17 ก.พ. 2023 เวลา 09:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ชนวนเหตุสินค้าแพง ส่วนแบ่งการขายเพิ่ม ต้นทุนแฝงผู้ผลิตเพียบ!

วิกฤติสินค้าราคาแพง ยังเป็นปัจจัยกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน โดยเฉพาะกำลังซื้อ “ฐานราก” หากสำรวจตลาดตั้งแต่ต้นปี สินค้าปรับขึ้นราคา ได้แก่ นมถั่วเหลืองแลคตาซอยทุกขนาด เช่น 125 มิลลิลิตร(มล.) จาก 5 เป็น 6 บาท ขนาด 300 มล.จาก 10 เป็น 12 บาท
ยำยำช้างน้อย จาก 3 บาทต่อซอง เป็น 3.30 บาท ขณะที่ร้านค้าทั่วไป เห็นการปรับราคาขายผลิตภัณฑ์เบียร์เบอร์ 1 ขวดจาก 60 บาท เป็น 65 บาท โดยราคาขายปลีกแนะนำผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อยังคงราคา 59 บาท ยาคูลท์ปรับราคาขึ้น 1 บาท ในรอบ 11 ปี กระทิงแดงสูตรคลาสสิคขยับจาก 10 บาท เป็น 12 บาท น้ำมันพืชปาล์มยี่ห้อดังจากขวดละ 60 บาท ขยับเป็น 75 บาท เป็นต้น
สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าจำเป็น ยังคง “แพงขึ้น” ต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญของการ “ปรับราคา” ส่วนหนึ่งมาจากบรรดาช่องทางจำหน่าย โดยเฉพาะห้างค้าปลีกเก็บส่วนแบ่งการขาย หรือ ค่า GP เพิ่มแตะระดับ 40%
สอดคล้องความเห็นของผู้ผลิตสินค้าจำเป็นรายใหญ่ ที่ระบุว่า การเรียกเก็บ GP ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์มีการผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด
“ห้างค้าปลีก อยู่ในมือของผู้ประกอบการไม่กี่ราย การเรียกเก็บค่า GP เพิ่ม เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้คนไทยต้องซื้อสินค้าราคาแพง และยังมีต้นทุนแฝงอีกมหาศาลในการทำธุรกิจ”
นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นในปี 2565 เป็นแรงกดดันสำคัญทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า รวมถึงมีผลกระทบต่อค่าขนส่งด้วย
อีกปัจจัย คือการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีนักเดินทางเยือนไทยมากขึ้น เพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการ มิติหนึ่งถือเป็นผลบวกต่อภาคธุรกิจ ช่วยปั๊มยอดขายมากขึ้น แต่มุมหนึ่งทำให้ผู้ประกอบการใช้จังหวะดังกล่าว “ขยับราคาสินค้า” เพิ่มขึ้น จากช่วงโควิดไม่สามารถปรับราคาได้จากอำนาจซื้อผู้บริโภคหดหายไป
“ตอนสินค้าและบริการยอดขายอืด ผู้ประกอบการขยับราคาไม่ได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีเงินในการจับจ่าย ขึ้นราคามีแต่จะยิ่งฉุดกำลังซื้อ เมื่อกำลังการผลิตเหลือ ยังจัดโปรโมชั่นด้วย แต่พอตลาดเริ่มกลับมาคึกคัก การท่องเที่ยวฟื้น ต่างชาติเข้ามาช่วยเพิ่มการบริโภค ก็ขยับราคาได้”
สินค้าบางส่วนปรับราคาไปแล้ว รายงานล่าสุด คือผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อม ซึ่งทางตัวแทนจำหน่ายได้แจ้งไปยังร้านค้าส่งว่าจะขยับราคาขึ้นในเดือนระลอกใหม่ เพื่อให้ร้านบริหารจัดการสต๊อก และสั่งซื้อสินค้าได้สอดคล้องสถานการณ์
การแจ้งปรับราคา ทางร้านจะได้ทราบล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน ช้าสุดไม่เกิน 60 วัน ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นรายใหญ่ระบุว่า การแจ้งปรับราคาของบริษัทเกิดขึ้นล่วงหน้า 15-30 วัน
“ผู้ผลิตจะแจ้งให้ร้านทราบถึงการปรับราคาสินค้าขึ้นล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้เตรียมเงินและสั่งซื้อสินค้า การที่ราคาเพิ่ม เดิมเคยขายของ 100 บาท จำนวน 100 ชิ้น หากปรับขึ้นอาจต้องใช้เงิน 120 บาท ไม่เช่นนั้น ร้านจะได้สินค้าไม่ครบตามต้องการ ต้องหาเงินมาเติมให้เต็ม”
ยังมี “เครื่องดื่มชูกำลัง” ยี่ห้อดังต้องการขึ้นราคา แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะเห็นบทเรียนจาก M-150 ปรับจากขวด 10 บาท เป็น 12 บาท ทำให้ส่วนแบ่งตลาดหายไป หากแบรนด์ต้องการชิงมาร์เก็ตแชร์การขึ้นราคาเป็นตัวแปรสำคัญมาก
“ตอนนี้กำลังซื้อตลาดล่างหายไปหมดเลย”
วิกฤติสินค้าแพง อย่างหนึ่งที่เห็นคือ “ขึ้นราคา” ไปแล้ว มักไม่เห็นหั่นหรือลดราคาลง เมื่อต้นทุนต่ำ อย่างผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม “สมชาย” เห็นราคาวัตถุดิบปาล์มลดแล้ว แต่น้ำมันพืชยังจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูง​ ที่น่าจับตาคือ ปัจจุบันพรรคการเมืองเริ่มหาเสียงเตรียมตัวต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง จึงเห็น “ราคา” สินค้าบางอย่างอาจถูกกดไว้ แต่ มองหลังเลือกตั้ง ราคาสินค้าจะขยับอีกรอบ
นโยบายการควบคุมราคาสินค้าในไทย เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย เพราะกระทบกลไกตลาดและการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาขายตามต้นทุนที่แท้จริง การแบกรับต้นทุน จึงมีผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดด้วย
ที่มาบางส่วน : กรุงเทพธุรกิจ
#แชร์กับชัยวัฒน์
โฆษณา