17 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

Pandora (2016) แผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรีย กับมูลค่าของชีวิตคน

Pandora (2016) เรื่องราวของระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อายุกว่า 40 ปี ที่ระเบิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีพยายามลัดขั้นตอนเผื่อผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาโรงงานผลิตไฟฟ้า และย่นระยะการตรวจสอบข้อบกพร่องอุปกรณ์จำนวนมากจากหลายปีให้เหลือเพียงแค่ 2 เดือน เพื่อประหยัดงบประมาณ
แรงระเบิดทำให้มีกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากแผ่ออกมา ประชาชนกว่า 17,000 คน ในรัศมี 5 กิโลเมตร จึงถูกอพยพออกไปอย่างโกลาหล และมีการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้ากู้ภัย รวมถึงอาสากู้ภัยให้เข้ามาปฏิบัติภารกิจที่สำคัญและเสี่ยงอันตรายเช่นนี้
ความโกลาหลในเรื่อง อาจดูคล้ายๆ กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในตุรกีและซีเรียที่คร่าชีวิตคนไปเกินกว่า 4 หมื่นคน เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงต้องทำงานแข่งกับเวลาและเสี่ยงอันตรายมาเกินกว่าสัปดาห์ รวมถึงสุนัขกู้ภัย ที่เข้ามาร่วมในภารกิจนี้ แต่ยิ่งนานวัน ความหวังก็เริ่มจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ
📌 อาจมีคนเสียชีวิตน้อยกว่านี้ ถ้าหากว่า….
แน่นอนว่าแผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติที่ยากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่เราอาจจะลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หากมีการวางแผนที่ดี ประเทศเม็กซิโก ญี่ปุ่น และรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลสามารถลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้ด้วยการระบุความอันตราย สร้างโครงสร้างที่ปลอดภัย และให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว
ความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ถูกมองว่ารากของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเมือง เพราะนักการเมืองของตุรกีเพิกเฉยต่อการวางผังเมือง การก่อสร้าง การประเมินความอันตราย และการบริหารจัดการภัยพิบัติ แม้ว่าจะเคยผ่านภัยพิบัติในลักษณะนี้มาก่อนแล้วก็ตาม
ในปี 1939 แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ที่ Erzincan เมืองทางตะวันออกของ Anatolia คร่าชีวิตไปกว่า 33,000 คน แต่รัฐบาลกลับบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับเพียงไม่กี่ข้อในการจัดการภัยพิบัติในภายหลังจากนั้น คือในปี 1959 และ 1988 ซึ่งกฎหมายที่ออกมา ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการวิกฤติ แต่แทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติเลย
ในปี 1999 เกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งที่ Golcuk (จังหวัด Kocaeli) ซึ่งวัดความรุนแรงได้ถึง 7.4 แมกนิจูด และคร่าชีวิตคนไปกว่า 18,000 คน
ด้วยกฎหมายการก่อสร้างที่หละหลวม และการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เกิดมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากอย่างน่าสลดใจ
แผ่นดินไหวในปี 1999 จึงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ และการก่อสร้างในตุรกี โดยได้มีการออกข้อบังคับในการก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ตามข้อบังคับใช้นี้กลับไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดกรณีที่ผู้ก่อสร้างตึกใช้วัสดุด้อยคุณภาพ และทางรัฐบาลมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ในที่ที่ไม่สมควรได้ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเหมือนกับต้นตอของความสูญเสียชีวิตกว่า 4 หมื่นราย ในเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ทั้งที่มีเวลามากพอที่จะหาวิธีป้องกัน และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะชีวิตคนนับหมื่น
📌 ชีวิตคนมีมูลค่าแค่ไหน?
เวลาถูกถามว่าชีวิตมีค่าแค่ไหน มันคงจะตอบยากอยู่เหมือนกัน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์มีแนวทางประเมินมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติ หรือที่เรียกว่า The value of statistical life (VSL) ซึ่งปรากฎอยู่ในงานวิจัยจาก Harvard Law School
วิธีการหามูลค่าของชีวิตเชิงสถิติ คือ การใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเพื่อหาว่าเราจะยอมแลกโอกาสที่เราจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกับค่าจ้างจำนวนเท่าไหร่ โดยนักเศรษฐศาสตร์เองได้ตั้งข้อสังเกตว่าแรงงานมักจะขอค่าชดเชยเพิ่มหากต้องไปทำงานที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้เองสามารถนำมาใช้ประเมินมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติได้ หรือถ้ามองจากอีกด้านหนึ่ง คือ เราจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
จากงานวิจัยนี้เองทำให้พบว่ามูลค่าชีวิตเชิงสถิติของแรงงานสหรัฐฯ อยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผลวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว คนก็จะยอมเสียเงินเพื่อรักษาชีวิตมากขึ้น เราจึงเห็นว่าแรงงานรายได้ต่ำมีมูลค่าชีวิตเชิงสถิติน้อยกว่าแรงงานรายได้สูง ซึ่งผลในระดับประเทศก็สอดคล้องกัน สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อย ก็จะมีระดับรายได้น้อย และมีมูลค่าของชีวิตเชิงสถิติน้อยกว่า
หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรีย กลุ่มธุรกิจของตุรกีประเมินว่าความสูญเสียนั้นอาจจะสูงถึง 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วย 70.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัยที่เสียหายไป และอีก 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับรายได้ของประเทศที่จะต้องสูญเสียไป นอกจากนี้ยังมีความเสียหายของถนน ไฟฟ้า แก๊สธรรมชาติ ท่อส่งแก๊ส การติดต่อสื่อสาร โรงพยาบาล และโรงเรียนอีกด้วย
แต่ถ้าเรารวมมูลค่าของชีวิตคนที่ต้องสูญเสียเข้าไปอีก เหตุการณ์นี้ก็คงนับว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การเสียชีวิตครั้งใหญ่ และมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งเลยก็ว่าได้
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา