20 ก.พ. 2023 เวลา 17:34 • การ์ตูน

อาจารย์เลอิจิ มัตซึโมโตะ ผู้กำกับเรือรบอวกาศยามาโตะ เสียชีวิตแล้วในวัย 85 ปี

อาจารย์เลอิจิ มัตซึโมโตะ หนึ่งในนักเขียนผู้บุกเบิกวงการ Space Opera แห่งประเทศญี่ปุ่น เสียชีวิตแล้วในวัย 85 ปี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
2
ในช่วงปลายยุคของโครงการ Apollo ช่วงเดียวกันกับสภานีอวกาศสการแล็บ สถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา และช่วงเวลาของภารกิจการทดสอบอะพอลโล-โซยุซ ที่ได้มีการจับมือกันเป็นครั้งแรกระหว่างนักบินอวกาศในอวกาศของทั้งสองชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นการลดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติ ในขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างประเทศญี่ปุ่น นับได้ว่าเป็นยุคที่เรื่องแต่งแนววิทยาศาสตร์เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เด็ก ๆ ที่ “เด็ก” ในยุคนั้นอาจมีอายุราว 60 ปีแล้วในวันนี้
ในตอนนั้น ได้มีทั้งหนังสือการ์ตูน แอนิเมชัน ละครทีวี และภาพยนตร์มากมายที่ได้ใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์เป็นโครงหลักในการเล่าเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ 宇宙戦鑑ヤマト หรือในชื่อภาษาไทยอย่าง “เรือรบอวกาศยามาโตะ” นับได้ว่าเป็นหนึ่งในชุดแอนิเมชันอันโด่งดังแห่งยุค เรื่องราวที่ว่าการผจญภัยในอวกาศเพื่อต่อสู่กับมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นจากต่างดาวและช่วยเหลือโลกด้วยยานอวกาศที่ได้อ้างอิงจากเรือรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเรือประจัญบานยามาโตะ
แม้เนื้อเรื่องของเรือรบอวกาศยามาโตะอาจดูเป็นสูตรสำเร็จของการเล่าเรื่องแต่งสายคุณธรรมที่ธรรมะย่อมชนะอธรรม และดูชาตินิยมในยุคปัจจุบัน แต่ด้วยความที่มันมีเอกลักษณ์อย่างยานอวกาศของเรื่อง จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยหากเป็นที่ชื่นชอบโดยเด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่น และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จครั้งใหญ่ของอาจารย์เลอิจิ มัตซึโมโตะในฐานะผู้กำกับ
ทำให้ในเวลาต่อมาเรือรบอวกาศยามาโตะได้ถูกสร้างภาคต่อและแอนิเมชันฉายโรงภาพยนต์อีกหลายชุด และได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายต่อในสหรัฐอเมริกาในชื่อ “Star Blazers” และในบ้านเรา ทางไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เคยนำเข้ามาฉายในชื่อ “สตาร์เบลเซอร์ ตลุยอวกาศ” ซึ่งคนไทยที่เคยดูตอนฉายครั้งแรกอาจอยู่ในช่วงอายุราว 50 ปีขึ้นไปแล้วในทุกวันนี้
1
ผลงานของอาจารย์มัตซึโมโตะ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ได้สร้างความสำเร็จให้กับเรื่องเล่าแนววิทยาศาสตร์และวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นมาแล้วอีกหลายเรื่อง และเรื่องโด่งดังในระดับเดียวกันกับเรือรบอวกาศยามาโตะคือ “สลัดอวกาศ กัปตันฮาร็อค” ที่ว่าด้วยการผจญภัยในอวกาศคล้ายผลงานชิ้นก่อนหน้า แต่ปรับพื้นหลังของเรื่องให้อยู่ในแนวโจรสลัด และ “รถด่วนอวกาศ 999” ที่ใช้หัวรถจักรไอน้ำมาดำเนินเรื่องราวการผจญภัยในอวกาศ ซึ่งทั้งสองเรื่องจะเป็นที่นิยมในโลกตะวันตกมากกว่าเรือรบอวกาศยามาโตะ
และหากให้พูดถึงผลงานชิ้นอื่นที่มีความโดดเด่นอีกชิ้นที่ไม่พูดก็อาจฟังดูน่าเสียดาย ตัวอาจารย์มัตซึโมโตะยังได้ร่วมงานกับวงดนตรีสายเทคโนแดนซ์อย่าง Daft Punk ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์แอนิเมชั่นสายเพลงอย่าง “Interstellar 5555” เป็นชิ้นงานที่ได้ดึงเอกลักษณ์ของทั้งอาจารย์และวงดนตรีอย่างชัดเจน นอกจากนี้แล้วตัวอาจารย์เองยังได้มีส่วนรวมในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในสายตาของคนนอกเกาะญี่ปุ่น
อาจารย์มัตซึโมโตะในมุมมองของผู้คนที่ชื่นชอบในเรื่องราวที่ใช้อวกาศเป็นพื้นหลังของการเล่าเรื่อง นับได้ว่าเป็นหนึ่งในบุคคนสำคัญของวงการที่ได้สร้างผลงานที่น่าทึ่งและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย ที่ทำให้หลายคนได้เป็นนักเขียน นักวาด นักดาราศาสตร์ หรือแม้แต่ผู้กับกับที่ยิ่งใหญ่หลายท่านที่ยังคงสร้างผลงานจนถึงทุกวันนี้
ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่บังเอิญได้ผ่านมาพบจนได้เป็นแฟนคลับของชุดแอนิเมชันเรือรบอวกาศยามาโตะ ขอขอบคุณอาจารย์มัตซึโมโตะที่ได้สร้างสรรค์ผลงานที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนส่วนหนึ่งได้มีความสนใจในการสำรวจอวกาศ แม้ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมที่รุนแรงให้กับการสำรวจอวกาศ แต่ผลงานของอาจารย์จะเป็นจะถูกจดจำในฐานะแรงกระตุ้นเล็ก ๆ ที่คอยผลักดันการสำรวจอวกาศในญี่ปุ่นและมนุษยชาติต่อไป
2
โฆษณา