22 ก.พ. 2023 เวลา 23:13 • ประวัติศาสตร์

"ฉินฮุ่ย" ขุนนางเลวที่ทำให้แม่ทัพ "งักฮุย" ต้องจบชีวิตลง

และที่มาของขนม "ปาท่องโก๋"
ในปัจจุบัน
ฉินฮุ่ยเกิดในรัชสมัยของฮ่องเต้ซ่องเจ๋อจงแห่งราชวงศ์ซ่ง ตรงกับปี ค.ศ.1090 โดยเป็นบุตรปลัดอำเภอในเมืองเจียงหนิง(หนานจิงในปัจจุบัน) ในวัยเด็กของฉินฮุ่ยนั้นเขามีร่างกายที่เล็กกว่าเด็กวัยเดียวกันจึงทำให้ต้องกลายเป็นลูกไล่ของเพื่อนๆ คอยวิ่งไปซื้อของ หรือทำตามสั่งเพื่อนที่ตัวใหญ่กว่าเสมอ ทั้งหมดที่ฉินฮุ่ยทำไปนั้นก็เพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นเป้าถูกรังแก ซึ่งฉินฮุ่ยก็ทำหน้าที่ได้ดีจนเพื่อนๆ ให้ฉายาว่า “นักวิ่งประจำกลุ่ม”
ฉินฮุ่ยสอบด้เป็นข้าราชการ ในวัย 26 ปี โดยในขณะนั้นราชวงศ์ซ่งถูกกองทัพชาวแมนจูรุกรานจนบ้านเมืองระส่ำระส่าย ในการสอบข้อเขียนนั้นฉินฮุ่ยได้เขียนข้อแนะนำในการรับมือกับกองทัพจินว่าราชวงศ์ซ่งนั้นจำเป็นที่จะต้องสรรหาบุคคลมีฝีมือในด้านต่างๆ มาใช้ในการขับไล่กองทัพจินให้ถอยออกไป
อีกทั้งยังแนะนำให้ราชสำนักปรับปรุงในเรื่องความเด็ดขาดในการใช้อำนาจ ข้อเสนอของฉินฮุ่ยในข้อสอบนั้นได้สร้างความประทับใจให้แก่ราชสำนักเป็นอย่างมากจนได้คะแนนระดับสูง แต่ทว่าโอกาสของฉินฮุ่ยนั้นยังไม่เปิด เขาได้ถูกส่งไปรับตำแหน่งบัณฑิตในท้องที่ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ ฉินฮุ่ยทำงานอยู่ในชนบทระยะหนึ่งจนมีการสอบเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งคราวนี้ฉินฮุ่ยก็ทำคะแนนได้สูงอีกเช่นเคยจึงถูกย้ายมาให้ประจำการในโรงเรียนมหาดเล็กภายในเมืองหลวงในตำแหน่งอาจารย์นับตั้งแต่นั้นมา
ในปี ค.ศ.1125 ขณะที่ฉินฮุ่ยอายุได้ 35 ปี กองทัพจินได้กรีธาทัพเข้ามายึดหัวเมืองสำคัญทางภาคเหนือได้เกือบหมด และส่งทัพเข้ามาเพื่อตีเมืองหลวงทำให้ฮ่องเต้ซ่งฮุยจงต้องทิ้งราชบัลลังก์เพื่อหนีเอาชีวิตรอดลงภาคใต้
ทำให้บัลลังก์นั้นตกเป็นของพระโอรสและขึ้นเป็นฮ่องเต้ที่มีพระนามว่า “ซ่งชินจง” ฉินฮุ่ยได้เขียนหนังสือแนะนำให้ฮ่องเต้ซ่งชินจงเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งข้อเสนอของฉินฮุ่ยนั้นได้สร้างความประทับใจให้ฮ่องเต้เป็นอย่างมาก จนถึงขนาดเรียกตัวฉินฮุ่ยเข้ามาพูดคุยเป็นการส่วนพระองค์พร้อมกับเลื่อนตำแหน่งให้ฉินฮุ่ยมาเป็นที่ปรึกษาด้านการทหารส่วนพระองค์
ในข้อเสนอของฉินฮุ่ยที่แนะนำให้ฮ่องเต้ซ่งชินจงนั้น ใจความหลักคือการเจรจาเพื่อยุติศึกโดยเสนอมอบดินแดนบางส่วนให้กับกองทัพจิน ฮ่องเต้ซ่งชินจงจึงแต่งตั้งให้ฉินฮุ่ยเป็นทูตเพื่อไปเจรจาสงบศึก
ในการเจรจานั้นฉินฮุ่ยได้แสดงความนอบน้อมกับแม่ทัพจินอย่างมากจนแม่ทัพจินนั้นมองออกว่าน่าจะใช้ประโยชน์ในตัวฉินฮุ่ยได้ จึงยอมตกลงที่จะรับดินแดนทั้ง 3 ที่ราชวงศ์ซ่งนั้นจะมอบให้เพื่อแลกกับการสงบศึก การเจรจานั้นมีทีท่าว่าจะไปได้สวยแต่ทว่าในวันพิธีส่งมอบ ฮ่องเต้ซ่งชินจงกลับเปลี่ยนพระทัยไม่ยอมยกเมืองให้ตามข้อตกลง ทำให้แม่ทัพจินนั้นโมโหอย่างมากจึงจับคณะทูตที่มีทั้งเชื้อพระวงศ์ที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ขุนนาง ไว้เป็นตัวประกันและปล่อยตัวฉินฮุ่ยกลับไปเพื่อนำข้อความไปกราบทูลฮ่องเต้
การที่ฉินฮุ่ยถูกปล่อยตัวกลับไปนั้นก็ยิ่งทำให้ฮ่องเต้ซ่งชินจงมอบความไว้วางใจให้กับฉินฮุ่ยเป็นอย่างมาก เพราะมันแสดงถึงความมีไหวพริบในการเจรจาจนให้แม่ทัพจินไว้วางใจจนต้องปล่อยตัวกลับมา คราวนี้ฉินฮุ่ยได้รับขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ เริ่มจากการนั่งในเก้าอี้รองราชเลขาธิการและต่อมาก็เลื่อยเก้าอี้ราชเลขาธิการด้วยการให้เป่าหูฮ่องเต้และในที่สุดฉินฮุ่ยก็ได้ขึ้นนั่งในตำแหน่งราชเลขาธิการในที่สุด
ผลของการเปลี่ยนใจไม่ยกดินแดนให้กับกองทัพจินในคราวนั้นส่งผลให้ในปี ค.ศ.1126 กองทัพจินจัดทัพมาไล่ตีหัวเมืองต่างๆ จนกระทั่งสามารถตีเมืองหลวงแตกได้ภายใน 3 เดือน ฮ่องเต้และเชื้อพระวงศ์นั้นถูกปลดลงไปเป็นสามัญชนและถูกต้อนกลับไปยังอาณาจักรจิน ซึ่งก่อนที่จะไปนั้นแม่ทัพจินได้มีการตั้งให้ “จางปางชาง” อดีตอัครมหาเสนาบดี(เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) เป็นฮ่องเต้พระองค์ใหม่ซึ่งเป็นเหมือนหุ่นเชิดให้กับกองทัพจินคอยดูแลบ้านเมือง
ฉินฮุ่ยได้รับการไหว้วานจากขุนนางที่ยังภักดีต่อราชวงศ์ซ่ง ให้ช่วยเจรจาให้กองทัพจินแต่งตั้งคนแซ่จ้าว ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์ซ่งให้มาปกครองแทนเนื่องจากไม่อยากให้อำนาจตกไปอยู่กับคนธรรมดาและชาวเมืองอาจจะเกิดการไม่ยอมรับ ซึ่งฉินฮุ่ยก็เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับตนเองถ้าเจรจาสำเร็จ จึงได้ร่างหนังสือส่งไปให้แม่ทัพจิน แต่หนังสือที่ส่งไปนั้นทำให้แม่ทัพจินนั้นโมโหเห็นว่าฉินฮุ่ยไม่เคารพในการตัดสินใจจึงสั่งจับฉินฮุ่ยกลับไปยังอาณาจักรจินด้วย ถึงแม้ว่าจะถูกจับไปเป็นเชลย
ชีวิตของฉินฮุ่ยถ้าเทียบกับขุนนางและบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ถูกจับมาด้วยกัน ฉินฮุ่ยนั้นดูเหมือนว่าจะโชคดีกว่าคนอื่นๆ เพราะได้รับการดูแลที่ดีกว่า มีอิสระมากกว่าและที่สำคัญยังได้รับใช้รองแม่ทัพจินนาม “ต้าหลาน” อย่างใกล้ชิดในฐานะอาจารย์ของลูกชายคอยสอนหนังสือ ซึ่งลูกชายของต้าหลานนั้นมักจะสั่งให้ฉินฮุ่ยคลานสี่เท้าพร้อมกับขึ้นไปขี่บนหลังและเอาไม้โบยก้นเหมือนกับขี่ม้า โดยที่ฉินฮุ่ยก็แสร้งทำเป็นว่าสนุกไปด้วย
คังอ๋องพระโอรสองค์ที่ 9 ของฮ่องเต้ซ่งฮุยจงได้หนีรอดจากการถูกวาดต้อนของกองทัพจินไปได้และได้ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้พระองค์ใหม่และยังได้ตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ซ่งใต้ มีการย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองหลินอัน(ปัจจุบันคือหางโจว) ซึ่งข่าวนี้ก็ได้ยินไปถึงฮ่องเต้ซ่งชินจงและฮองเฮาที่ถูกจับไปเป็นเชลยในอาณาจักรจิน
ฮ่องเต้ซ่งชินจงจึงเสนอกับกษัตริย์จินว่าจะกลับไปเจรจาเพื่อให้ฮ่องเต้ซ่งเกาจงมาสวามิภักดิ์กับอาณาจักรจิน แต่กษัตริย์จินนั้นไม่ยินยอมเพราะเหมือนปล่อยเสือเข้าป่า กษัตริย์จินจึงมาปรึกษากับ “ต้าหลาน” รองแม่ทัพว่าจะทำอย่างไรดี และเรียกฉินฮุ่ยเข้ามาพูดคุยพร้อมกับบอกว่าจะปล่อยฉินฮุ่ยและภรรยากลับไปแต่จะแสร้งเป็นว่าหนีออกไปได้ พร้อมกับกำชับว่า “เจ้ารู้นะว่าต้องทำอย่างไรเมื่อกลับไปถึง” แน่นอนว่าคนสอพลอแบบฉินฮุ่ยนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก
หลังจากถูกจับไปเป็นเชลยโดนเด็กโขกสับไม่ต่างจากเป็นของเล่นกว่า 4 ปี การกลับมาครั้งนี้ฉินฮุ่ยจึงตั้งความหวังไว้ว่าจะต้องตักตวงเอาอำนาจทุกอย่างมาให้มากที่สุด ทันทีที่เท้าเหยียบเข้าราชอาณาจักร ฉินฮุ่ยก็เบ่งใส่ทหารก่อนเลยว่าตนคืออดีตราชเลขาธิการที่ถูกจับตัวไปและสั่งให้หาอาหารดีๆ มารับรองก่อนจะนั่งเกี้ยวไปเข้าเฝ้าฮ่องเต้พระองค์ใหม่เพื่อรายงานความเป็นอยู่ของฮ่องเต้ทั้งสองพระองค์และพระมารดาของฮ่องเต้ซ่งเกาจงที่ถูกกวาดต้อนไป ซึ่งฮ่องเต้ซ่งเกาจงนั้นเป็นห่วงพระมารดาเป็นอย่างมาก
1
ฉินฮุ่ยได้ยินดังนั้นก็จับจุดได้จึงเห็นทางในการประเคนอาณาจักรให้กับพวกจิน เลยทูลฮ่องเต้ไปว่าหนทางที่จะนำพระมารดาของฮ่องเต้กลับมาก็คือการยอมเจรจาสงบศึกและสวามิภักดิ์กับพวกจินซะ เมื่อได้ฟังดังนั้นฮ่องเต้ซ่งเกาจงก็มีทีท่าเห็นด้วยกับฉินฮุ่ย แต่เหล่าขุนนางก็คัดค้านว่าฮ่องเต้ไม่ควรนำเรื่องส่วนพระองค์มาปะปนกับอนาคตของอาณาจักร ข้อเสนอนี้ของฉินฮุ่ยจึงถูกพักไป และเพื่อเป็นการรับขวัญฉินฮุ่ย ฮ่องเต้จึงตั้งให้เป็นขุนนางอีกครั้งหนึ่ง
ฉินฮุ่ยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เข้าใกล้ฮ่องเต้
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเข้าทางเพราะฮ่องเต้มักมีรับสั่งให้ฉินฮุ่ยเข้าเฝ้าเพื่อถามไถ่เรื่องราวของพระมารดาอยู่เสมอ ซึ่งฉินฮุ่ยก็อาศัยจังหวะนี้ในการแนะนำการบริหารบ้านเมืองพร้อมทั้งประจบฮ่องเต้ จนในที่สุดฉินฮุ่ยก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดีพร้อมกับได้สิทธิ์ในการดูแลเรื่องการทหาร ซึ่งเมื่อมารับตำแหน่งฉินฮุ่ยก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันแต่ทว่าแท้จริงนั้นฉินฮุ่ยฝีมือไม่เก่งเท่าฝีปาก ไม่นานนักก็ถูกปลดไปเป็นอาจารย์ในโรงเรียนมหาดเล็ก
ต่อมาในปี ค.ศ.1133 กองทัพจินได้แต่งกองทัพเข้ามารุกรานอีกครั้ง ซึ่งการสู้รบในแต่ละครั้งนั้นก็ทำให้ฮ่องเต้ซ่งเกาจงรู้ว่ากองทัพของตนนั้นอ่อนด้อยไม่สามารถต้านทานกองทัพจินได้เลยและกองทัพจินก็แสดงเจตนาว่าไม่อยากรบให้แตกหัก ได้ส่งทูตเข้ามาเจรจาสงบศึกพร้อมกับข้อเสนอขอดินแดนบางส่วน ซึ่งหน้าที่ในการเจรจานั้นแน่นอนว่าต้องเป็นฉินฮุ่ยอย่างแน่นอน
การเจรจาในครั้งนี้ลุล่วงไปได้ด้วยดี กองทัพจินนั้นได้ตามข้อเสนอเพื่อแลกกับการหยุดโจมตี ฮ่องเต้ซ่งเกาจงได้ยอมยกดินแดนบางส่วนให้ไป ในช่วงนี้เองฉินฮุ่ยกลับมารับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีอีกครั้ง และยังลอบส่งจดหมายลับไปให้อาณาจักรจินถึงแผนการครอบครองราชวงศ์ซ่งใต้ซึ่งจะใช้พระมารดาของฮ่องเต้ซ่งเกาจงเป็นข้อแลกเปลี่ยน
การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในครั้งนี้ฉินฮุ่ยตั้งใจว่าจะจัดการเสี้ยนหนามของตนเองให้หมดโดยมีกองทัพจินคอยสนับสนุน ซึ่งในการดำรงตำแหน่งของฉินฮุ่ยนั้นหากฮ่องเต้มีทีท่าว่าจะปลดฉินฮุ่ยออกตามคำแนะนำของขุนนางและแม่ทัพคนอื่นๆ ฉินฮุ่ยก็จะส่งม้าเร็วไปยังกองทัพจินที่ตั้งคุมเชิงอยู่นอกอาณาจักรให้จัดทัพรอเอาไว้เพื่อขู่ฮ่องเต้ พร้อมย้อนศรกลับไปเป่าหูให้ฮ่องเต้ปลดขุนนางที่มาฟ้องด้วยการยกข้ออ้างที่ว่า ฉินฮุ่ยเป็นคนเดียวที่จะทำให้ฮ่องเต้ได้พบกับมารดาอีกครั้งหนึ่ง
นั่นก็รวมไปถึง “งักฮุย” แม่ทัพที่เก่งกาจที่สุดในกองทัพของซ่งใต้ในตอนนั้น ที่ถูกลิ้นอาบยาพิษของฉินฮุ่ยตวัดจนถูกปลดออก ซึ่งการปลดงักฮุยออกนั้นฮ่องเต้ซ่งเกาจงถึงขนาดต้องใช้ป้ายอาญาสิทธิ์ถึง 12 อันในการเรียกตัวงักฮุยที่กำลังติดพันศึกอยู่แนวหน้ากลับมา
เพื่อรับคำสั่งขัง ฉินฮุ่ยก็ส่งมือสังหารไปลอบสังหารงักฮุยและบุตรชายผู้เป็นขุนศึกคู่ใจถึงในคุก คราวนี้ก็เท่ากับว่าทั้งอาณาจักรนั้นตกอยู่ในมือของฉินฮุ่ยไปโดยปริยาย แน่นอนว่าเมื่อขาดแม่ทัพฝีมือดีที่สุดไปราชวงศ์ซ่งใต้ก็ไม่ต่างจากกวางที่ถูกเสืออย่างกองทัพจินไล่ขย้ำอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งฉินฮุ่ยก็รอจังหวะนี้อยู่แล้วจึงเสนอให้ฮ่องเต้ซ่งเกาจงทำการแลกดินแดนกับพระมารดาและสงบศึกซะ
ฮ่องเต้ซ่งเกาจงไม่มีทางเลือกและต้องการพบหน้าพระมารดาจึงตกลงตามนั้น ผลก็คือกองทัพจินได้รับดินแดนครึ่งหนึ่งของราชวงศ์ซ่งใต้เพื่อแลกกับการสงบศึกและปล่อยตัวพระมารดาของฮ่องเต้ซ่งเกาจง
1
จุดจบขุนนางชั่ว "ฉินฮุ่ย"
จากผลงานการ “ทรยศ” ของฉินฮุ่ยนั้นได้ทำให้ฮ่องเต้ซ่งเกาจงและพระมารดาซาบซึ้งพระทัยเป็นอย่างมากที่ทำให้สงครามจบสิ้นและแม่ลูกได้พบหน้ากัน จึงได้มอบตำแหน่งต่างๆ ให้เพื่อสดุดีไม่ว่าจะเป็นมหาราชครู หรือตำแหน่งเชิดชูอย่าง “ผู้มีคุณต่อแผ่นดิน” และรับสั่งให้สร้างศาลเจ้าประจำตระกูลให้ และยังเลยเถิดไปถึงการให้จิตรกรหลวงวาดภาพไปประดับที่ศาลเจ้าเพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้อีกด้วย
ฉินฮุ่ยเมื่อได้รับทั้งตำแหน่งเชิดชูและอำนาจมาแถมทั้งฮ่องเต้และพระมารดาให้การสนับสนุนอีก จึงได้จัดการเขี่ยคนที่เห็นว่าไม่ใช่พวกเดียวกันออกจากราชสำนักให้หมด และตั้งญาติพี่น้องรวมไปถึงคนที่ตนไว้ใจให้มานั่งในตำแหน่งที่สำคัญโดยไม่สนว่าจะทำงานเป็นหรือไม่
แน่นอนว่าการกระทำของฉินฮุ่ยในสายตาของประชาชนทั่วไปนั้นมองคนละแบบกับฮ่องเต้ พวกชาวบ้านนั้นเคียดแค้นฉินฮุ่ยมากขึ้นตั้งแต่ครั้งที่เป่าหูฮ่องเต้ให้เรียกตัวงักฮุยกลับมาจนเป็นเหตุให้แม่ทัพคู่แผ่นดินต้องตายอย่างอนาถในคุก จนเป็นเหตุให้เสียแผ่นดิน แต่อำนาจที่มากล้นของฉินฮุ่ยทำให้ไม่มีใครกล้าออกมาโวยวาย
ในระหว่างที่กำลังทรมานผู้ไม่ใช่พวกของตนเพื่อเค้นข้อมูลอยู่นั้น จู่ๆ ฉินฮุ่ยก็ล้มลงชักจนหมดสติและเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ ก่อนที่จะหมดลมหายใจไปเฉยๆ ในวันถัดมา การตายของฉินฮุ่ยนั้นสร้างความเสียใจให้กับฮ่องเต้ซ่งเกาจงเป็นอย่างมากจนถึงขนาดแต่งตั้งให้ฉินฮุ่ยเป็น “ท่านอ๋องแห่งเซิน” เพื่อเป็นการเชิดชูให้กับคุณงามความดีของฉินฮุ่ย(ในสายตาฮ่องเต้)
แต่ในเมืองนั้นเหมือนเป็นโลกคู่ขนาน ชาวเมืองที่ได้รับรู้ข่าวการตายของฉินฮุ่ยต่างโห่ร้องด้วยความดีใจที่กังฉินขายชาติได้ตายไปเสียที จนถึงขนาดมีคนปั้นแป้งเป็นแท่ง 2 แท่งประกบกันเพื่อเป็นตัวแทนของ ฉินฮุ่ยและภรรยา เอาลงไปทอดในน้ำมันแล้วนำมากัดกินเพื่อให้หายแค้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกินที่มีชื่อว่า “ปาท่องโก๋” นั่นเอง
การตายของฉินฮุ่ยนั้นแม้ว่าจะได้รับการเชิดชูในช่วงแรกๆ ที่ตายไป แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยของฮ่องเต้ซ่งเกาจง ตระกูลฉินก็หมดวาสนาเมื่อฮ่องเต้ซ่งเซี่ยวจงได้ปลดลูกหลานตระกูลจินออกจากราชสำนักทั้งหมดพร้อมกับปลดบรรดาศักดิ์ออกด้วย
แต่ทว่าในภายหลังอาณาจักรจินได้ยกทัพมาอีกครั้งเพื่อกดดันให้ราชสำนักคืนเกียรติให้กับฉินฮุ่ย ซึ่งในสายตาของกองทัพจินนั้นเห็นว่าฉินฮุ่ยนั้นเป็นเหมือนกับเพื่อนสนิทที่ช่วยให้อาณาจักรเป็นรูปเป็นร่าง โดยแตกต่างกับเพื่อนร่วมชาติที่มองว่าฉินฮุ่ยนั้นคือขุนนางกังฉินที่ขายแผ่นดินเพื่อความสุขของตนเอง
ต่อมา 300 ปีให้หลังมีการสร้างรูปปั้นของฉินฮุ่ยและภรรยาไว้ที่หน้าศาลของงักฮุยเพื่อให้คนที่เข้าไปไหว้ได้ออกมาถ่มน้ำลายใส่รูปปั้น ซึ่งในประวัติศาสตร์จีนนั้นไม่มีกังฉินคนใดที่จะถูกชาวจีนเกลียดชังได้เท่านี้มาก่อนเลย
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอบคุณที่มา, เครดิต : Spokedark TV.
โฆษณา