4 มี.ค. 2023 เวลา 02:00 • สิ่งแวดล้อม

เปิดลิสต์รหัสแดง ภัยพิบัติที่ไทยจะได้รับผลกระทบในอนาคต

เปิดลิสต์รหัสแดง ภัยพิบัติที่ไทยจะได้รับผลกระทบในอนาคต อีกทั้งหากย้อนดูภัยต่างๆ ในปี 2565 พบว่า ไทยเจอทั้ง #น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า เป็นเหตุให้สูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.2 - 2 หมื่นล้านบาท!
ไม่นานมานี้ มีรายงานข้อมูลจาก “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” ระบุว่า ภาพรวมภัยพิบัติต่างๆ ในโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภัยจาก “น้ำท่วมปี 2565” ทำเศรษฐกิจทั่วโลกสูญเสียเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595
ยิ่งไปกว่านั้น World Economic Forum Global Risk ได้คาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่
📌อันดับ 1 : ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure)
📌อันดับ 2 : สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather)
📌อันดับ 3 : การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss)
ขณะที่หากเจาะจงลงมาเฉพาะ “ประเทศไทย” พบว่า มีสัดส่วนประชากรเสี่ยงประสบภัยพิบัติถึง 34% โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติ พบว่าภาพรวมทางมีความเสียหายเศรษฐกิจและธุรกิจสูงถึง 1.2 – 2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้เมื่อปีที่ผ่านมา แอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึง ภัยพิบัติระดับ “รหัสแดง” ที่จะเกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติ (Code Red for Humanity) ไว้ว่าในอนาคตคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ 5 เรื่องหลัก ที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ ได้แก่
🌡1. จากนี้ต่อไปอุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะตามมา
🌡2. เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น น้ำระเหย ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพราะระเหยไปหมด ภัยแล้งจะตามมา
🌡3. น้ำที่ระเหย อาจจะมองว่าหายไป แต่ความจริงอยู่ด้านบน อยู่ในรูปของไอ ฤดูฝนเมื่อเจอความเย็นจะตกมาเป็นฝนและตกหนัก
1
🌡4. หากมีความเปราะบางในพื้นที่ น้ำจะท่วม
🌡5. เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำทะเลก็จะร้อนขึ้น เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น กทม. อยู่ในระดับเรี่ยกับน้ำทะเล ก็จะเสี่ยงเจอน้ำท่วมมากขึ้นตามไปด้วย
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จากฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวว่า หากเราไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต เราจะเจอกับปัญหาน้ำท่วม ฝนตกและทำให้น้ำหลากเข้าเมือง รอการระบาย และน้ำทะเลหนุนสูง เราหนีไม่พ้นน้ำรอการระบายเพราะเราอยู่ที่ต่ำ
โดยมีแนวโน้มว่ากรุงเทพฯ จะประสบภัยน้ำท่วมถี่ขึ้นและความรุนแรงมากขึ้น จากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน
มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 20 - 30% ปริมาณฝน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 มม./วัน เป็น 250 มม./วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มีโอกาสเพิ่มขึ้น 60 - 80% ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มขึ้น 20 - 30% เช่นกัน กล่าวคือ ฝน 100 ปีปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปี 2554 จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต
รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งก็อาจประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน โดยมีการประเมินจากคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่ “สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า” บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 ม. ในปี 2573 , 0.73 ม. ในปี 2593 และ 1.68 ม. ในปี 2643 ตามลำดับ
.
จากการประเมินทั้งหมดนี้จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล #จมน้ำอย่างถาวร หากไม่มีมาตรการรับมือ
อ่านต่อ : ‘5 รหัสแดง’ ภัยพิบัติ ไทยเสี่ยงแค่ไหน ต้องรับมืออย่างไร
กราฟิก : จิรภิญญาน์ พิษถา
โฆษณา