิตวิทยา รู้ใจคนจากคำพูดติดปาก #จิตวิทยารู้ใจคนจากคำพูดติดปาก
ชื่อสำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา