13 ก.พ. 2023 เวลา 08:11 • กีฬา

#MainStand : น้ำยากิ้งกือ แหล่งโปรตีน “เปิปพิสดาร” ฉบับชาวอีสานในอดีต

แม้เมนูอาหารจะมีมากมายหลายเหลือคณานับ ทั้งแบบดั้งเดิมที่รับประทานกันมาตั้งแต่อดีตหรือสูตรอาหารใหม่ ๆ ที่คิดค้นขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่โดยส่วนมากในแทบทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะมีกรรมวิธี ส่วนประกอบ หรือเครื่องปรุงที่แปลกขนาดไหน เนื้อสัตว์หรือแหล่งโปรตีนที่ใช้มักไม่พ้นไปจาก หมู เป็ด ไก่ ไข่ ปลา และถั่วชนิดต่าง ๆ หรือสมัยนี้อาจเป็นโปรตีนเกษตร เนื้อสังเคราะห์ และสแปม (SPAM) ก็ย่อมได้
กระนั้นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือเมนูประเภท “เปิปพิสดาร” ซึ่งนิยมใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เช่น ม้า งู แย้ ลิง หนูนา ปลาดาว หรือบรรดาแมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งที่หลายคนชอบอาจเพราะความท้าทายและความแปลกใหม่ แต่หลายคนก็สะอิดสะเอียนจนอยากอาเจียน หรือกระทั่งวิจารณ์ไปว่า พวกนี้ผิดมนุษย์ ของดี ๆ มีไม่กิน ไปสรรหาอะไรก็ไม่รู้มายัดเข้าปาก
แต่นั่นเป็นชุดวิธีคิดแบบในปัจจุบัน เพราะในอดีตการกินสัตว์เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติและทำอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในแถบภาคอีสานที่เต็มไปด้วยเมนูที่หากยัดความคิดแบบปัจจุบันเข้าไปมองอาจต้องอุทานว่า “คุณจะกินนี่เสียสติไปแล้วหรือ” ได้มีสิ่งหนึ่งที่เป็นวัตถุดิบลับที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถยัดเข้าปากไปได้อย่างเอร็ดอร่อย สิ่งนั้นคือ แหล่งโปรตีนที่มาจาก “กิ้งกือ (Millipede)”
โดยอสูรพันขาที่เป็นสัตว์เลื้อยคลานสุดขนพองสยองเกล้า ขนาดที่สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนังหากสัมผัสโดนผิว ถือว่าเป็นสิ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยคนอีสานนิยมนำกิ้งกือมาทำ “น้ำยาบ้ง” สำหรับรับประทานกับ “ข้าวปุ้น” หรือ “ขนมจีน” (ภาษาอีสานเรียกกิ้งกือว่า บักบ้ง หรือ บักบ้งกือ)
ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญปรากฏอยู่ในหนังสือ เล่าเรื่องไทย ๆ เล่ม 3 เขียนโดย เทพชู ทับทอง จัดพิมพ์เมื่อปี 2536 ความว่า
“เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะบริเวณดงพญาเย็น ซึ่งเป็นแหล่งที่กิ้งกือชุม มักจับกิ้งกือไปทำน้ำยากินกันประจำ เรื่องน้ำยานี้ นายทองปาน บุญแดง อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ที่ 8 บ้านดอนโม่ง ต.บ้านกง อ.หนองเสือ จ.ขอนแก่น ได้ไปสอบถามการทำน้ำยากิ้งกือจากหลวงพ่อซึ่งเป็นบิดา และลุง ได้ความว่า เมื่อก่อนจังหวัดอุดรธานีและหนองคายก็มีการจับกิ้งกือมาทำน้ำยาเช่นกัน”
1
โดยในเนื้อความซ้อนเนื้อความนั้น นายปาน บุญแดง เล่าว่า
“ครั้งหนึ่งตอนที่ท่านยังหนุ่มอยู่ประมาณปี 2475 ท่านไปเป็นกรรมกรที่หนองคาย และรู้จักกับนายอำเภอเมืองในปีนั้น ชื่อคุณพระบริบาร ซึ่งท่านนายอำเภอท่านนี้ชอบรับประทานขนมจีนน้ำยากิ้งกือมาก ท่านมักใช้ให้คุณพ่อผมไปซื้อขนมจีนน้ำยากิ้งกือทุก ๆ วันอาทิตย์ ทางอุดรธานี หนองคาย เรียกกิ้งกือว่า “บ้ง” เวลาท่านบอกให้คุณพ่อว่า นี่นายมีไปซื้อขนมจีนมาทานหน่อย ซื้อน้ำยาบ้งนะ น้ำยาอื่นอย่าได้ซื้อมา”
สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า สัตว์ที่หลายท่านขยะแขยง ไม่กล้าแม้แต่จะเข้าใกล้อย่างกิ้งกือนั้น เมื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำน้ำยาขนมจีนกลับรับประทานได้ รวมถึงมีรสชาติอร่อยเสียด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เมนูน้ำยาบ้ง หรือ น้ำยากิ้งกือ ยังปรากฏอยู่ใน “นิราศพระบาท” ของสุนทรภู่ ที่แสดงให้เห็นได้ว่าสมัยก่อนมีการขายขนมจีนน้ำยากิ้งกือไม่เฉพาะในอีสาน แต่ยังแพร่หลายมาจนถึงจังหวัดในภาคกลางใกล้เคียง
นั่นคือที่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี เรื่อยมาจนถึงบริเวณรอบนอกของบางกอก เพียงแต่ไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนจากเมืองหลวง โดยความที่กล่าวถึงน้ำยากิ้งกือปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องเมื่อครั้งพายเรืองถึงตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ความว่า
“ ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น ไม่ว่างเว้นสัปปุรุษเขาหยุดเรียง
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว
แต่น้ำยานั้นเขาว่ากิ้งกือกุ้ง เห็นชาวกรุงกินกลุ้มทั้งหนุ่มสาว
พี่คลื่นไส้ไสช้างให้ย่างยาว มาตามราวมรคาพนาวัน
ลมกระพือฮือหอบผงคลีหวน ปักษาครวญเพรียกพฤกษ์ในไพรสัณฑ์
ดุเหว่าแว่วแจ้วจับน้ำใจครัน ไก่เถื่อนขันขานเขาชวาคูฯ”
1
แต่ภายหลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการมายังกระทรวงสาธารณะสุขให้ดำเนินการออกแถลงการกะทรวงการสาธารณสุข เรื่องผลร้ายของการบริโภคสัตว์ แมลง และอาหารบางชนิด ราวพุทธทศวรรษที่ 2480 เพื่อห้ามไม่ให้ประชาชนกินอาหารประเภท “อุตริ” เช่น งู คางคก อึ่งอ่าง ตะขาบ กิ้งกือ ตัวแก้ว หรือบรรดาอาหารไม่สุก ประเภทลาบเลือด ลู่ หรือจิ้นเนื้อ ทำให้การทำน้ำยากิ้งกือต้องอันตรธานหายไป
ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นความน่าเสียดายได้หรือไม่ ที่คนในตอนนี้ไม่ได้มีโอกาสลิ้มรสชาติของกิ้งกือในรูปแบบน้ำยา หรืออาจเป็นความโชคดีที่เราได้สุขอนามัยที่ดีในการบริโภคเนื้อสัตว์แบบที่สากลโลกพึงกระทำ แต่สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากประเด็นนี้ประการหนึ่ง นั่นคือบางทีคนเราในบางเรื่องมักคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าคืออะไร คือมีธงในใจก่อนหน้านั้นในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ
อย่างการพิจารณากิ้งกือ คือออกแนวขยะแขยงไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่จริง ๆ เมื่อครั้งอดีตผู้คนกลับไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น คือไม่มี Sense ของความรังเกียจ ผะอืดผะอม หรือเกลียดกลัวแต่อย่างใด
หากลองพิจารณาในมุมกลับกัน หากแถลงการณ์บอกว่า หมู เป็ด ไก่ ไข่ ปลา และถั่ว คืออาหารอุตริ ก็อาจจะมีความสนุกสนานไม่น้อยในการจินตนาการถึงภูมิทรรศน์ของอาหารในไทยไม่น้อยเลยทีเดียว
จากสิ่งนี้เองก็นับว่าตัวแสดงที่ชื่อว่า “รัฐ” มีส่วนต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทรรศน์ของปัจเจกไม่มากก็น้อย
ที่มา
วิทยานิพนธ์ การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487
โฆษณา