6 ก.พ. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

ไม่มีใครดูแลสุขภาพจิตเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง

หากคุณเผลอตามใจปากตัวเองสัก 1 สัปดาห์ กินทั้งของมัน ของทอด โดนัท และน้ำตาลสารพัดประเภท คุณจะเริ่มรู้ตัวเองได้ทันทีที่ส่องกระจกในตอนเช้า หรือไม่ก็ลองชั่งน้ำหนัก จากนั้นคุณก็มีแนวโน้มจะหยุดกินของอ้วน ๆ ไปสักระยะ ก่อนที่สุขภาพของคุณจะพัง
กลับกัน หากคุณทำงานหนักมาก และเผชิญกับเรื่องเครียดมา 1 สัปดาห์เต็ม คุณอาจไม่รู้ตัวเลยว่ามันกำลังส่งผลกระทบอะไรกับคุณ เพราะคุณมีแนวโน้มจะคิดว่าความเครียดคงเป็นเรื่องปกติของการทำงาน กว่าจะรู้ตัวอีกที ความเครียดและความ Toxic ที่เจอก็ทำให้คุณเป็นซึมเศร้าไปเสียแล้ว
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่แม้จะพูดกันเยอะขึ้นในระยะหลัง แต่ก็ยังห่างไกลกับคำว่าชัดเจนมากครับ ในหนังสือ “Reason to Stay Alive” เขียนโดย Matt Haig นักเขียนชื่อดังที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า และแพนิคอย่างรุนแรงมาก่อน ก็พูดถึงโรคซึมเศร้าในทำนองนี้เช่นกัน
Matt บอกว่าสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้านั้นรับรู้ได้ยาก เพราะคำว่า “ซึมเศร้า” มันดันไปพ้องความหมายกับคำว่า “เศร้า” เฉย ๆ หลายคนก็เลยสับสนว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ก็แค่เศร้า แล้วก็ละเลยสุขภาพจิตของตัวเองไป ทั้งที่จริง ๆ มันต่างกันมาก
เหมือนคำว่า “หิวโหย” กับ “หิว” ที่แม้จะดูคล้ายกัน แต่ความหมายมันแตกต่างกันมาก เช่น เวลานักการเมืองพูดในสภาว่า “คุณไม่เห็นเหรอว่าชาวบ้านกำลังหิวโหย” ประโยคนี้อาจไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านกำลังหิวอยู่ ณ ตอนนั้นจริง ๆ
แต่มันหมายความว่าชาวบ้านกำลังลำบาก ยากจน และอาหารที่พวกเขากินในแต่ละวันก็มีแค่ไข่ต้มกับข้าวเหนียวเท่านั้น
ความสับสนนี้เองที่ทำให้คนเป็นซึมเศร้าในระยะแรก ๆ มักไม่ค่อยรู้ตัว เพราะหลายครั้งความรู้สึกแย่มันก็ไร้ที่มา หรือเวลารู้สึกไร้ค่าก็มีแนวโน้มจะคิดว่า “ฉันรู้สึกไร้ค่า เพราะฉันไร้ค่าสินะ” ทั้งที่จริงแล้วความรู้สึกไร้ค่ามันเป็นเพียงอาการของโรคเท่านั้น แต่คุณไม่รู้ว่าคุณเป็น ก็เลยโทษตัวเองซ้ำอีก
Matt บอกว่าหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าโรคซึมเศร้ากำลังมารบกวนคุณก็คือ ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาแต่กลับไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน (ซึ่งหลายคนชอบทำเป็นเรื่องตลกว่า “แกแค่ขี้เกียจน่ะ” แต่มันไม่ตลกเลย)
คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองจะสังเกตยากเป็นพิเศษ เพราะคนเหล่านี้อาจไม่สะดวกใจจะพูดความรู้สึกตัวเองออกมา พอมั่นใจในตัวเองน้อย ก็ไม่อยากออกไปพบใคร แล้วก็เริ่มเคลื่อนไหวช้าลง คิดช้าลง หงุดหงิดง่าย พูดน้อยลง อาจเพราะคิดว่าพูดไปก็ไม่มีใครอยากฟัง (ซึ่งผมเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น)
ดังนั้นถ้าคุณสังเกตว่าตัวเอง หรือคนรู้จักมีอาการดังกล่าว ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจจะโดนโรคซึมเศร้าเล่นงานเข้าแล้วครับ
ผมคิดว่ากุญแจสำคัญของเนื้อหาดังกล่าวก็คือ “ไม่มีใครดูแลสุขภาพจิตของเรา ได้ดีเท่ากับตัวเราเองอีกแล้วครับ”
แน่นอนว่าจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาอาจมีความรู้มากกว่า รวมถึงช่วยรักษาเราได้ แต่คนที่ตัดสินใจจะไปปรึกษาจิตแพทย์ ก็มักจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้น
ดังนั้น ผมอยากแนะนำให้เราทำความเข้าใจกับตัวเองครับว่า สถานการณ์แบบไหนที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เศร้า เสียใจ วิตกกังวล แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้นเสีย
หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เพื่อนร่วมงานชอบพูดจาให้คุณไม่พอใจ แม้คุณจะควบคุมคำพูดจากปากเขาไม่ได้ แต่สามารถหาวิธีจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ บางทีมันอาจเป็นงานอดิเรก การฝึกจัดการความโกรธ ออกกำลังกาย การมองโลกในแง่ดี หรืออะไรก็ตามที่ได้ผลดีสำหรับคุณ
เพราะถึงแม้ปัญหาสุขภาพจิตจะมีสัญญาณที่ไม่ชัดเจนนัก แต่ผมเชื่อว่าหากเราฝึกสังเกต และเข้าใจตัวเอง ก็จะสามารถลดโอกาสเป็นได้ครับ
ชื่อหนังสือ: Reason to Stay Alive #reasontostayalive
ชื่อสำนักพิมพ์: Bookscape
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา