16 ก.พ. 2023 เวลา 06:13 • ประวัติศาสตร์

โอมาโมริ : เครื่องรางสายมูแล้วบูชายังไง?

สำหรับคนที่เคยมาเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักวัดและศาลเจ้าญี่ปุ่นอย่างแน่นอน หากพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวัดและศาลเจ้า สถานที่ยอดฮิตย่อมหนีไม่พ้นวัดเซนโซจิที่คนไทยเรารู้จักกันในชื่อ “วัดอาซากุสะ” หรือแม้แต่วัดน้ำใสที่มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “คิโยมิสุเดระ” และของฝากจากการไปท่องเที่ยวยังสถานที่ดังกล่าวจะเป็นอย่างอื่นไปเสียไม่ได้นอกจาก “โอมาโมริ” เครื่องรางสไตล์คิขุอาโนเนะสารพัดสีหน้าตาคลายซองใส่ของขนาดเล็ก
1
“เครื่องราง” ในภาพจำของหลายคนมักมีลักษณะเป็นสิ่งของหน้าตาน่ากลัวลงอักขระยึกยือ ยากต่อการอ่านและทำความเข้าใจกับความหมาย เมื่อเจอโอมาโมริของญี่ปุ่นที่รูปร่างน่ารัก สีสันสดใส ก็อดไม่ได้ที่จะซื้อเป็นของฝากให้แก่เพื่อนฝูงคนรู้จัก
โอมาโมริที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุด เครดิตภาพ : https://www.city.nagaokakyo.lg.jp/0000011066.html
โอมาโมริเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงถึงเรื่องราวความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 8 จากหลักฐานการขุดค้นพบโอมาโมริที่เก่าแก่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองนางาโอกะเคียว จังหวัดเกียวโต เมื่อปี ค.ศ. 2000
1
ในอดีตยุคที่วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างในปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตของประชากรส่วนใหญ่มาจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยและโรคระบาดต่าง ๆ จึงมีการสันนิษฐานกันว่าเครื่องรางอย่างโอมาโมริในอดีตเป็นวัตถุที่นำมาห้อยคอพกติดตัวเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ
หญิงชนชั้นสูงในยุคเฮอันจะคล้องคาเคมาโมริก่อนออกจากบ้าน เครดิตภาพ : http://kakitutei.gozaru.jp/kyoto04fe/monomoude1.html
ในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185) เครื่องรางได้กลายเป็นเครื่องประดับพกติดตัวโดยเฉพาะเหล่าสตรีชนชั้นสูงจะคล้องสิ่งที่เรียกว่า คาเคมาโมริ (懸守) ก่อนออกไปทำธุระนอกรั้วนอกวัง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายตามกลับมาในภายหลัง ต่อมาในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) การคล้องคาเคมาโมริได้แพร่หลายไปยังชนชั้นนักรบและประชาชนทั่วไป นิยมคล้องคอติดตัวไว้ตลอดเวลาจนเรียกเครื่องรางดังกล่าวติดปากกันว่า ฮาดะมาโมริ (肌守り)
1
『จากแท่งไม้กลายมาเป็นห่อผ้าหลากสีหลายสไตล์』
การทำเครื่องรางตั้งแต่ในอดีตจะทำโดย องเมียวจิ (陰陽師) ซึ่งเป็นนักพรตที่เชื่อกันว่ามีพลังเชื่อมต่อกับธรรมชาติ โดยความเชื่อดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดลัทธิเต๋าของจีนผสมผสานกับความเชื่อในศาสนาพุทธนิกายเซนที่เชื่อเรื่องธาตุทั้งห้าและพลังหยินหยาง
1
รูปแกะสลักหินของ องเมียวจิ "อาเบะ โนะ เซย์เมย์" ตั้งอยู่ภายในศาลเจ้าเซย์เมย์ เมืองเกียวโต เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/388#content-6
องเมียวจิที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นคือ อาเบะ โนะ เซย์เมย์ (安倍晴明) มีชีวิตอยู่ในยุคเฮอัน (ค.ศ. 921 – 1005) ได้รับความนับถือและไว้วางใจจากราชสำนักให้เป็นผู้ขับไล่ภูตผีปิศาจและสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย รวมทั้งปัดเป่าภยันตรายจากภัยธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บ
จากการนำแท่งไม้ ใบหญ้า ก้อนหินที่อยู่ในอาณาเขตวัดหรือศาลเจ้ามาพกติดตัวด้วยความเชื่อที่ว่า สิ่งเหล่านี้มีพลังที่ช่วยปกป้องคุ้มครองตัวเรา ก็เริ่มพัฒนาเป็นการนำมาผ่านพิธีกรรมโดยนักบวชหรือองเมียวจิ กระทั่งบรรดาหญิงชนชั้นสูงในยุคเฮอันได้นำผ้าไหมหรือผ้าดิ้นทองมาเย็บเป็นถุงใส่คาเคโมริผูกเชือกปิดเอาไว้เป็นเคล็ดไม่ให้พลังของเทพเจ้าซึ่งสถิตย์อยู่ภายในหลุดลอยออกไปที่อื่น ต่อมาวิธีการดังกล่าวได้กลายเป็นที่นิยมจนรูปร่างหน้าตาของโอมาโมริกลายมาเป็นอย่างที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ส่วนวิธีการดูแลโอมาโมริของคนญี่ปุ่นก็แทบไม่ต่างจากคนไทย
เวลาที่เรามองหาพระพุทธรูป วัตถุมงคล เครื่องรางต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจไม่นิยมใช้คำว่า “ซื้อหา” แต่มักได้ยินกันว่า “เช่าบูชา” คนญี่ปุ่นเองก็เช่นกันเมื่อไปไหว้พระขอพรที่วัดหรือศาลเจ้าแล้วมองหาโอมาโมริจะไม่ใช้คำว่า “ซื้อ – 買う” แต่ใช้คำว่า “ได้รับ(มาจากพระเจ้า เป็นต้น) – 授かる” และไม่นิยมเรียกโอมาโมริเป็น “ชิ้น, อัน – 個” เรียกเป็น “องค์ – 体” แทน
เครดิตภาพ : https://entame-lab.com/omamori-saihu/
『อะไรอยู่ในถุงโอมาโมริ』
ภายในถุงผ้าหลากสีหลายลวดลายขนาดจิ๋วผูกเชือกปิดเอาไว้ ด้านในคือวัตถุอย่างไม้ โลหะ กระดาษที่ผ่านการทำพิธีปลุกเสกโดยนักบวชของศาลเจ้านั้น ๆ เชื่อว่าพลังจากเทพเจ้าจะสถิตย์อยู่ภายใน หากแก้เชือกเปิดออกจะทำให้วัตถุดังกล่าวแปดเปื้อนสิ่งสกปรกและทำให้พลังเสื่อมลง คนญี่ปุ่นจึงไม่นิยมแกะถุงโอมาโมริออก
โอมาโมริควรเก็บอย่างไร
โดยทั่วไปแล้วหากได้โอมาโมริมา มักจะพกติดตัวโดยอาจใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง โอมาโมริที่ให้คุณทางด้านการเงิน การทำมาค้าขาย นิยมใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ โอมาโมริที่ให้คุณด้านการเล่าเรียน การสอบ นิยมใส่ไว้ในกล่องดินสอหรือห้อยติดกระเป๋านักเรียน โอมาโมริที่ให้โชคด้านความรัก นิยมห้อยติดกับสมาร์ทโฟน เป็นต้น
แม้โอมาโมริจะดูคล้ายของประดับ แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน
คนญี่ปุ่นไม่นิยมพกโอมาโมริติดตัวในช่วงที่ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมีงานอวมงคลต่าง ๆ เนื่องจากเชื่อกันว่า ความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจและความวิตกกังวลจะทำให้พลังของโอมาโมริเสื่อมสลายไป และไม่นิยมพกโอมาโมริเกิน 10 องค์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้พลังของโอมาโมริต่างก็ทำลายกันเอง
『บูชาแล้วย่อมมีจุดสิ้นสุด』
อีกหนึ่งสิ่งที่แตกต่างจากเครื่องรางบ้านเราเห็นจะเป็น “อายุการใช้งาน” นี่แหล่ะ โดยส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะพกโอมาโมริติดตัว และส่งคืนให้แก่ศาลเจ้าเมื่อครบกำหนดหนึ่งปี เพราะเชื่อกันว่าโอมาโมริที่พกติดตัวเป็นเวลานานอาจเกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก ทำให้พลังอำนาจลดลง ดังนั้นเมื่อครบหนึ่งปีคนญี่ปุ่นจะนำโอมาโมริกลับมาคืนด้วยความรู้สึกขอบคุณที่ศาลเจ้าหรือวัดในสถานที่ที่เขียนไว้ว่า “納札所”
สถานที่ส่งคืนโอมาโมริภายในศาลเจ้า เครดิตภาพ : http://kiku-re.co.jp/archives/1977/
นอกจากนี้หลายคนยังนิยมนำโอมาโมริกลับมาคืนศาลเจ้าในวันขึ้นปีใหม่ หรือวันเซ็ตสึบุน (3 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาล เพราะในวันดังกล่าว ศาลเจ้าหลายแห่งจะทำพิธีสวดไล่สิ่งสกปรกและเผาโอมาโมริให้ การนำโอมาโมริทิ้งถังขยะหรือเผาทำลายเองเป็นสิ่งที่ไม่นิยมทำกัน เชื่อว่าเป็นการปฏิบัติต่อเทพเจ้าที่ไม่ดี อาจเกิดเรื่องเลวร้ายตามมาในภายหลัง
※เครดิตรูปหน้าปก : https://catalog.hakozakigu.or.jp/omamori/omamori_list_0.html
โฆษณา