9 ก.พ. 2023 เวลา 02:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รถไฟความเร็วสูง เดินหน้าเสียที

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี
รัฐบาลลุงตู่เซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทเอเซียเอราวัณของเจ้าสัวซีพี ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562
เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ “นายกฯลุงตู่” มุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล
แต่ปรากฏว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงล่าช้ายิ่งกว่าเต่าคลาน
จนป่านนี้ยังไม่ได้เริ่มตอกเสาเข็มซักโป๊กเดียว!!
สาเหตุที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยักลึกติดกักกว่า 3 ปี เพราะกลุ่มซีพีต้องการแก้ไขสัญญาที่เซ็นไว้กับรัฐบาล
แถมเป็นการแก้ไขสัญญาที่ทำให้ฝ่ายเอกชนได้ประโยชน์เต็มประตู ซึ่งการแก้ไขสัญญาย้อนหลังทำให้ฝ่ายเอกชนได้ประโยชน์และภาครัฐเสียประโยชน์ เป็นดาบสองคม
ยิ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่มีเอกชนหลายกลุ่มยื่นประมูลแข่งขันกัน การยินยอมให้แก้ไขสัญญาภายหลังจึงหมิ่นเหม่อย่างแรง!!
แต่ในที่สุด หลังจากเล่นเกมวัดใจ กันมา 2 ปี รัฐบาล “นายกฯลุงตู่” ก็ยอมเปิดไฟเขียวให้แก้ไขสัญญา 4 ประเด็น
เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เดินหน้าต่อไปได้อย่างสะดวกโยธิน
วันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ซึ่ง นายกฯลุงตู่ เป็นประธาน จะมีมติเห็นชอบเงื่อนไขแก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ตามข้อเสนอของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี
สรุปย่อๆ จะมีการแก้ไขสัญญาย้อนหลังดังนี้คือ...
ประเด็นแรก ในสัญญาที่กำหนด เงื่อนไขให้ฝ่ายเอกชนต้องจ่ายค่าเทกโอเวอร์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นเงิน 10,671 ล้านบาททันที
แต่จะมีการแก้ไขสัญญาใหม่ ให้กลุ่มซีพีผ่อนจ่ายปีละ 1 พันล้านบาท จนครบ 10,671 ล้านบาท ภายในเวลา 7 ปี
ประเด็นที่ 2, ตามสัญญากำหนดว่า ช่วง 5 ปีแรก ฝ่ายเอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง เมื่อถึงปีที่ 6 รัฐบาลจะร่วมลงขันปีละ 14,000 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี
แต่ในสัญญาที่แก้ไขใหม่ รัฐบาลยอมจ่ายเงินร่วมทุนตั้งแต่ปีที่ 2 เร็วกว่าสัญญาเดิม 4 ปี และจะเร่งจ่ายสมทบให้ครบ 133,475 ล้านบาท ภายใน 7 ปี เร็วขึ้นอีก 3 ปี
ประเด็นที่ 3, ตามสัญญาเดิม กลุ่มซีพีจะจ่ายผลประโยชน์จากรายได้รถไฟความเร็วสูงให้รัฐบาล 5.52 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่สัญญาใหม่รัฐบาลยอมแก้ไขให้กลุ่มซีพีจ่ายค่าตอบแทนโครงการเหลือ 5.24 เปอร์เซ็นต์
สรุป การแก้ไขสัญญาจะทำให้กลุ่มซีพีประหยัดต้นทุนได้ถึง 24,000 ล้านบาท แถมจ่ายผลตอบแทนให้รัฐน้อยกว่าเดิมอีก 0.28 เปอร์เซ็นต์ ฟันกำไรสะดือบานตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี
ที่มาบางส่วน : ไทยรัฐ ออนไลน์
#แชร์กับชัยวัฒน์
โฆษณา