2 มี.ค. 2023 เวลา 10:47 • ธุรกิจ

คุณเคยได้ยินคำว่า one trick pony ไหมครับ

จั่วหัวขึ้นมาด้วยการถามคำถามแปลกๆ
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ได้กำลังจะเปลี่ยนบทความผมจากเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจไปเป็นบทความเกี่ยวกับการสอนภาษาแต่อย่างใด
เพียงแต่ประโยคนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการการเรียนรู้ที่ผมพูดถึงไปในวันก่อน และผมเห็นว่าเหมาะกับการนำมาใช้เพื่อชยายความเพิ่มเติมในสิ่งที่ผมพูดถึงเกี่ยวกับการเรียนรู้เมื่อคุณทำธุรกิจหน่ะครับ
แล้วไอ้คำว่า one trick pony มันคืออะไร แล้วมันเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้อย่างไรหน่ะเหรอครับ…ผมขยายความเพิ่มเติมอย่างนี้ละกันครับ
One trick pony…น้องม้าท่าเดียว
One trick pony เป็นวลีภาษาอ้งกฤษ ที่ถ้าแปลตรงๆก็อย่างที่บอกเลยครับ ม้าท่าเดียว…
หลายๆท่านอาจจะคุ้นเคยกับวลีนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับบางท่านที่อาจจะไม่คุ้นหรือเพิ่งเคยได้ยิน พูดเป็นภาษาง่ายๆแบบบ้านๆ วลีนี้ก็พูดถึงคนที่ทำอะไรเป็นอยู่อย่างเดียว ทำอะไรซ้ำๆอยู่อย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้หรือไม่เชี่ยวชาญเลยหน่ะครับ
ผมเดาเอาว่า อธิบายอย่างนี้ คุณคงพอนึกภาพออกหรือเผลอๆมีภาพของคนบางคนอยู่ในใจบ้าง…ใช่ไหมครับ
เพราะการทำงานประจำ มีแนวโน้มที่จะทำให้เราเป็น one trick pony…
บอกอย่างนี้ ก่อนที่จะขยายความต่อไป ผมต้องออกตัวก่อนนะครับว่า นี่เป็นความคิดเห็นจากประสบการณ์การทำธุรกิจและการทำงานประจำของผม ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากคุณหรือท่านอื่นก็ได้
นอกจากนี้ กฏทุกกฏ แนวโน้มหรือความน่าจะเป็นทุกอย่าง ย่อมมีข้อยกเว้นนะครับ
คุณอาจจะเคยพบเจอหรือมีประสบการณ์ที่แตกต่างกับผมซึ่งกำลังพูดถึงความน่าจะเป็นในภาพรวมครับ
เอาเป็นว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์ แชร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่หวังว่าจะเป็นหระโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
แล้วผมหมายความว่าอย่างไรหน่ะหรือครับ…ผมอธิบายอย่างนี้ครับ
ด้วยความที่การทำงานประจำ เราทำงานอยู่ในองค์กร อยู่ในกรอบที่ค่อนข้างมีแบบแผน ชัดเจนแล้ว
ความคาดหวังในความรับผิดชอบของเราและคนอื่นๆในองค์กร จึงมักจะอยู่กับเนื้องานหรือความเชี่ยวชาญที่เฉพาะเจาะจงเป็นส่วนใหญ่
เช่น คุณอาจจะทำงานในแผนกบัญชีการเงินเหมือนผม หรืออาจจะอยู่ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ซึ่งแต่ละคนก็มีหน้าที่ ความรับผิดชอบในส่วนงานของตนแยกจากกันอย่างชัดเจน
ต่อให้คุณอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นมาหน่อย ในระดับบริหาร
แต่หน้างานที่คุณดูแลรับผิดชอบ ความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่คุณจะดูแลแผนกใดแผนกหนึ่งเป็นหลักอยู่ดี ยกเว้นคุณจะดูงานภาพรวมอย่างตำแหน่ง GM หรือ MD…ใช่ไหมครับ
และคุณก็มีแนวโน้มที่จะเป็น one trick pony เช่นกัน…ตอนคุณมาทำธุรกิจ
พอพูดมาถึงตอนนี้ หลายๆท่านอาจจะงง เอ๊ะ ไหนบอกว่าพอเรามาทำธุรกิจ เราจะต้องดูแลงานหลายส่วน แก้ปัญหาหลายจุด และจะทำให้เรากลายเป็นคนรู้ลึก รู้กว้างในท้ายที่สุด
ผมก็ยังยืนยันคำเดิมครับว่าใช่
การทำธุรกิจจะทำให้คุณกลายเป็นคนรู้ลึก รู้กว้างในท้ายที่สุด…แต่ความสำคัญ จากประสบการณ์ของผมนะครับ อยู่ตรงคำว่า “ในท้ายที่สุด” นี่แหละครับ
หมายความว่าอย่างไรหน่ะเหรอครับ
ผมอธิบายเพิ่มเติมอย่างนี้ละกันครับ เราทุกคนมีจุดแข็งอยู่ในตัว มีทักษะเฉพาะด้านที่เราเชี่ยวชาญอยู่
เมื่อเราพบเจอปัญหาใหม่ๆ หรือเมื่อคุณเจอเรื่องที่คุณไม่เคยเจอมาก่อน ถ้าผมบอกว่า เมื่อคุณจะต้องแก้ปัญหานั้น คุณมีแนวโน้มที่จะใช้ทักษะที่เป็นจุดแข็งเข้าแก้ปัญหา…คุณเชื่อไหมครับ
ผมเปรียบเทียบแปลกๆอย่างนี้ละกันครับ
สมมติที่ผ่านมา คุณเคยขับรถที่ใช้วิธีสตาร์ทด้วยการไขกุญแจมาโดยตลอด มีอยู่วันหนึ่ง คุณได้มีโอกาสไปขึ้นรถที่สตาร์ทด้วยการกดปุ่มสตาร์ท สต๊อป
คุณคิดว่าปฏิกิริยาแรกของคุณ…คุณจะกดปุ่มสตาร์ท สต๊อป หรือคุณจะมองหาที่ไขกุญแจครับ…
พอจะเห็นภาพมากขึ้นไหมครับ
การเรียนรู้ จะทำให้คุณเลิกเป็น one trick pony…ซึ่งจำเป็นต่อการทำธุรกิจ
ในโลกของการทำงานประจำ ถ้าเปรียบกับตัวอย่างเมื่อกี้
คุณจะมีคนบอกคนแต่แรก หรืออาจมีคนยืนบอกคุณข้างๆ ว่าคุณต้องทำอย่างไรให้รถสตาร์ทติด หรืออย่างน้อยที่สุด มีเซลล์ยืนข้างๆให้คุณถามเวลาหารูกุญแจไม่เจอ
ในโลกธุรกิจ คุณอาจจะไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้น แน่นอนว่าอาจจะมีบ้าง แต่หลายๆครั้ง คุณจะต้องหาทางสตาร์ทรถด้วยตัวเอง…
เมื่อคุณลองผิดลองถูก คุณลองเอากุญแจไปเสียบทุกๆอย่างเท่าที่คุณจะเสียบได้ในรถคันนั้นแล้วแต่รถก็ยังสตาร์ทไม่ติด
เมื่อนั้น มีความเป็นไปได้สองอย่างที่จะเกิดขึ้น
อย่างแรก คุณล้มเลิกความตั้งใจที่จะขับรถคันนั้น … ล้มเลิกความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาธุรกิจคุณ
หรือ…คุณอาจต้องหาข้อมูล หาความรู้ ว่าทำอย่างไรคุณถึงจะสตาร์ทรถ คุณถึงจะแก้ปัญหาธุรกิจของคุณเพื่อให้ไปต่อได้
และเมื่อนั้นแหละครับ ที่คุณจะเริ่มเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา คุณจะได้รู้ว่า รถไม่ได้มีวิธีสตาร์ทด้วยการไขกุญแจเพียงอย่างเดียว
และเมื่อนั้นแหละครับ ที่ในความเป็นผู้ประกอบการของคุณ คุณจะเริ่มไม่เป็น one trick pony อีกต่อไป
ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
จากพนักงานประจำ สู่คนทำธุรกิจ (From CBD with love)
โฆษณา