2 ก.พ. 2023 เวลา 07:12 • กีฬา

นักฟุตบอลตรวจร่างกายอะไรบ้าง ก่อนเซ็นสัญญาย้ายทีม ? | Main Stand

หลังตกลงสัญญาส่วนตัวสำเร็จแล้ว ก่อนที่นักเตะหน้าใหม่ของสโมสรจะได้ถ่ายภาพชูเสื้อ จรดปากกาเซ็นสัญญา หรือมีวิดีโอเปิดตัวตามที่ทีมสื่อจะรังสรรค์ขึ้นมานั้น พวกเขาจะต้องปราการด่านสุดท้ายที่สำคัญสุด ... นั่นคือการตรวจร่างกาย
ต่อให้เป็นยอดนักเตะอย่าง ลิโอเนล เมสซี่, คริสเตียนโด้ โรนัลโด้, หรือ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ทุกคนต่างต้องผ่านการตรวจร่างกายจากทีมแพทย์ก่อนที่การย้ายทีมจะดำเนินต่อไปได้
เกิดอะไรขึ้นบ้างในการตรวจร่างกาย และทำไมบางครั้งนักฟุตบอลอาชีพบางรายถึงไม่ผ่านการตรวจร่างกายได้ มาทำความเข้าใจกับกระบวนการดังกล่าวเพิ่มเติมกับ Main Stand
[ตกลงดีลเรียบร้อย]
เมื่อทีมซื้อขายบรรลุข้อตกลงกันได้แล้ว สโมสรมักแจ้งกับทีมแพทย์ถึงนักเตะรายดังกล่าวเพื่อให้มีการเตรียมข้อมูลมารองรับล่วงหน้า ก่อนที่แข้งรายใหม่จะเดินทางมาถึง
แกรี่ เลวิน อดีตนักกายภาพบำบัดของทีมชาติอังกฤษ และสโมสรอาร์เซนอล เปิดเผยกับ The Athletic ว่า "เบื้องต้นแล้ว คุณอยากรู้ว่านักเตะลงเล่นไปกี่นัดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พลาดไปกี่เกม เพราะเจ็บหรือว่าอะไร"
"บางครั้งเราต้องติดต่อกับคนที่เคยทำงานกับนักเตะคนนี้มาก่อน เพราะก่อนที่ทุกอย่างจะถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ทีมแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของนักเตะจากสโมสรต้นทางได้ และบางครั้งเราก็ไม่สามารถไปขอรายละเอียดมาล่วงหน้าจากคนอื่นได้เช่นกัน"
แต่กับบางดีลที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา การรอให้นักเตะเดินทางมาถึงคือเวลาที่ผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์ นั่นทำให้บางสโมสรตัดสินใจ "หิ้ว" ทีมแพทย์เดินทางไปตรวจร่างกายพร้อมกับทีมเจรจาด้วยเลย
แพทย์ของสโมสรแห่งหนึ่งระบุว่า "ไม่มีใครรู้จักผมหรอก ถ้าผมจะบินไปอิตาลีและตรวจร่างกายในศูนย์การแพทย์ที่เมืองนั้น ดังนั้นมันง่ายกว่าถ้าให้ผมบินไปหานักเตะแทนที่เขาจะบินมาตรวจที่สนามซ้อมของเรา"
ทีนี้การตรวจร่างกายของนักเตะระดับพรีเมียร์ลีกหรือลีกชั้นนำของยุโรปอาจใช้เวลานานกว่าค่อนวัน ทั้งจากนักกายภาพของทีม แพทย์สโมสร และอาจรวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ซึ่งมักประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
[ตรวจอะไรบ้าง]
1. ตรวจเลือด - เจาะเลือด ส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องแลป และส่งผลกลับมาที่สโมสร
2. ตรวจหัวใจ - ตรวจ ECG หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจมีหรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ มักตรวจทั้งตอนที่นักเตะอยู่นิ่ง วิ่งบนลู่วิ่ง หรือปั่นจักรยาน และต่อด้วยการทำ Echocardiogram หรือการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูรูปร่าง ขนาดห้องหัวใจ และการทำงานต่าง ๆ ในหัวใจของนักเตะ
3. ตรวจข้อต่อ - ใช้เครื่อง MRI ตรวจข้อต่อต่าง ๆ ผ่านสนามแม่เหล็กและคลื่นความถี่วิทยุเพื่อสร้างภาพความละเอียดสูงของกระดูกและส่วนประกอบในร่างกายนักเตะ มักใช้เวลาราว 90 นาทีเพื่อดูกระดูกสันหลัง เชิงกราน เอ็นร้อยหวาย เข่า และข้อเท้า อย่างละเอียด
4. ตรวจละเอียด - ส่วนนี้มักเกี่ยวกับการเช็คประวัติ เช่น นักเตะที่เคยมีประวัติบาดเจ็บเรื้อรังหรือบาดเจ็บหนักมาก่อนมักได้รับการตรวจมากเป็นพิเศษในบริเวณนั้น ๆ
เลวินเปิดเผยถึงขั้นตอนสมัยที่เจ้าตัวทำงานให้กับอาร์เซนอลว่า "หากเราพบอะไรผิดปกติที่ข้อต่อหรือจุดที่นักเตะเคยได้รับบาดเจ็บมา เราจะพาเขาไปพบกับแพทย์ออร์โธปิดิกส์เพื่อปรึกษาและทราบเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้เล่นรายนี้มีติดตัวมา
และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการซักประวัติจากทีมพทย์ เพราะในบางครั้งก็ยากที่นักเตะจะยอมรับบางสิ่งออกมาเอง เช่น บางคนกินยาแก้อักเสบอย่างต่อเนื่องเพื่อฝืนลงเล่นทั้งที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ หรืออาการแทรกซ้อนส่วนตัวที่ทีมแพทย์สามารถให้ความสำคัญกับการตรวจเฉพาะจุดได้
[ตรวจเพื่ออะไร]
ในเมื่อการตรวจร่างกายมักจบลงด้วยคำว่า "ผ่าน" อยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงนักเตะระดับอาชีพที่ต้องรักษาสภาพร่างกายอยู่ตลอด แถมมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยประกบมาจากสโมสรก่อนหน้า แล้วทำไมการตรวจร่างกายถึงยังสำคัญอยู่ ?
อันที่จริงมันไม่มีคำว่า "ผ่าน" หรือ "ไม่ผ่าน" สำหรับการตรวจร่างกาย นี่คือสิ่งที่แพทย์จากหลายสโมสรเปิดเผยกับสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ "พวกเขาแค่ถูกตรวจสภาพร่างกายเท่านั้น มันเป็นหน้าที่ของสโมสรในการประเมินความเสี่ยงว่าจะยอมทุ่มเงินซื้อนักเตะคนนี้ไหมจากข้อมูลที่ได้รับหลังการตรวจร่างกายจบลง"
เลวิน ระบุว่า "ทีมมักซื้อนักเตะมาก่อนที่จะรู้ถึงสภาพร่างกายของพวกเขา บางครั้งความสำคัญของนักเตะที่มีต่อผู้จัดการทีมหรือต่อตัวสโมสรเองก็ใหญ่กว่าปัญหาที่เราพบในตอนที่ตรวจร่างกาย ดังนั้นมันไม่ได้ง่ายเหมือนแค่ว่านักเตะผ่านหรือไม่ผ่านการตรวจร่างกาย"
แพทย์ของสโมสรชื่อดังอีกรายให้ความเห็นว่า "การตรวจร่างกายเป็นเหมือนการถ่ายภาพ เพราะเราไม่มีกระบวนการตรวจที่ทำนายอนาคตของนักเตะได้ 100% เราทำได้แค่ให้ความเห็นว่าเขาจะเป็นอย่างไรเท่านั้น"
ดังนั้น การตรวจร่างกาย ก็เป็นเหมือนการประเมินความเสี่ยงให้กับสโมสรว่านักเตะรายนี้คุ้มค่ากับการทุ่มเงินซื้อเข้ามาร่วมทีมมากน้อยเพียงใด เขาจะมีโอกาสลงสนามได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะกลายเป็นแข้งขาประจำของศูนย์การแพทย์ของทีมเท่านั้น
แหล่งอ้างอิง:
โฆษณา