13 ก.พ. 2023 เวลา 09:24 • ธุรกิจ

เจาะแผน ‘4บิ๊กกงสี’ เติบโตยั่งยืน ทายาทรับไม้ต่อหนุนธุรกิจผงาดเวทีโลก

ผ่า 4 อาณาจักรใหญ่ "ซีพี-ไทยเบฟฯ-บุญรอดฯ-เซ็นทรัล" ธุรกิจครอบครัวส่งไม้ต่อ ‘ทายาท’ วางขุมกำลังสร้างการเติบโต มั่งคั่ง ยั่งยืน รับโลกอนาคต พร้อมลุยตลาดโลก
'ซีพี' ยึดแนวทางขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมาตลอด 100 ปี
‘เซ็นทรัล’ เจนเนอเรชันที่ 3 สยายปีกออกไปต่างประเทศ
'บุญรอดบริวเวอรี่' ผลัดใบ คนรุ่นใหม่ขึ้นกุมบังเหียนธุรกิจ
'ไทยเบฟ' รักษาตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอาเซียน
“ธุรกิจครอบครัว” หรือ กงสี ในประเทศไทย มีอยู่หลายกลุ่ม หากจะโฟกัสกลุ่มใหญ่ที่มีส่วนสำคัญสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไทยสะพัดมหาศาลช่วงที่ผ่านมา หนีไม่พ้น 4 บิ๊กคอร์ป ได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มบุญรอดฯ และกลุ่มเซ็นทรัล
ทั้งหมดนี้ครองส่วนแบ่งธุรกิจในไทยไม่น้อย และเป็นผู้เล่นหลักที่ทุกการขยับตัวมักสร้างปรากฎการณ์สำคัญเสมอ
เริ่มจาก "เครือเจริญโภคภัณฑ์" หรือ "ซีพี" เมื่อ ปี 2562 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเครือซีพี เมื่อเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ลงจากตำแหน่งประธานกรรมการในธุรกิจเรือธงซีพี และขยับทายาทรุ่น 3 ขึ้นมามีบทบาทสำคัญขับเคลื่อน
โดยการตั้ง “สุภกิต เจียรวนนท์” ลูกชายคนโต ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหารที่เป็นธุรกิจหลักของซีพี พร้อมกับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านั้น “สุภกิต” มีบทบาทหลักในการดูแลธุรกิจในจีนของซีพี
ขณะที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ลูกชายคนเล็ก ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจโทรคมนาคมของซีพีมาตั้งแต่ต้น ได้ขยับขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และปัจจุบัน “ศุภชัย” ยังนั่งเป็นประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี สร้างการขับเคลื่อนที่สำคัญให้กลุ่มซีพีอย่างก้าวกระโดด
การลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการซีพีเอฟและทรู คอร์ปอเรชั่น ของเจ้าสัวธนินท์จึงเป็นการปรับทัพครั้งใหญ่ก่อนที่ซีพีอายุครบ 100 ปี เมื่อปี 2564
ธุรกิจเรือธงอย่าง “ซีพีเอฟ” เป็นธุรกิจที่เจ้าสัวธนินท์ต่อยอดมาจากธุรกิจเมล็ดพันธ์พืชและอาหารสัตว์ที่ “เจี่ย เอ็กชอ” บิดา และ “ชนม์เจริญ เจียรวนนท์” อา ได้สร้างธุรกิจขึ้นมา โดยเจ้าสัวธนินท์ที่เป็นรุ่น 2 ของตระกูลได้นำเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่จากสหรัฐมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งนำมาสู่การร่วมทุนกับกลุ่มอาร์เบอร์ เอเคอร์ส จากสหรัฐเมื่อปี 2514 เพื่อพัฒนาธุรกิจการเลี้ยงและแปรรูปไก่
“ซีพี” ชูธงเทคโนโลยีขับเคลื่อน
แนวทางดังกล่าวจึงเป็นต้นแบบการใช้ “เทคโนโลยี” ของพันธมิตรมาขับเคลื่อนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อไปโรงงานของซีพีเอฟ จะให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น
ธุรกิจซีพีเอฟปัจจุบันครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์จนถึงการแปรรูปอาหาร โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 455,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 21% และปัจจุบันซีพีเอฟก้าวสู่การผลิตแห่งอนาคตทั้งแพลนท์เบสและเซลล์เบส โดยแสวงหาพันธมิตรจากทั่วโลกเพื่อมายกระดับซีพีเอฟ
เจาะแผน ‘4บิ๊กกงสี’ เติบโตยั่งยืน ทายาทรับไม้ต่อหนุนธุรกิจผงาดเวทีโลกโดยตั้งโรงงานแพลนท์เบสที่สมุทรสาคร กำลังการผลิต 12,000 ตัน/ปี กำหนดเดินเครื่องผลิตกลางปี 2566 ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งลงทุนเซลล์เบส ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) กับบริษัทสหรัฐและอิสราเอล ถ้ามีการขยายลงทุนมาในเอเชีย จะเลือกซีพีเอฟเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนเซลล์เบส ซึ่งทั้งแพลนท์เบสต์และเซลล์เบสต์ จะเป็นธุรกิจที่ต่อยอดอาณาจักรให้ซีพีเอฟ
ขณะที่ ซีพี ออลล์ อีกธุรกิจที่ “สุภกิต” กุมบังเหียนช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2565 รายได้ฟื้นตัวจากโควิด มีรายได้ 627,195 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 56.2%
“สุภกิต” มีประสบการณ์ดูแลธุรกิจค้าปลีกซีพีในจีนทั้ง Chia Tai Enterprises International Limited ,C.P.Lotus Corporation ,Shanghai Kinghill ,Super Brand Mall ถูกเลือกจากเจ้าสัวธนินท์ก้าวขึ้นมาดูแลซีพีออลล์ ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกให้ “ศุภชัย” ดูแล บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
"ไทยเบฟ" ทายาทรุ่น 2 สานต่อความมั่งคั่ง
หากเจาะไปที่ “บิ๊กคอร์ป” เบอร์ต้นๆ กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ต้องยกให้ 2 ยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท “ไทยเบฟเวอเรจ” ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” และ “บุญรอดบริเวอรี่” ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ต่างสร้างอาณาจักรเติบโตใหญ่ รายได้ระดับ “แสนล้านบาท” ทำ “กำไร” ระดับ “หมื่นล้านบาท”
ตระกูลธุรกิจแถวหน้าเมืองไทย “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น” หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ก่อร่างสร้างอาณาจักรจาก “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ภายใต้ทีซีซี กรุ๊ป มี 5 เสาหลักธุรกิจ และ 5 ทายาท ถูกแบ่งบ้าน (ธุรกิจ) ให้ดูแลอย่างลงตัว
หนึ่งในเสาหลักสำคัญ คือ ไทยเบฟเวอเรจ ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปติด ท็อป 10 ของเอเชีย จากผู้ก่อตั้ง “รุ่นแรก” สร้างธุรกิจจาก “ซื้อกิจการ” โรงงานสุราบางยี่ขัน ต่อยอดอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่
เมื่อไม้ต่อส่งถึง “ทายาท” ลำดับที่ 3 ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” อย่าง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กลยุทธ์การซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ยังมีให้เห็นตลอดเส้นทาง เช่น ทุ่มเงินหลัก “แสนล้านบาท”​ เข้าครอบครองหุ้นในบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) หรือไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น(SABECO) เป็นต้น
“ฐาปน” รับไม้ต่อดันธุรกิจโตก้าวกระโดด
ภายใต้การนำของ “ฐาปน” สร้างไทยเบฟเติบโต “ก้าวกระโดด” ผ่าน “ทางลัด” ข้างต้น จากสินค้าในพอร์ตโฟลิโอ มีเหล้าเบียร์ไม่กี่แบรนด์ ขยายสู่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหาร ผ่านแบรนด์ดังทำตลาด เช่น น้ำอัดลมฮันเดรดพลัส ซาสี่ สตาร์บัคส์ เคเอฟซี สก๊อตวิสกี้ Old Putlteney บริษัทจากมีกว่า “ร้อย” ขณะนี้มีมากกว่า 200 บริษัท รายได้ทะยานสู่ 272,000 ล้านบาท ปี 2565 (ปีงบประมาณ ต.ค.64-ก.ย.65) กำไรสุทธิ 34,505 ล้านบาท
แม้ไทยเบฟจะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่บริษัทถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทำให้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้น ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาพความเป็นกงสี อาจดูเลือนลาง แต่หากดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ยังถือครอง 45% ผ่านบริษัท สิริวนา จำกัด
การแผ่ขยายอาณาจักรไทยเบฟปี 2568 ภายใต้ Passion to Win “ฐาปน” วางเป้าเติบโตของรายได้และกำไรที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมุ่งมั่นก้าวขึ้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มภูมิภาคอาเซียน ที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
บริษัทยังมีเป้าหมายใหญ่อื่นแทรกอยู่ เช่น นำพาเบียร์สู่เบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียนและไทย ปัจจุบันเป็นผู้นำในอาเซียนเรียบร้อยแล้ว จากการซื้อกิจการ SABECO ขณะที่เบียร์ช้าง ยังต้องไล่ล่าตำแหน่งเบอร์1 ในไทย ล่าสุดส่วนแบ่งตลาดเข้าใกล้ผู้นำมากขึ้น หลังช่องว่างห่างกันแคบสุด ในรอบ 13 ปี
การตอกย้ำภาพเบอร์ 1 เบียร์อาเซียน จะเห็นการปลดล็อกธุรกิจ BeerCo ซึ่งไทยเบฟมุ่งมั่นแยกกิจการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อระดมเงินทุนต่อยอดธุรกิจ แต่ที่ผ่านมาแผนดังกล่าวต้องชะลอไป
การขับเคลื่อนธุรกิจไทยเบฟ โดยทายาทลำดับ 3 ของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ไม่เพียงสร้างการเติบโตให้องค์กร แต่นี่คือหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของการเบ่งอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น กิจการกงสีให้ยิ่งใหญ่ และมั่งคั่งยิ่งขึ้น
"บุญรอดบริวเวอรี่" เจน 4 นำทัพธุรกิจ
อาณาจักร "บุญรอดบริวเวอรี่” ก่อตั้งปี 2476 จากรุ่นแรก ปัจจุบันส่งไม้ต่อสู่ “ทายาท” รุ่น 4 และองค์กรกำลังก้าวสู่ปีที่ 90 ในปี 2565 “บุญรอดบริวเวอรี่” เปลี่ยนแปลง “แม่ทัพ” ครั้งสำคัญ เมื่อองค์กรต้องสูญเสีย “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ทายาทรุ่น 3 ของตระกูล ทำให้องค์กรต้องหาผู้สืบทอดคนต่อไป
“ภูริต ภิรมย์ภักดี” บุตรคนโตของ “สันติ ภิรมย์ภักดี” ถูกผลักดันให้ก้าวขึ้นตำแหน่งสำคัญ “ซีอีโอ” ของบุญรอดบริวเวอรี่ สิ่งแรกๆ ในการสานต่อกิจการครอบครัว คือ ศึกษาทำความเข้าใจบริษัทในเครือที่มีมากถึง 159 บริษัท จากเดิมที่ดูแลการค้าขาย ในฐานะ “แม่ทัพใหญ่” บุญรอดเทรดดิ้ง รวมถึงดูแลตลาดต่างประเทศ เป็นต้น
การขับเคลื่อนอาณาจักรกงสีใหญ่ “ภูริต” มองการกระจายงานให้ "คนเก่ง” ช่วยสร้างองค์กรให้เติบโต ขณะเดียวกัน ยุคตนเองให้ความสำคัญผนึกกำลัง “พันธมิตร” สร้างผลลัพธ์ 1+1 ต้องมากกว่า 2 ด้วยศาสตร์หนึ่งที่บริษัทยึดมั่น คือ “กินแบ่ง” ไม่กินรวบ ทำธุรกิจที่มีพันธมิตร ยังแบ่งปันการเติบโต “ร่วมกัน” อาศัยจุดแข็งแต่ละฝ่ายเสริมแกร่งกันและกัน
“การที่ยุคผมเน้นการร่วมมือพันธมิตร เพราะคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องกินรวบ รวยคนเดียว การผนึกพันธมิตรเราไม่มองแค่กำไร แต่มองโอกาสสร้างคน พัฒนาคนของเราให้เก่งขึ้นได้อย่างไร พัฒนาคนในประเทศให้มีศักยภาพได้ด้วย”
บุญรอดบริวเวอรี่ ส่งไม้ต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น หลากเจนเนอเรชั่นทำงาน บริษัทจึงให้ความสำคัญเรื่อง “คน” หรือบุคลากรอย่างมาก นโยบายที่ “ภูริต” เคยย้ำคือจะไม่ละทิ้งการสืบสานคุณค่าหลักหรือ Core Value ของสิงห์ ด้านการบริหารคนอย่างยั่งยืน ผลักดันให้บุคลากร พนักงานในองค์กร “เก่ง” ยิ่งขึ้น
การกุมบังเหียนกงสี ท่ามกลางโจทย์ท้าทายสารพัด การแข่งขันด้วย “สปีด” เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ผู้บริโภค “พฤติกรรม” ความต้องการหลากหลาย ซ้ำร้าย “ต้นทุน” ผลิตสินค้าและบริการสูง สิ่งที่ “ภูริต” โฟกัส คือบริหารต้นทุนให้ดี พร้อมมอบนโยบายให้ทีมงานดูแลเรื่อง “ราคาสินค้า” ตรึงไว้ให้นานเท่าที่ทำได้ เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค
“เพราะนโยบายบริษัท คือ ตรึงสินค้าให้นานสุดเหมือนเบียร์ลีโอ เพื่อช่วยลดผลกระทบผู้บริโภค” และนโยบายที่ “ภูริต” ย้ำเสมอกับสื่อและ “ขุนพล” ข้างกาย
“บุญรอดบริเวอรี่” ผ่านร้อนหนาวมาหลายยุค ไม้ต่อธุรกิจถูกส่งถึงรุ่น 4 และยังทะยานสู่ 90 ปี ความใหญ่ของอาณาจักรวันนี้ ทำเงินมหาศาล ปี 2564 ทำรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 197,134 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14,174 ล้านบาท (*รายได้จาก 9 บริษัทหลักในเครือ เช่น บุญรอดบริวเวอรี่ บุญรอดเทรดดิ้ง ปทุมธานี บริวเวอรี่ ขอนแก่น บริวเวอรี่ สิงห์ เอสเอท บางกอกกล๊าส ฯ และยังไม่หักบริษัทที่ประสบภาวะขาดทุน) การทำให้องค์กรโตต่อ ถือเป็นภารกิจ “ท้าทาย” ทายาทไม่น้อย
‘เซ็นทรัล’โปรเฟสชันนอลแฟมิลี่แกร่ง
เซ็นทรัล กรุ๊ป ธุรกิจเก่าแก่แห่งเมืองไทย ภายใต้ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 76 พร้อมตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของไทย ปี 2565 ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.73 แสนล้านบาท
เส้นทางเติบโตจากรุ่นสู่รุ่นของ “เซ็นทรัล” สืบทอดคำว่า “ธุรกิจครอบครัว” ได้อย่างยาวนาน พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปี สร้างประวัติศาสตร์ใหม่วงการค้าปลีกไทยอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะการกุมบังเหียนของ “ทศ จิราธิวัฒน์” เจนเนอเรชั่น 3 นำทัพค้าปลีกสัญชาติไทยสยายปีกนอกบ้าน บุกเปิดตลาด “เวียดนาม” บ้านหลังที่สองของกลุ่มเซ็นทรัล
พร้อมวางยุทธศาสตร์ชัด ปักหมุดบนแผนที่โลกด้วยการ “เข้าซื้อกิจการ” ห้างสรรพสินค้าหรู ที่พร้อม “ต่อ ยอด” เพิ่มมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ บนทำเลทองในเมืองเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เชื่อมต่อคู่ค้าพันธมิตรผ่าน “แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก
โดยเฉพาะการปิดดีลซื้อกิจการ “เซลฟริดเจส” มูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มเซ็นทรัลทะยานสู่ผู้นำ “ธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ระดับโลก” ด้วยเครือข่ายห้างสรรพสินค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุม 11 ประเทศ 80 เมือง 120 สาขา และห้างแฟลกชิปหรู 16 แห่ง ในหัวเมืองหลักของยุโรปและเอเชีย
จากร้านหนังสือเล็กๆ สู่กิจการแสนล้าน
ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลเริ่มจากร้านหนังสือเล็กๆ ยุคก่อตั้งของคนรุ่นแรก “เตียงและสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์” ขยายสู่ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในไทย และเป็นผู้สร้างห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคหลายแห่ง ทั้งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกของไทย ผงาดโกลบอลแบรนด์เต็มตัว Key Success ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสืบทอดความยิ่งใหญ่ได้ไม่ง่ายเลย
ปัจจุบันตระกูล “จิราธิวัฒน์” มีสมาชิกมากกว่า 200 คน ความสมานฉันท์ในครอบครัวถูกวางรากฐานที่ดีและแข็งแกร่งตั้งแต่รุ่นแรก แบ่งแยกเรื่องธุรกิจกับครอบครัวชัดเจน วางรัฐธรรมนูญเซ็นทรัล เพื่อบริหารธุรกิจทั้งหมด จัดตั้ง “สภา ครอบครัว” (Family Council) ที่มีคนในครอบครัวร่วมตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ และจัดสรรผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ลงตัว
ส่วนการขับเคลื่อนธุรกิจ ได้ตั้งคณะกรรมการ หรือ บอร์ดใหญ่ดูแลธุรกิจ และการลงทุนเมื่อโครงสร้างกรอบกติการชัดเจน การขับเคลื่อนธุรกิจจึงเดินหน้าสร้างการเติบโตได้รวดเร็วภายใต้ความยั่งยืนที่มี “ลูกค้า” เป็นหัวใจหลัก
ปัจจุบัน กลุ่มเซ็นทรัล ต่อยอดและขยายธุรกิจครอบคลุม 6 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย ค้าปลีก และแบรนด์สินค้า,ธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์, ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร,บริการการเงิน ฟินเทค,ธุรกิจสมาชิกบัตรเดอะวัน (The1) และธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัล (New Economy)
ปักหมุดอาณาจักรเซ็นทรัลทั่วโลก
อาณาจักรเซ็นทรัลทั่วโลกมีกว่า 3,700 สาขา บนพื้นที่มากกว่า 7 ล้านตารางเมตร ใน 18 ประเทศ 142 เมือง มีนักช้อปเข้าใช้บริการ 130 คนต่อปี ฐานลูกค้าสมาชิกกว่า 30 ล้านคน ฐานลูกค้าใช้งานผ่านออนไลน์ 40 ล้านรายต่อเดือน เรือธงและซิกเนเจอร์ของเซ็นทรัลอย่างธุรกิจห้างสรรพสินค้า กระจายอยู่ในทั่วโลก 11 ประเทศ 80 เมือง รวม 120 สาขา
ธุรกิจค้าปลีกและแบรนด์สินค้า ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ใหญ่สุด ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัดหรือ CRC สรรงบกว่า 1.5 แสนล้านบาท ลงทุนต่อเนื่องระยะ 5 ปี (2566-2560) เพื่อขยายธุรกิจในไทย เวียดนามและอิตาลี
เป็นการดำเนินงานใต้กลยุทธ์ “CRC Retailligence” ดันรายได้รวมเซ็นทรัล รีเทลในอีก 5 ปีก่อน มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า สร้าง EBIDA เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า การสร้าง Market Cap เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากในปี 2566 มีรายได้อยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท เติบโต 15%
สำหรับธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ โดย บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา หรือ CPN ตามแผน 5 ปี (2565-2569) ลงทุน 1.2 แสนบาท ภายใต้กลยุทธ์ Retail-Led Mixed-Use Developer” ขยาย4 ธุรกิจ ศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม ครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศในปี 2569
ขณะที่ธุรกิจโรงแรม โดยบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ Centel ปี 2565-2567 ลงทุนในธุรกิจโรงแรมและอาหาร 10,400 ล้านบาท พร้อมวางเป้าหมายอีก 5 ปี เครือเซ็นทาราจะเพิ่มจำนวนโรงแรมใหม่อีก 100 แห่ง
ด้านธุรกิจบริการด้านการเงินและฟินเทค วางยุทธศาสตร์ “นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี” รองรับประเทศไทยสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด ที่สำคัญ ธุรกิจใหม่ New Economy มุ่งสู่การเป็นเทคคอมปานีชั้นนำและผู้นำด้านดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรและบริษัทชั้นนำระดับโลก
ที่มาบางส่วน : กรุงเทพธุรกิจ
#แชร์กับชัยวัฒน์
โฆษณา