22 ก.พ. 2023 เวลา 04:14 • การศึกษา

ภาระภาษีเงินได้ของคนตาย!

บุคคลธรรมดา แม้จะถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่ถ้าในปีที่ถึงแก่ความตาย ผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ผู้ตายนั้นก็มีหน้าที่เสียภาษีเฉกเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป
เมื่อ "ผู้ถึงแก่ความตาย" เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กล่าวคือเป็นหน่วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Tax Unit) ด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้ทายาท หรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกมีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีแทนผู้ถึงแก่ความตายนั้น
เมื่อ "ผู้ถึงแก่ความตาย" เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาแล้ว ปัญหาต่อไปคือ เงินได้ที่ผู้ถึงแก่ความตายต้องนำมาเสียภาษีนั้น ต้องนำเงินก้อนใดบ้างมายื่นรายการเพื่อเสียภาษี ในขณะที่ตามหลักกฎหมายแพ่ง มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
ผลตามกฎหมายในเรื่องมรดก ตัวอย่างเช่น นายหนึ่งตาย มีนายสองเป็นทายาท นายหนึ่งมีบ้านหนึ่งหลังให้เช่าคิดค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท บ้านหลังดังกล่าวย่อมเป็นมรดกและตกทอดแก่นายสอง ส่วนค่าเช่าหลังจากที่นายหนึ่งตายก็ย่อมตกเป็นของนายสองเช่นกันเป็นเป็นดอกผลของบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกนั่นเอง
แต่ผลในทางกฎหมายภาษีจะแตกต่างออกไป จากตัวอย่างด้านบน บ้านเป็นมรดกตกทอดแก่นายสอง (ในส่วนนี้นับว่านายสองมีเงินได้ แต่เงินได้ส่วนนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)) ส่วนค่าเช่าบ้านในปีที่นายหนึ่งตายนั้นยังต้องนับว่าเป็นเงินได้ของหนึ่งต่อไปตลอดปีภาษีนั้น (ปีภาษีนับตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. ของทุกปี) ดังนั้น เงินค่าเช่าบ้านในปีที่นายหนึ่งตายจึงต้องนำมายื่นรายการเพื่อเสียภาษีในนามนายหนึ่งผู้ถึงแก่ความตาย
ส่วนค่าเช่าบ้านในปีหลังจากปีที่นายหนึ่งตาย จะต้องนำมาเสียภาษีในนามเงินได้ของ "กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง" หรือในนามเงินได้ของนายสอง ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแล้วแต่กรณี
เช่นนี้ผู้อ่านทุกท่านคงพอเข้าใจภาระภาษีของคนตายแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยคำที่ว่า
In this world nothing is certain but death and taxes.
Benjamin Franklin
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : https://www.bsru.ac.th/
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : https://www.facebook.com/SchoolofLawBSRU
โฆษณา