2 ก.พ. 2023 เวลา 05:51 • ธุรกิจ

Shoppertainment คืออะไร?

เทรนด์การช้อปปิ้งของคนยุคใหม่ ที่เน้นการ “เอนเตอร์เทนก่อน ค่อยขายของ”
หากพูดถึงแพลตฟอร์มที่มาแรงสุดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น “TikTok” ที่เข้ามาแย่งชิงเวลาของผู้ใช้งานจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Facebook, Instagram หรือ YouTube
ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา TikTok ได้รับการจัดอันดับจาก Apple ว่าเป็น “แอปฟรี” ที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดบน App Store ด้วย โดยปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานทะลุ 1,000 ล้านบัญชีต่อเดือน เลยทีเดียว
คุณรู้หรือไม่ว่า นอกจาก TikTok จะเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นแล้ว เมื่อต้นปีที่แล้ว TikTok ก็ได้เปิดตัว “TikTok Shop” ในประเทศไทย เป็นการรุกเข้าสู่การเป็น Social Commerce ที่ผู้ใช้งานสามารถช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มได้เลย โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ TikTok ใช้ปั้น Social Commerce เพื่อสู้กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็คือ “Shoppertainment”
แล้วกลยุทธ์ Shoppertainment คืออะไร ? และมีโอกาสเติบโตในประเทศไทย ได้ขนาดไหน ? HORISPIRE จะพาคุณมาหาคำตอบกันในบทความนี้!
ก่อนอื่นก็ต้องรู้จัก Shoppertainment กันก่อน Shoppertainment เกิดจาก 2 คำศัพท์รวมกัน ก็คือ Entertainment และ Commerce หรือที่มีความหมายว่า “ความบันเทิง” และ “การค้าขาย” พอ 2 คำศัพท์นี้มารวมกันแล้ว จึงหมายถึง การสร้างยอดขายด้วยการเน้นสร้างความบันเทิงให้กับลูกค้าก่อน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้หรือข้อแนะนำเกี่ยวกับสินค้า
ซึ่งความบันเทิงจะช่วยให้ลูกค้าได้รับสาร (ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า) โดยที่ไม่รู้สึกถึงการยัดเยียดจากแบรนด์มากเกินไป รวมถึงความบันเทิงยังช่วยให้ลูกค้ารู้สึกดีกับแบรนด์ และทำให้เกิดการจดจำแบรนด์อีกด้วย เมื่อสามารถให้ความบันเทิงกับกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว จึงค่อยทำการเสนอขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอช่องทางในการสั่งซื้อ หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสสนับสนุนหรืออุดหนุนสินค้าของแบรนด์มากขึ้น
ดังนั้น จึงสามารถสรุปโมเดลการขายแบบ Shoppertainment ได้สั้น ๆ ว่า
“Entertainment First, Commerce Second” หรือก็คือ เน้นการเอนเตอร์เทนก่อน ค่อยขายทีหลัง นั่นเอง...
ตัวอย่างกรณี TikTok ที่บางแอ็กเคาต์มีการใช้กลยุทธ์ Shoppertainment เช่น
- เน้นการเอนเตอร์เทนก่อน โดยสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเต้น ร้องเพลง หรือโชว์ตลก ๆ เพื่อสร้างยอดผู้เข้าชม และยอด Engagement จากนั้นในช่วงท้าย ๆ วิดีโอ จึงค่อย Tie-in สินค้าแบบเนียน ๆ ด้วยการพูดถึง หรือโชว์สินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ
- โปรโมตสินค้าควบคู่ไปกับการเอนเตอร์เทน นั่นก็คือ พูดถึงคุณประโยชน์ของสินค้า แต่แทนที่จะพูดถึงโต้ง ๆ แบบไม่น่าสนใจ กลับสร้างสรรค์มาในรูปแบบสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ เช่น แต่งเป็นเพลงแร็ป ใส่เพลงหรือดนตรีที่กำลังฮิตเป็นเทรนด์
นอกจาก TikTok ที่มีการใช้กลยุทธ์ Shoppertainment แล้ว ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ก็มีการใช้กลยุทธ์นี้เหมือนกัน เช่น Lazada และ Shopee ที่มีฟีเจอร์ไลฟ์สด ให้ร้านค้าสร้างความสนุกแก่ลูกค้า ควบคู่กับการขายสินค้า
หรืออย่างกรณีของ “บังฮาซัน” พ่อค้าขายอาหารทะเล จากจังหวัดสตูล ที่เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งสร้างไวรัลเพลงฮิตติดหู “จิ้มน้ำจุ้ม และก็จุ้มน้ำจิ้ม” ก็เริ่มต้นจากการไลฟ์สดบน Facebook โดยเน้นการสร้างความสนุกสนานให้กับลูกค้า จนเกิดการสนับสนุนสินค้าในเวลาต่อมา ปัจจุบัน เพจ Facebook ฮาซัน อาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล มีผู้ติดตามถึง 2.1 ล้านคน และสามารถสร้างยอดขายได้หลักล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงพอจะเข้าใจแล้วว่า Shoppertainment คืออะไร คำถามสำคัญต่อมาก็คือ แล้ว Shoppertainment มีโอกาสเติบโตในไทย ได้อีกขนาดไหน ?
เรื่องนี้ TikTok ได้ทำการวิจัยมูลค่าตลาด Shoppertainment ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า
- ปี 2022 มีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16.9 ล้านล้านบาท)
- คาดว่าในปี 2025 มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33.8 ล้านล้านบาท)
หรือเปรียบเทียบได้ว่า ปี 2022 การช้อปปิ้งแบบ Shoppertainment สร้างมูลค่าได้ คิดเป็นเพียง 5% ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียแปซิฟิก แต่ในปี 2025 มูลค่าจะเพิ่มขึ้น จนคิดเป็น 30% ของตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียแปซิฟิกเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจคือ Shoppertainment จะเติบโตได้เป็นอย่างดี ใน 6 ประเทศ
ได้แก่ อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, เวียดนาม และอีกหนึ่งประเทศสุดท้ายก็คือ “ประเทศไทย” ของเรานั่นเอง
ถ้าดูเฉพาะไทยแค่เพียงประเทศเดียว พบว่าในปี 2022 ตลาด Shoppertainment มีมูลค่าอยู่ที่ 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 แสนล้านบาท) และคาดว่าจะเติบโตสู่มูลค่า 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.2 แสนล้านบาท) ภายในปี 2025
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ Shoppertainment เติบโต ทั้งในไทยและเอเชียแปซิฟิก นั่นก็เพราะว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ชอบโฆษณาที่ยัดเยียดสินค้าหรือแบรนด์มากเกินไป ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกเบื่อ และรู้สึกว่าแบรนด์ไม่จริงใจแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคปิดใจกับแบรนด์นั้น ๆ จนเลือกที่จะกดข้ามโฆษณา รวมถึงไม่สนับสนุนสินค้าจากแบรนด์นั้น ๆ อีกด้วย
ดังนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยเปิดใจผู้บริโภค ให้รับรู้และเข้าถึงสินค้าได้ ก็คือ “การเอนเตอร์เทน” ให้ลูกค้าสนุก และรู้สึกดีกับคอนเทนต์ของแบรนด์ก่อน แล้วจึงจะขายสินค้าได้นั่นเอง
ปิดท้ายด้วยสินค้าที่ไปได้ดีกับกลยุทธ์ Shoppertainment
อันดับ 1 สินค้าแฟชั่น อย่างเสื้อผ้าและเครื่องประดับ
อันดับ 2 เครื่องสำอางและสกินแคร์
อันดับ 3 อาหารและเครื่องดื่ม
เห็นแบบนี้แล้ว แบรนด์หรือร้านค้าที่ขายสินค้าเหล่านี้ ก็สามารถนำกลยุทธ์ Shoppertainment ไปประยุกต์ใช้ได้ทันที เราซึ่งเชื่อว่า อย่างน้อย ๆ ก็จะช่วยให้ผู้บริโภครู้จัก และเข้าถึงสินค้า หรือแบรนด์ของเราได้เพิ่มขึ้น ไม่มากก็น้อย...
#Shoppertainment #entertain #Shopping #Custumer #CustumerJourney #จดแล้วปฏิบัติตาม #Marketing #content #Insight #Brand #Promotion #NewNormal #branding #Business #Post #Time #Winner #Survivor #Platform #Online #PainPoint #กลยุทธ์ทางการตลาด #การเปลี่ยนแปลง #สิ่งที่แบรนด์ต้องทำ #SartUp #HORISPIRE
โฆษณา