7 ก.พ. 2023 เวลา 13:57 • การศึกษา

การศึกษาไทยในสมัยโบราณ

ไทยมีรกรากภูมิลำเนาเดิมอยู่ทางตอนกลางของประเทศจีนเมื่อประมาณ 3 - 4 พันปีมาแล้ว  หากินในทางเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารตามลุ่มแม่น้ำฮวงโห  และแยงซีเกียง  แถบมณฑลกันซูและมณฑลเกียงสีทุกวันนี้  เป็นชาติที่มีความเป็นอยู่เป็นปึกแผ่นมั่นคงพอสมควร  นักมานุษยวิทยาจัดเอาคนไทยไปไว้ในเผ่ามองโกล  มีภาษาพูดเป็นของตนเองโดยเฉพาะ  ภาษาที่ใช้เป็นคำโดดคือเป็นคำพยางค์เดียวโดด ๆ เป็นภาษาสำเร็จรูปเปล่งออกมาก็ได้ความทีเดียว  เช่น  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ดิน  น้ำ เป็นต้น
มีนิสัยโอบอ้อมอารีและรักความเป็นอิสระมาตั้งแต่ไหนแต่ไร  
      ต่อมาภายหลังจากที่ไทยตั้งหลักฐานราว 1,000 ปี ชนชาติจีนก็อพยพตามเข้ามาอยู่ด้วย  จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมค่อนข้างสูงกว่า  มีความขยันขันแข็ง  ทรหดอดทนเป็นลักษณะประจำชาติ  เมื่อเข้ามาอยู่ในบริเวณเดียวกันนานเข้า  เรารู้สึกว่าถูกจีนเบียดเบียนแย่งการทำมาหากินตามปกติบ้าง  ขณะใดที่จีนเข้มแข็งก็รุกรานเอาด้วยกำลังบ้าง  สู้ไม่ได้ทั้งในยามสงบและยามสงคราม  จึงต้องขยับขยายเคลื่อนย้ายจากถิ่นเดิมถอยลงมาอยู่แถวตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน
แถบมณฑลเสฉวน ฮูเป  ฮูนาน  อันฮุย  และกวางสี  การที่อยู่ใกล้เคียงกันมาช้านาน   ทำให้ไทยได้รับวัฒนธรรมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของจีนเข้ามาโดยไม่รู้ตัว  แม้แต่ภาษาพูดบางคำ  เช่น  การนับจำนวนก็รับเอามาใช้  ตลอดจนการเขียนก็ใช้อักษรจีนมาจนกระทั่งสมัยที่เราอพยพลงมาอยู่ที่น่านเจ้า  ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10 – 17
ในด้านศาสนา  คงเป็นไปเช่นเดียวกับชนชาติโบราณทั่วไป  คือเชื่อผีถือผีสาง เคารพนับถือบรรพบุรุษเคารพคนสูงอายุ  จนกระทั่งสมัยที่พุทธศาสนาแบบมหายานแพร่เข้าสู่ประเทศจีนเราก็พลอยรับนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานไว้ด้วยอย่างลางเลือน
     ในขณะที่น่านเจ้ายังดำรงความเป็นใหญ่อยู่  แม้จะเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์  แต่การอพยพไปหาแหล่งที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่ทำมาหากินแห่งอื่น ๆ  ก็คงกระทำอยู่เรื่อย ๆ  มากบ้างน้อยบ้างตลอดเวลา  บางพวกไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่ลุ่มแม่น้ำเมา
อันเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำอิระวดีไปจนกระทั่งติดประเทศอินเดีย  บางพวกไปทางลุ่มแม่น้ำโขง  และบางพวกเลยจากลุ่มแม่น้ำโขงลงสู่แควของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่บริเวณประเทศไทยและเรื่อยลงมาตามคาบสมุทรมลายา  ที่ใดมีเจ้าของ  ไทยก็ยอมอยู่ใต้อำนาจ  ที่ใดไม่มีเจ้าของก็ตั้งกลุ่มอยู่เป็นอิสระ  เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ
ในบริเวณแหลมทองหรือสุวรรณภูมินี้มีคนเผ่านิกริโตเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม  ได้แก่พวกเงาะ  พวกซาไก  เป็นต้น  ภายหลังมีพวกมลายูโบราณจากหมู่เกาะต่าง ๆ  เข้าผสมปนเปอยู่ทางปลายคาบสมุทร  มีพวกแม้ว  เย้า ข่า  กะเหรี่ยง  ละว้า  อยู่ทางภาคกลางและภาคเหนือ  ซึ่งนับว่าเป็นพวกที่มีอารยธรรมสูงกว่าพวกนิกริโต  แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่นั่นเอง
ต่อมาภายหลัง  เมื่อมีพวกอารยันบางพวก  อพยพจากทะเลสาบแคสเปียนข้ามช่องไกเบอร์พาสเข้าไปในตอนเหนืออินเดีย  คนพื้นเมืองเดิมบางพวกถูกเบียดเบียน ก็ค่อย ๆ  ถอยลงมาทางทิศตะวันออกเข้ามาในแคว้นสุวรรณภูมิ  พวกนี้ได้แก่พวกขอมและพวกมอญ   พวกขอมเข้ามาตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยไปทางตะวันออก
ส่วนมอญอยู่ทางทิศตะวันตกพวกนี้มีระดับอารยธรรมสูงกว่าพวกคนพื้นเมืองเดิมในสุวรรณภูมิ  จึงแผ่อำนาจครอบคลุมไปทั่วบริเวณดังกล่าว  ยิ่งกว่านั้นเมื่อราวตอนต้นพุทธกาล  ยังมีพวกอารยันทางฝั่งตะวันออกของอินเดียเดินเรือมาติดต่อค้าขายทางแถบสุวรรณภูมิ  นำเอาอารยธรรมที่สูงกว่าเข้ามาและมีอิทธิพลเหนือพวกขอมอีกด้วย  พวกอารยันฮินดูเหล่านี้นำเอาศาสนาพราหมณ์และภาษาสันสกฤตเข้ามาเผยแพร่แก่พวกขอม  ทำให้มีความเจริญสูงขึ้น
มีการปกครองเป็นระเบียบเรียบร้อยตามแบบวิถีของพวกอินเดียในสมัยนั้น  จนตั้งตัวเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 - 10
(ปล.เรื่องความเป็นมาของชนชาติไทยมีการศึกษาค้นคว้ากันมาและนำเสนอไว้ในระยะหลังหลายกระแส  ดังนั้นจึงควรศึกษาและใช้ดุลยพินิจด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์)
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร. ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
อนึ่ง อ.พงศ์อินทร์ ศุขขจร เคยเป็น ผอ.กองใน ศธ. เป็นอาจารย์ใหญ่วิทยาลัยครูจันทรเกษมและเป็นกรรมการเขียนหนังสือประวัติครูของคุรุสภาด้วย
อ.จรูญ มิลินทร์(ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปีที่แล้ว) มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมเพื่อให้ผมเผยแพร่ ผมเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์มาก คนรุ่นหลังน้อยคนจะได้อ่าน และคงไม่มีใครเขียนได้เช่นนี้อีก ผมจึงนำมาประมวล ตัดต่อและสรุปเผยแพร่เป็นทานทางปัญญาครับ
โฆษณา