18 ก.พ. 2023 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์

รู้จักอาชีพ “Reseller” กดสินค้ามาขายต่ออย่างไร ให้ปังเวอร์!

ในปัจจุบันนี้การเลือกซื้อ “สินค้าออนไลน์” ถือเป็นหนึ่งในช่องทางการจับจ่ายที่หลายคนนิยมใช้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่บ้าน จึงจำเป็นต้องสั่งซื้อข้าวของต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งได้กลายเป็นพฤติกรรมการช้อปปิ้งหลักของคนไทยไปแล้ว ด้วยความที่การซื้อของออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ประกอบกับบางครั้งผู้บริโภคต้องการสินค้าที่หายาก สินค้ารอคิวนาน(มีจำนวนจำกัด) และไม่มีขายตามร้านค้าออนไลน์ทั่วไป จึงต้องใช้บริการผ่านตัวกลางที่เรียกว่า “Reseller”
รองเท้าสนีกเกอร์ กระเป๋าแบรนด์เนม หรือ นาฬิกาหรูรุ่นลิมิเต็ด ถือเป็นไอเท็มหลักที่เหล่านักสะสมในสายต่างๆ ต้องหามาครอบครองให้ได้ตามคติ (ของบางคน) ที่ว่า “ของมันต้องมี” แต่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวจะซื้อได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ต้องอาศัยความโชคดีพ่วงเข้ามาด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีจำนวนจำกัด สินค้าบางตัวมีขายแค่ไม่กี่สาขา หรือ สินค้าบางตัวเปิดขายแค่เพียงวันเดียว
1
ดังนั้นสำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางไปยืนต่อแถวก็อาจพลาดโอกาสในการเป็นเจ้าของสินค้าเหล่านั้นไป แต่ช่วงหลังเริ่มมีการนำสินค้าเหล่านี้มาขายต่อ เรียกว่าสินค้า “Resale” โดยคนที่ไปซื้อสินค้าเหล่านั้นมาได้ในช่วงเปิดตัว และนำมาปล่อยขายทำกำไรในฐานะ Reseller
1
🤑 Reseller เป็นใคร แล้วขายอะไรบ้าง?
สำหรับคำจำกัดความของสินค้าที่เหล่า Reseller นิยมนำมาขายนั้นอาจจะระบุเฉพาะเจาะจงโดยละเอียดไม่ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่พวกเขาจะสั่งซื้อหรือไปต่อแถวซื้อสินค้าเกือบทุกประเภทที่คาดว่าจะสามารถนำมาขายต่อเพื่อทำกำไรได้แบบชัวร์ๆ ดังนั้นจะนิยามว่าพวกเขาขายเกือบทุกอย่างเลยก็ว่าได้
อาชีพ Reseller ถือว่ามีรายได้ค่อนข้างมาก หากจับทางถูกว่าสินค้าตัวไหนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และไม่ใช่งานประจำ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เพราะสินค้าบางชิ้นก็วางขายแค่ในเว็บไซต์ไม่ได้ขายหน้าร้าน ขอแค่กดซื้อทันหรือไปต่อแถวซื้อทัน ก็เรียกว่าเท่าทุนแล้ว ดังนั้นจึงมีหลายคนที่ยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก จากที่เมื่อก่อนอาชีพนี้อาจเป็นเพียงอาชีพเสริมของใครหลายคน เพราะสามารถตั้งราคาเองได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้า Resale มีราคาสูงกว่าราคาที่วางขายในครั้งแรก
🤑 มูลค่าสินค้า Resale นั้นสูงแค่ไหน?
ข้อมูลจาก thredUP แพลตฟอร์มกลางสำหรับขายสินค้ามือสอง พบว่ามูลค่าการขายสินค้า Resale ระดับโลกของปี 2018 อยู่ที่ 7.24 แสนล้านบาท ต่อมาในปี 2020 กลายเป็น 1.24 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 143 เลยทีเดียว ตัวอย่างสินค้า Resale ที่เรียกได้ว่ามีมูลค่าสูงเกินเท่าตัวของมูลค่าเดิม ได้แก่
📌 รองเท้าสนีกเกอร์ในตำนาน Nike Air Jordan 1 OG ปี 1985 มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 2,500 บาท แต่ปัจจุบันมีราคา Resale อยู่ที่ 1,675,900 บาท เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 66,936 (เป็นราคาเฉพาะรุ่นที่ผลิตในปี 1985 เท่านั้น)
1
📌 นาฬิกาที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ห้าง(เกือบแตก)มาแล้วอย่าง Omega x Swatch คอลเลคชัน BIOCERAMIC MOONSWATCH ก็มีราคาขายหน้าร้านอยู่แค่ 8,700 บาท เท่านั้น เมื่อเหล่า Reseller นำไปขายต่อราคาที่พุ่งไปถึง 30,000 บาท ในเวลาไม่ถึงเดือน
3
📌 รองเท้า Converse X J.W. Anderson ที่มีราคาวางจำหน่ายครั้งแรกแค่เพียง 2,600 บาท แต่ตอนนี้กลับเป็นสินค้า Resale ที่ขายกันอยู่ในราคาประมาณ 7,600-8,000 บาท
1
🤑 เมื่อสินค้ามีจำนวนจำกัด ความโกลาหลจึงเกิดขึ้น แต่ Reseller ได้กำไรเต็มๆ
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้บรรดาคอเกมส์หลายคนผิดหวัง คงหนีไม่พ้นการกดซื้อ PS5 หรือ Sony Play Station 5 ที่เปิดขายผ่านเว็บไซต์ ในราคาปกติเพียงแค่ 16,990 บาท แต่เมื่อถึงเวลาขายจริงสินค้ากลับหมดเกลี้ยงในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และหลังจากนั้นไม่นาน Reseller ก็นำออกมาขายในราคาประมาณ 28,000-32,000 บาท ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ราคาก็พุ่งไปถึงหลักแสน
นอกจากนี้ร้านค้าบางร้านใช้วิธีเปิดขายแบบ First come First Serve หรือ ใครมาก่อนได้ก่อน ทำให้หลายครั้งเกิดความโกลาหลตามมา เพราะทันทีที่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่ขายสินค้าหายากชนิดนั้นๆ เปิดให้บริการ ภาพที่มักจะเห็นกันก็คือ ผู้คนที่มานั่งรอนอนรอหลายชั่วโมงต่างก็รีบวิ่งกรูเข้าไปทันทีเพื่อให้ตัวเองได้สิทธิ์ซื้อสินค้า
และจากความโกลาหลนี้ทำให้บางร้านถึงกับต้องยกเลิกการขาย เช่น นาฬิกา Omega x Swatch คอลเลคชั่น BIOCERAMIC MOONSWATCH ที่ให้สิทธิ์ผู้ซื้อ 1 คน ต่อ 1 เรือน ตอนวางขายที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ทำให้เกิดเหตุชุลมุนผู้คนพยายามวิ่งเข้าไปในร้านทั้ง 3 สาขา ได้แก่ สยามพารากอน ไอคอนสยาม และ เซ็นทรัลเวิลด์ จนต้องยกเลิกการขายชั่วคราว แม้แต่ในญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอังกฤษ นาฬิการุ่นนี้ก็ได้รับความนิยมมากจนมีคนเป็นลมระหว่างต่อคิว
1
ไม่ใช่แค่เพียงในวงการแฟชั่นหรือวงการเกมส์เท่านั้น แต่ Reseller ยังลามไปถึงวงการกดบัตรคอนเสิร์ต เพราะหลายครั้งที่มีศิลปินมาแสดงที่ไทยแต่บัตรกลับหมดไวในไม่กี่ชั่วโมง และหลังจากนั้นไม่นานก็จะมีคนนำบัตรคอนเสิร์ตดังกล่าว มาปล่อยขายต่อในราคาสูง
โฆษณา