1 มี.ค. 2023 เวลา 03:59 • สุขภาพ

5 วิธีง่าย ๆ … เช็กหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยตัวเอง

สำหรับบางท่านที่มีอาการปวดหลังหรือปวดสะโพกร้าวลงขาแล้วสงสัยว่าตัวเองเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือเปล่า วันนี้หมอเลยมีวิธีง่าย ๆ 5 วิธีในการการเช็ก หมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาทง่ายๆ ด้วยตัวเองมาให้อ่านและประเมินกันดูครับ
หมอนรองกระดูกเราเปรียบเสมือนกับยางรถยนต์ ถ้าในช่วงอายุหนุ่มสาวอายุ 20-50 ปีก็เปรียบเสมือนยางรถยนต์ใหม่ที่มีความนุ่มและยืดหยุ่นรับแรงกระแทกได้ดี ส่วนเมื่ออายุมากขึ้น 50 ปี ขึ้นไป ยางรถของเราจะเสื่อม มีความสามารถในการรับแรงกระแทกและความยืดหยุ่นจะน้อยลง
ส่วนประกอบตรงใจกลางของหมอนรองกระดูกจะมีลักษณะเป็นของที่มีความหนืดคล้ายเจลลี่เหนียวๆ ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยเส้นใยที่ขึงล้อมหน้าหลังเปรียบเสมือนขอบยางรถยนต์ ซึ่งธรรมชาติสร้างมาเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่เป็นเจลลี่แตกออกมา เพราะฉะนั้นความหมายของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเปรียบเสมือนยางรถยนต์แตก เจลลี่ที่อยู่ด้านในนั้นจะไหลออกมากดหรือเบียดเส้นประสาทที่อยู่บริเวณนั้น ๆ ก่อให้เกิดอาการปวดหลังหรือสะโพกแล้วร้าวไปที่ขานั่นเองครับ
📍 5 วิธีเช็ก หมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาท
📌 มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา หากคุณมีอาการปวดสะโพกหรือปวดเอวก็ตามแต่ แล้วเกิดร่วมกับอาการร้าวลงขา ไม่ว่าจะข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยลักษณะการร้าวลงขา ส่วนใหญ่จะร้าวไปที่ก้น หรือด้านหลังต้นขา ไปที่แถบขางขาหรือหลังขา ซึ่งจะเกิดร่วมกับอาการชาหรือไม่ก็ได้ครับ และส่วนใหญ่อาการจะเป็นหนักตอนที่นั่งนานหรือยืนนาน ๆ เป็นต้น
📌 อาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย โดยหมอให้คุณเช็คง่ายๆ คือให้ลองกระดกข้อเท้าขึ้นหรือกระดกนิ้วโป้งเท้าขึ้นค้างไว้ หรือว่าถ้าคุณมีเพื่อน อาจจะลองให้เพื่อนใช้มือต้านแรงตอนกระดกข้อเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไว้ เทียบกับอีกข้างที่ปกติก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าอ่อนแรงกว่าอีกด้าน นั้นหมายถึงคุณควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเลยครับ
2
📌 ลองให้เพื่อนยกขาของคุณในท่านอนหงาย โดยให้เพื่อนของคุณใช้มือรองข้อเท้แล้วยกขึ้นมาจนเข่าเหยียดตรง โดยให้คุณทิ้งน้ำหนักขาไปที่มือของเพื่อนทั้งหมด ห้ามเกร็งขาหรือออกแรง ถ้าเกิดคุณแสดงอาการปวดสะโพกร้าวลงขาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่คุณจะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ครับ
📌 ให้สังเกตเวลา ไอ จาม เบ่ง ว่ามีอาการปวดหลังหรือสะโพกหรือไม่ นั่นอาจแสดงถึงอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือปลิ้นได้ครับ แต่หากยังไม่มีอาการลงขา ก็อาจจะไม่ได้เคลื่อนหรือปลิ้นไปทับเส้นประสาท หากมีอาการเช่นนี้ควรที่จะต้องปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ไห้ตัวโรคเป็นไปมากกว่านี้ครับ
2
📌 อาการชาที่ส่วนขา หากคุณไม่แน่ใจว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ให้คุณเช็คง่ายๆ โดยการใช้ไม้จิ้มฟัน มาจิ้มบริเวณที่รู้สึกชาเทียบกับขาอีกด้าน หากคุณรู้สึกต่างกัน นั่นอาจบ่งบอกถึงอาการชา ซึ่งอาการชาในหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจไม่ได้มีอาการตลอด แต่อาจเกิดกับบางกิจกรรมหรือบางท่า เช่นการยืนหรือนั่งนานๆ ซึ่งถ้าหากเกิดอาการนี้ขึ้นก็ควรจะมาพบแพทย์เช่นกันเพราะนั่น บ่งบอกถึงการถูกกดทับของเส้นประสาทแล้วครับ
จะต้องทำอย่างไร เมื่อเช็กแล้วมีอาการดังกล่าวข้างต้น❓
📌 ไม่ต้องตื่นตระหนกและกังวลจนเกินเหตุ สำหรับคนที่กลัวว่าจะเป็นอัมพฤตหรืออัมพาต อย่ากังวลมากจนเกินไปครับ เพราะอาการของโรคนี้จะไม่ทำให้เกิดการอ่อนแรงแบบทันทีฉับพลันเหมือนโรคเส้นเลือดในสมอง อาการของโรคทางประสาท
📌 หากมีอาการปวดและยังไม่อยากไปโรงพยาบาลในช่วงเวลานี้ ท่านอาจทานยาแก้ปวดได้ในช่วงสั้นๆ ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพราะยาบางตัวไม่ควรทานในระยะยาว
📌 ถ้าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยแล้ว ท่านอาจได้รับการตรวจเอกเรย์และเอ็มอาร์ไอ ซึ่งการตรวจทั้งสองชนิดในข้อมูลที่แตกต่างกันซึ่งเดี๋ยวหมอจะกล่าวรายละเอียดในบทความอื่นๆ ครับ
📌 ค้นหาต้นเหตุที่มักทำให้เกิดอาการเช่นการนั่งนานหรือการนั่งเก้าอี้ที่ผิดสุขลักษณะ การก้มหลังยกของที่ผิดวิธีมักนำมาซึ่งการกำเริบของตัวโรคได้บ่อยครั้ง และทำการแก้ไข
📌 การนอน ควรนอนที่นอนที่ไม่นิ่มและไม่แข็งเกินไป ควรใช้แบบที่กระชับได้สัดส่วนพอดี สำหรับท่านอนนั้น ในกรณีท่านที่นอนหงาย อาจใช้หมอนเล็กๆหนุนใต้หัวเข่าและสำหรับใครที่นอนตะแคงให้หาหมอนมารองระหว่างเข่า 2 ข้างครับ
📌 การกายภาพด้วยตนเองที่บ้านเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการหายของโรค สิ่งที่หมอแนะนำมี 2 ชนิด คือการยืดขาส่วนหลังและยืดกล้ามเนื้อส่วนก้น ส่วนการออกกำลังกายแกนกล้ามเนื้อกลางลำตัวมีความสำคัญมากเช่นกัน ส่วนใหญ่หมอจะแนะนำทำ 2 รอบต่อวัน รอบเช้าและเย็น
โฆษณา