4 มี.ค. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

ใส่ใจให้ถูกเรื่อง อย่าเปลืองพลังงานกับสิ่งไร้สาระ

ไม่รู้ว่าสมัยนี้ปัญหาต่าง ๆ มันเยอะกว่าสมัยก่อน หรือว่าการสื่อสารในสมัยก่อนยังไม่ดีเท่าสมัยนี้ เราเลยไม่เห็นปัญหามากมายที่ซุกซ่อนเอาไว้ แล้วปัญหาในปัจจุบันก็ดูมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
แต่อีกข้อสงสัยนึงที่แวบเข้ามาในหัวของผมก็คือ เอ๊ะ หรือมันจะเป็นเพราะว่ามีหลายคนเริ่มให้น้ำหนักกับการพูด มากกว่าการแก้ปัญหากันนะ เราก็เลยเห็นแต่คนพูดกันเต็มไปหมด
ในหนังสือ “ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง” เขียนโดย Mark Manson ก็พูดถึงเรื่องทำนองนี้เช่นกันครับ Manson บอกว่าหลายคนชอบหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการโยนความผิดไปให้ผู้อื่น แล้วก็พยายามทำตัวเป็น “ผู้รับเคราะห์” เพื่อให้ตัวเองดูชอบธรรมขึ้น แถมยังเรียกร้องความเห็นใจได้อีกด้วย
ปัญหาคือ Social Media กำลังทำให้การกระทำแบบนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะเราสามารถสื่อสารให้คนจำนวนมากรู้ได้ แถมยังเช็กคนที่เข้ามาสนใจเราได้ตลอดเวลา หลายคนจึงเริ่มใช้มันกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และหากทำให้คนอื่นอับอายในที่สาธารณะได้ ก็จะรู้สึกเหมือนมันเป็นเรื่องเท่ขึ้นมา ซึ่งผมว่าแนวคิดในทำนองนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการ Call Out แบบผิดวิธีด้วยครับ
ผู้เขียนบอกให้สังเกตง่าย ๆ ครับว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะไม่พอใจอะไรก็ตาม เช่น หนังสือ ต้นคริสต์มาสในห้างสรรพสินค้า การจุดพลุในวันปีใหม่ การขึ้นภาษีครึ่งเปอร์เซ็นต์ เกมเมอร์เล่นเกมสักเกม หรือภาพยนตร์สักเรื่อง หลายคนก็มักจะทำเหมือนว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่ และมีสิทธิ์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
แน่นอนว่าการตกเป็นเหยื่อจริง ๆ ก็มีเยอะ เช่น มิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีจนหมด อันนี้ก็ดูสมเหตุสมผลที่จะขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นการพยายามทำให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ โดยทำให้ตัวเองดูเป็นเหยื่อ เช่น ไรเดอร์ส่งของช้าไป 5 นาที แล้วโวยวายลง Social Media ว่าถูกเอาเปรียบ แบบนี้ผมว่าสังคมคงอยู่กันยากทีเดียว
ผู้เขียนบอกว่า กรณีเหยื่อปลอมแบบนี้ จะค่อย ๆ ดึงความสนใจไปจากผู้รับเคราะห์ตัวจริงที่เสียหายมาก ๆ และแม้ว่านี่จะเป็นความเปิดกว้างของสังคมประชาธิปไตย ที่เราอาจไม่ชอบบางมุมมองบ้าง แต่อย่างน้อยเราก็ควรเลือกสนามรบอย่างฉลาด เสพข่าวด้วยการตั้งข้อสงสัย และอย่าเหมารวมคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราว่าพวกเขาก็เหมือนกันหมด
หลังจากอ่านบทดังกล่าวจบ ผมก็ได้ข้อคิดออกมาครับว่า “จงใส่ใจให้ถูกเรื่อง อย่าเปลืองพลังงานกับสิ่งไร้สาระ” เพราะแม้ผู้เขียนจะบอกให้เราตั้งข้อสงสัยกับเรื่องต่าง ๆ เสมอ แต่เราก็คงตั้งข้อสงสัยกับทุกเรื่องบนโลกไม่ไหวอีกเช่นกัน
แน่นอนว่าเราคงไปห้ามคนพูดไม่ได้ แต่เรามีสิทธิ์เพิกเฉยกับเรื่องที่ไม่มีสาระได้ (ถ้าใช้คำที่เกี่ยวกับชื่อหนังสือหน่อยก็คือ “ช่างแม่งบ้างก็ได้”)
ตัวอย่างที่ไร้สาระมากสำหรับผม แต่เพื่อนผมพยายามทำให้ตัวเองดูเป็นเหยื่อคือ เธอเล่าให้ฟังว่าเธอสั่งเคสโทรศัพท์จาก Instragram ในวันเสาร์ และทางร้านบอกว่าจะส่งของให้กับขนส่งในวันจันทร์ ทำให้เธอเดือดดาลด่าทอแบบเคียดแค้นมาก เพียงเพราะเธออยากได้เคสนั้นเร็ว ๆ เท่านั้นเอง กรณีนี้ผมก็ไม่ได้เก็บมาคิดอะไรนะครับ แค่ปล่อยผ่านไปเฉย ๆ
แม้ผมจะตัดสินไม่ได้ว่าเรื่องไหนไร้สาระ หรือมีสาระ แต่อย่างน้อยให้พยายามตรวจสอบดูสักหน่อยครับว่าเราควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไหม ถ้าไม่ (แล้วคุณจะตกใจที่ส่วนใหญ่ไม่สำคัญ) ก็ “ช่างแม่ง” ไปบ้างครับ
ชื่อหนังสือ: #ชีวิตติดปีกด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง
ชื่อสำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์บิงโก
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา