1 มี.ค. 2023 เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติเพิ่มมาตรการ ตัวช่วยหลบหลีก ภัยการเงิน

ในโลกการเงินที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การเปิดบัญชีสามารถทำได้ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องไปสาขาธนาคาร การโอนเงินทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคม ยิ่งง่าย สะดวก รวดเร็ว มากเท่าไหร่ ก็อาจทำให้ความปลอดภัยลดน้อยลง สองหลักการนี้จะเป็นสิ่งตรงกันข้ามเสมอ
ปัจจุบันมิจฉาชีพได้ปรับเปลี่ยนวิธีหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ใช้ช่องทางเข้าถึงตัวเหยื่อหลากหลาย ทั้งโทรศัพท์ SMS อีเมล LINE หรือ Facebook รวมถึงหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ หรือแอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม สวมรอยควบคุมโทรศัพท์ ทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี เป็นต้น
จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การรับแจ้งเหตุที่เกี่ยวกับคดีธุรกรรมผ่านออนไลน์ปี 2565 ในช่วงต้นปีมีประมาณ 9,000 ครั้งต่อเดือน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกเดือน จนมาถึงเดือน ธ.ค. มีมากกว่า 27,000 ครั้ง และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้กำหนดมาตรการร่วมกับภาคธนาคารเพื่อเพิ่มการขันน็อตในขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะ Mobile banking ซึ่งมาตรการต่าง ๆ จะเริ่มทยอยออกมา ดังนี้
การติดต่อลูกค้า ธนาคารจะยกเลิกการส่ง SMS ที่แนบ link เพื่อลดโอกาสที่มิจฉาชีพจะหลอกให้ลูกค้ากด link อันตราย ดังนั้นหากได้รับ SMS ที่แนบ link ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามาจากมิจฉาชีพ
การเปิดบัญชี โดยเฉพาะการเปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบด้วยเทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลชีวมิติ (Biometric comparison) เช่น การสแกนใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพลักลอบเปิดบัญชีแทนเจ้าของ
การทำธุรกรรม จะเพิ่มกระบวนการยืนยันตัวตนด้วย Biometric comparison บน Mobile banking เมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนด เช่น การทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงหรือความถี่สูง การทำธุรกรรมมีความผิดปกติต้องสงสัย เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีได้โดยง่าย
การยืนยันการทำธุรกรรม จะเพิ่มการแจ้งเตือนภัยรูปแบบใหม่ ๆ ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังช่วยเตือนสติลูกค้าที่อาจตกเป็นเหยื่อให้ฉุกคิดและระมัดระวังทุกครั้ง โดยตรวจสอบให้มั่นใจว่า การทำธุรกรรมนั้น ๆ มีความถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
การแจ้งเหตุ จัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน กรณีถูกหลอกลวงทางการเงินออนไลน์ (Hotlines) ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกค้าสามารถแจ้งเหตุเมื่อถูกหลอกได้โดยตรง และได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การช่วยเหลือ หลังได้รับแจ้งเหตุจากผู้เสียหาย ธนาคารต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ และสนับสนุนกระบวนการสอบสวน หากพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นความผิดพลาดของธนาคาร ธนาคารต้องช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้านอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งออกกฎหมายใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือปราบภัยการเงินออนไลน์
โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย
ได้ร่วมกันร่าง พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์และภัยการเงิน เช่น หากประชาชนถูกหลอกสามารถโทรแจ้งธนาคารให้ช่วยอายัดเงินที่ถูกโอนออกไปยังบัญชีปลายทางได้ชั่วคราว เพื่อให้สามารถอายัดเงินได้เร็วขึ้นและมีเวลาไปแจ้งความกับตำรวจ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้เสมือนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
การกำหนดบทลงโทษทั้งการปรับหรือจำคุกแก่ผู้ที่ซื้อขายบัญชีม้าหรือ SIM ม้า เพื่อลดจำนวนบัญชีม้าหรือ SIM ม้าที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของเหล่ามิจฉาชีพ เป็นต้น
ท้ายนี้ ขอเน้นย้ำว่ามาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็อาจช่วยเราไม่ได้ หากเราไม่มีความตระหนักรู้ที่เพียงพอ จึงขอฝากคาถาป้องกันภัยทางการเงิน 2 บท นั่นก็คือ
1."เช็กให้ชัวร์" ตั้งสติทุกครั้งหากได้รับการติดต่อจากคนไม่รู้จัก ไม่ว่าทาง SMS อีเมล LINE หรือ Facebook ควรตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานหรือธนาคารที่ถูกกล่าวอ้าง
2. "คิดก่อนคลิก" ไม่ว่า link ใด ๆ ให้คิดก่อนว่าเป็นของจริงหรือไม่ และไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนอกเหนือจากช่องทางที่ปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น
รวมถึงไม่ให้ข้อมูลสำคัญส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน รหัส OTP รหัส PIN แก่ผู้อื่น หากเราเช็กให้ชัวร์และคิดก่อนคลิกทุกครั้ง ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์อย่างแน่นอนครับ
รวมถึงไม่ให้ข้อมูลสำคัญส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน รหัส OTP รหัส PIN แก่ผู้อื่น หากเราเช็กให้ชัวร์และคิดก่อนคลิกทุกครั้ง ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์อย่างแน่นอนครับ
*** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด ***
ผู้เขียน : อนุภาค มาตรมูล
โฆษณา