14 ก.พ. 2023 เวลา 02:58 • ประวัติศาสตร์

❤ หัวใจมาจากไหน?

เวลาพูดถึงสัญลักษณ์แห่งความรัก เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงสัญลักษณ์ที่มีเส้นโค้งสะท้อนกันด้านบนและมีก้นแหลมๆ ด้านล่างที่เราเรียกว่ารูป “หัวใจ” เป็นอันดับแรกๆ
และอย่างที่ทุกคนรู้กันว่าเจ้าสัญลักษณ์รูปหัวใจนั้นมันหน้าตาไม่ค่อยเหมือนหัวใจที่อยู่ข้างในอกเราซักเท่าไหร่ ถ้าอย่างนั้นเจ้าสัญลักษณ์ยอดนิยมนี้มันมาจากอะไรกันล่ะ?
วันนี้เราจะมาเล่าทฤษฎีที่มาต่างๆของรูปหัวใจ สัญลักษณ์ที่มีคนใช้มากที่สุดของโลก รวมไปถึงเมื่อไหร่และทำไมมันถึงถูกเชื่อมโยงไปถึงคำว่า ”รัก”
❤ ทฤษฎีที่ 1 มาจากรูปร่างของใบไม้
สัญลักษณ์คล้ายรูปหัวใจปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในงานศิลปะและของตกแต่งจากกลุ่มอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ หนึ่งในสามของอารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของโลก โดยนิยมใช้รูปร่างของใบไม้ เช่น ใบมะเดื่อ ใบต้นไอวี่ หรือ ใบบัว มาทำเป็นชิ้นงานศิลปะ หรือ ตราประจำตระกูล
1
โดยรูปใบต้นไอวี่ มักถูกใช้ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์และจงรักภักดี ซึ่งเป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นที่มาของความหมายของสัญลักษณ์รูปหัวใจในปัจจุบัน
(กลุ่มอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในปัจจุบัน คือ บริเวณพื้นที่ประเทศปากีสถานและทิศตะวันตกถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย)
❤ ทฤษฎีที่ 2 มาจากรูปร่างของพืชที่ใช้ในการคุมกำเนิด
ใกล้อาณาจักรกรีกและโรมันโบราณ บริเวณแถบตอนเหนือของแอฟริกาจะมีเมืองชื่อ Cyrene ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากต้น Silphium พืชตระกูลยี่หร่าที่ถูกนำมาใช้ทั้งทำอาหารและยา โดยเชื่อว่าสามารถใช้แทนยาคุมกำเนิดได้ในสมัยนั้น
รูปร่างของช่อเมล็ดต้น Silphium นั้นมีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์รูปหัวใจในปัจจุบัน และเนื่องจากเป็นที่นิยมในการใช้คุมกำเนิดจึงทำให้รูปลักษณะนี้เป็นที่แพร่หลายโดยมีความหมายเชื่อมโยงกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ซึ่งอาจเชื่อมโยงมาถึงความหมายว่ารักในทุกวันนี้
❤ ทฤษฎีที่ 3 ก็มาจากรูปร่างของอวัยวะมนุษย์เนี่ยแหละ
แนวความคิดนี้เริ่มต้นจากนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง Aristotle ที่อธิบายว่า หัวใจ คือ ศูนย์รวมของจิตวิญญาณและอารมณ์ความรู้สึก
และ Galen บิดาทางการแพทย์แห่งโรมันได้อธิบายว่า หัวใจนั้นมีสามห้องและรูปร่างคล้ายลูกสน ซึ่งความเข้าใจผิดนี้เกิดจากการที่กฎหมายในโรมันไม่สามารถชำแหละร่างกายมนุษย์เพื่อศึกษาได้ เขาจึงต้องไปศึกษาในสัตว์อื่นๆแทน
โดยแนวความคิดทั้งสองนี้ถูกนำมาอ้างอิงในการวาดภาพประกอบตำราแพทย์ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือ Renaissance ช่วงศตวรรษที่ 14 และมีรูปร่างคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์รูปหัวใจในปัจจุบัน
❤ มาเชื่อมโยงกับคำว่า “รัก” ตั้งแต่เมื่อไหร่
ถึงแม้สัญลักษณ์รูปหัวใจจะเป็นที่นิยมใช้กับของตกแต่งและตราประจำตระกูลแต่มันก็ไม่ได้มีความหมายชัดเจนไปถึงคำว่ารักขนาดนั้น จนกระทั่งศตวรรษที่ 13 รูปหัวใจก็มักปรากฎมาเป็นสัญลักษณ์แทนความรักในภาพวาดเรื่องราวของความรักในราชสำนัก
หลักฐานชิ้นแรกๆ คือ ภาพประกอบหนังสือชื่อว่า Roman de la poire ในช่วงปี ค.ศ. 1201-1300 จากประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นภาพของเด็กหนุ่มคุกเข่ามอบของลักษณะคล้ายๆลูกสนหรือลูกพีชกลับด้านให้กับผู้หญิงคนรัก
❤ ที่เราคุ้นเคย
ภาพหลักฐานที่ชัดเจนและใกล้เคียงกับสัญลักษณ์รูปหัวใจทั้งรูปร่างและความหมายในปัจจุบันมากที่สุด คือ ภาพ The Heart Offering จากหนังสือ The Romance of Alexander ในปี ค.ศ. 1344 โดยเป็นภาพของผู้หญิงมอบของลักษณะคล้ายหัวใจในปัจจุบันให้กับผู้ชายในขณะที่เขาวางมือบนหัวใจของตนเอง
ถึงแม้สัญลักษณ์รูปหัวใจจะเริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในช่วงยุค Renaissance ตั้งแต่พวกเครื่องประดับจนไปถึงด้ามอาวุธ หรือแม้กระทั่งไพ่ที่เราเล่นกัน แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดก็ใช่ว่าจะสื่อถึงความรักเสมอไป
ภาพประกอบ: The oldest printed Valentine, courtesy of York Museums Trust
❤ จากสังคมชั้นสูงสู่สัญลักษณ์แห่งความรักของทุกคน
ถึงแม้จะยังไม่มีบันทึกที่ชัดเจนว่าการเฉลิมฉลองวาเลนไทน์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ในประเทศอังกฤษช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ก็เริ่มมีวัฒนธรรมการมอบของขวัญ ภาพวาด และ การ์ดทำด้วยมือที่ถูกประดับอย่างสวยงามให้กับคนที่รัก
ซึ่งภายหลังได้พัฒนาเป็นสินค้าต่างๆในยุคต่อมาตามเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น เช่น การ์ดแบบพิมพ์
โดยสินค้าวาเลนไทน์เหล่านี้ก็จะมีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับความรักในอดีตร่วมด้วย เช่น ดอกไม้ กามเทพ นก หรือ หัวใจ และจากเทคโนโลยีการผลิตแบบจำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้เองทำให้ สินค้าอย่างการ์ดวาเลนไทน์มีราคาที่ถูกลงในระดับที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้
และเมื่อรวมกับค่าบริการไปรษณีย์ที่ถูกลง ทำให้สัญลักษณ์แห่งความรักทั้งหลายที่ปรากฎอยู่บนการ์ดนั้นถูกสื่อสารไปอย่างกว้างขวาง
เขียนโดย Mill Rawesilp
เติมความคิดสร้างสรรค์แบบย่อยง่ายจาก Art of ได้ที่
โฆษณา