6 ก.พ. 2023 เวลา 07:36 • ข่าวรอบโลก

จากกองถ่ายสู่สถานีโทรทัศน์ เมื่อคนทำงานต้องล้มหายตายจากเพราะการทำงาน

ถ้าหากเรามีโอกาสสอดส่องเบื้องหลังของการผลิตรายการโทรทัศน์ หรือผลิตเนื้อหา จะพบว่าคนเบื้องหลังเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการทำงานเพื่อให้งานออกมาดี แต่สิ่งที่เราพบจากการทำงานก็คือเรื่อง “สวัสดิการ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน แต่ที่ผ่านมาเรามักจะพบปัญหาสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเลี้ยงดู หรือการมอบวันลา วันพักผ่อนต่างๆ ทั้งจากคนทำงานประจำหรือฟรีแลนซ์ก็ตาม
ส่องสื่อขอหยิบบทสัมภาษณ์บางส่วนจาก The Modernist กรณีการก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ หรือ CUT (Creative Workers Union Thailand) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จับประเด็นคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ซึ่งเราได้ ไนล์-เกศนคร พจนวรพงษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยกัน ซึ่งไนล์ได้ให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ว่า
“คนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาที่จะสูญเสียอาชีพ อย่างเราเป็นนักวาด เราก็จะพบว่าเราไม่สามารถเป็นนักวาดเพียงอย่างเดียวได้ เพราะพื้นที่ในอุตสาหกรรมนี้ในไทยมันน้อย ค่าตอบแทนก็น้อย ทำให้บางคนต้องรับอาชีพอื่นควบไปด้วย เช่น ต้องเป็นพนักงานออฟฟิศถึงจะได้วาดรูป ไม่สามารถวาดรูปเพียงอย่างเดียวได้ อาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จึงสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียอาชีพอยู่ตลอดเวลา
นอกจากความไม่มั่นคงในชีวิต และ โอกาสในการเข้าถึงอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ อีกอย่างหนึ่งที่แรงงานสร้างสรรค์ต้องเจอคือการถูกเอารัฐเอาเปรียบจากกฎหมาย อย่างพวกสัญญาจ้าง พอเราได้ลงมาทำงานตรงนี้ก็พบว่า คนที่มีสัญญาจ้างมีน้อยมาก เพราะด้วยระบบฟรีแลนซ์ที่บางทีก็มีการจ้างซึ่งไม่ได้มาจากบริษัทใหญ่ๆ แต่ก็เป็นคนตัวเล็กที่บางทีเขาก็ไม่ได้คำนึงถึงสัญญาจ้าง พอไม่มีสัญญาจ้าง เมื่อเกิดอะไรขึ้นมา ก็จะควบคุมอะไรไม่ได้เลย”
นอกจากนี้ ไนล์ยังกล่าวต่อถึงปัญหาของกองถ่ายไทยกับต่างประเทศว่า “มาตรฐานในการทำงานกับต่างประเทศดีมาก ถ้าเขาจะมาจ้างเรา ยกตัวอย่างเช่น Netflix นะ เวลาเข้ามาจ้างเฮ้าส์ในไทย เขาจะมีมาตรฐานเป็นเล่มคู่มือมาเลย และจะมาบังคับว่าเวลาทำงานต้องกี่ชั่วโมง มีการควบคุมเรื่องความปลอดภัย มีการตรวจจากทางภาครัฐด้วยว่ากองเป็นไปตามาตรฐานไหม แต่ในขณะที่กองของไทยจะไม่มีตรงนี้ พูดตรงๆ คือกองต่างประเทศ แรงงานจะได้เปรียบ”
ส่องสื่อมองว่า ปัญหาสำคัญของการทำงานสถานีโทรทัศน์ คือการตัดสวัสดิการ เช่น ค่าจ้างล่วงเวลา เนื่องจากมีการประหยัดงบ และงานโทรทัศน์เป็นงานที่ต้องใช้งานทันที รวมถึงการทำงานในวันหยุดของตนเอง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีต้นตอมาจากการอยากประหยัดงบ แต่ขาดซึ่งความเข้าใจของคนทำงานและการดูแลพนักงานที่เหมาะสม
และปัญหาเห่านี้จะหมดไปได้จริงๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่ต้องเลือกคนเข้าใจองค์กรและเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง และถ้าหากผู้บริหารเข้าใจพนักงานมากพอ จัดสวัสดิการที่เหมาะสม และให้พื้นที่กับพนักงานอย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป
เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
คิดถึงเรื่องสื่อ เปิด #ส่องสื่อ
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co
ติดต่อโฆษณา opinionmediathai@gmail.com
โฆษณา