1 มี.ค. 2023 เวลา 14:17 • หนังสือ

T h e R o s i​ e E f f e c t

หากผู้อ่านเคยชื่นชอบเรื่องราวของ ดอน ทิลล์แมน (Don Tillman) ศาสตราจารย์หนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรม​ (DNA)​ ที่ลงเอยกับโรซี จาร์แมน (Rosie Jarman) นักศึกษาสาวคณะแพทย์ฯ ใน ‘The Rosie Project หรือ โปรเจ็ครักของนายจอมเพี้ยน’ ซึ่งแต่งโดย Graeme Simsion (แกรม ซิมสัน) แล้ว​ แอดมินขอนำเสนอภาคต่อในชื่อ ‘The Rosie Effect' ซึ่งยังคงความสนุกและมีสาระไม่แพ้กันเมื่อทั้งสองแต่งงานและเพิ่งเริ่มต้นชีวิตคู่เพียงสิบเดือนเศษ
คลิกอ่านรีวิว​เรื่อง ​The​ Rosie Project​ ย้อนหลังได้ที่นี่
ดอนและโรซีได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โรซีเรียนต่อป.เอกด้านจิตวิทยาในคณะแพทย์ฯ ที่ ม. โคลัมเบีย และดอนรับตำแหน่งงานใหม่ที่คณะเดียวกัน
ผู้เขียนส่งต่อความรักของทั้งสองให้เราเห็นว่า ชีวิตแต่งงานไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ทั้งสองมีเรื่องให้ลุ้นต่อเมื่อโรซีเกิดตั้งท้องโดยที่ดอนเองยังไม่พร้อมจะเป็นพ่อคน เขาไม่ค่อยยินดีสักเท่าไหร่เพราะเรื่องนี้ไม่อยู่ในแผนชีวิตเขาในช่วงหลังแต่งงานเลย
ความเดิมในภาคแรกของ ‘The Rosie Project’ นั้นเรารู้ว่า ดอนเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม​ (Asperger Syndrome) มีปัญหาในการเข้าสังคมเพราะความมีระเบียบและไม่ค่อยยืดหยุ่นในชีวิต ชอบอยู่คนเดียว
แต่เขาก็ยังใช้ชีวิตเฉกเช่นคนปกติทั่วไปได้ เขายังคุ้นเคยกับการจัดตารางชีวิตไว้ตลอดสัปดาห์ว่า วันไหนทำหรือไม่ทำกิจกรรมใดบ้าง ขณะที่โรซีเป็นคนยืดหยุ่นไม่มีระเบียบ และใช้ชีวิตสบาย ๆ สองคนที่มีบุคลิกแตกต่างกันมาใช้ชีวิตร่วมกันจะเป็นอย่างไร
ผู้เขียนสร้างพล็อตให้ตัวละครต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งการเรียนและการทำงานของโรซี การเตรียมพร้อมเพื่อเป็นพ่อแม่ และผู้คนรอบข้างที่เข้ามาในชีวิตคู่ของพวกเขา​ เมื่อโรซีบอกเขาว่า 'เรากำลังจะเป็นพ่อแม่คน' ประโยคเดียวนี้เองทำให้ดอนทั้งอึ้งและสับสน เรื่องที่เคยคุยกันไว้ว่าให้โรซีรอไปก่อนกลับเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน!??! ...
ดอนพยายามแสดงความดีใจ แต่โรซีก็พอจะรู้ว่าเขาไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก ทั้งคู่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โรซียังคงไปเรียนต่อและดอนก็ยังไปทำงานแม้จะยังหมกหมุ่นสับสนกับสมาชิกใหม่ที่จะเกิดมา แต่แล้วอยู่ ๆ ยีน​ แบร์โรว์​ (Gene Barrow)​ เพื่อนสนิทของดอนที่เลิกร้างกับคลอเดีย ภรรยาที่ออสเตรเลียก็บินมาที่นิวยอร์กและมาพักอยู่ด้วย
ดอนยังคงบุคลิกที่โดดเด่นในแนวทางของนักวิชาการด้านพันธุกรรม และความต้องการควบคุมจัดการชีวิตของตนก็ทำให้เราได้หัวเราะและยิ้มไปด้วยอีกบ่อย ๆ เช่นการคิดคำนวณน้ำหนักส่วนสูงของผู้ที่เขาพบเจอ เมื่อต้องสนทนาหรืออยู่ในสังคม ขณะที่สภาวะอารมณ์ของเขาไม่มั่นคง
แม้แต่ลูกในท้องโรซี ดอนก็ใช้คำเรียกของตนเองแทนคำว่าเบบี้ว่า บัด (Bud ซึ่งย่อมาจาก Baby Under Development) ซึ่งโรซีก็พอจะยอมรับได้ว่าเขาพยายามปรับตัวปรับใจรับความเป็นพ่อ
ยีนกลายเป็นที่ปรึกษาจำเป็นให้ดอนในการเตรียมตัวเป็นพ่อ โรซีไม่ค่อยชอบยีนมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่อยู่ที่ออสเตรเลีย แต่เธอไม่รู้ว่าดอนปรึกษาขอคำแนะนำจากยีน ซึ่งกลับทำให้ชีวิตทั้งคู่วุ่นวายอลวนไปอีก เมื่อเขาแนะนำให้ดอนไปเฝ้าสังเกตดูเด็ก ๆ ในสวนเด็กเล่นในเมืองเพื่อเตรียมเป็นพ่อ ดอนไม่รู้ว่ามีกฎระเบียบห้ามไว้อย่างไรจนเกิดเหตุขึ้นจนได้
ชีวิตคู่ของตัวละครใน ‘The Rosie Effect’ มีปัญหาเจือความสนุกอีกแบบหนึ่ง แม้จะมีความรักโรแมนติกแทรกอยู่ในเรื่องน้อยลงแต่ผู้เขียนก็สื่อให้เห็นว่า ทุกคู่สามีภรรยาล้วนมีปัญหาให้การต้องปรับตัวและเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจกัน โดยเฉพาะเมื่อต่างคนต่างเคยมีปัญหาและต้องมาอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว
ดอนไม่ใช่คนปกติธรรมดาทั่วไป สมองของเขาคิดเรื่องต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลเสมอ เขาเคยมีปัญหาทางจิตเมื่อเป็นเด็กแต่ก็ไม่เคยเปิดเผยให้โรซีรู้เลย ขณะที่โรซีที่เป็นคนใช้ชีวิตสบาย ๆ ตรงข้ามกับดอน และก็ยังมีปมในวัยเด็กเรื่องพ่อของเธอด้วย ทำให้ชีวิตรักของเขาและเธอมีเรื่องต้องคิดแก้ปัญหา ซึ่งอาจจะต่างจากชีวิตคู่คนทั่วไป
นอกจากคู่ของดอนและโรซีแล้ว ยังมีเรื่องราวของตัวละครอื่น ๆ ที่มีปมชีวิตที่น่าสนใจเผยให้ผู้อ่านได้รู้ภายหลังรวมทั้งยีน เดฟและซอนยา ลิเดีย ฯลฯ
ผู้เขียนยังคงแทรกแนวคิดด้านจิตวิทยาให้เรารับรู้ในเหตุและผลของปัญหาและการที่คู่ชีวิตหาทางจะประคับประคองชีวิตครอบครัวให้อยู่กันอย่างมีความสุข และต้องมีความไว้วางใจและเปิดเผยต่อกันอย่างจริงใจ ซึ่งทำให้เราเข้าใจและเรียนรู้ไปกับตัวละครได้ดีว่ามนุษย์ล้วนมีปัญหาและไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
แม้ผู้อ่านหลายคนจะบอกว่าเล่มนี้ไม่สนุก แต่แอดคิดว่าชีวิตแต่งงานใน 'The Rosie Effect' มีสาระความเป็นจริงที่เราเรียนรู้นำมาใช้ในชีวิต และมีข้อคิดไม่น้อยกว่าเล่มแรกที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์แนวโรแมนติก
หากใครได้อ่านภาคแรกแล้วขอแนะนำให้อ่านภาคต่อเล่มนี้ด้วยค่ะ คนดังอย่าง บิล เกตส์ ก็ยังชื่นชอบทั้งสองเรื่องนี้ เมื่อเขาอ่านจบเล่มแรก ก็ยังส่งหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อนคนอื่นมากถึง ๕๐ คนให้ลองอ่านด้วย เมื่อเขารู้ว่าผู้เขียนกำลังเริ่มแต่งภาคต่อเล่มสอง เขาก็ติดต่อของจองอ่านล่วงหน้าอีกด้วยค่ะ เปิดอ่านความเห็นของบิล เกตส์ได้ที่นี่ https://www.gatesnotes.com/The-Rosie-Effect
แกรม ซิมสัน เป็นชาวออสเตรเลีย และเคยเป็นที่ปรึกษาด้านไอทีมาก่อน เขาเคยแต่งหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบข้อมูล (Database Design) แต่เปลี่ยนมาแต่งนิยายครั้งแรกเมื่ออายุได้ ๕๐ ปีเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๓ คือเรื่อง 'The Rosie Project' ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่าสี่สิบภาษาทั่วโลก และในปีต่อมาก็แต่งเรื่อง 'The Rosie Effect' ที่ดังไม่แพ้กัน
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #therosieeffect #graemesimsion #แกรมซิมสัน #bestsellingauthor #therosieproject #romanticcomedy #โปรเจ็ครักของนายจอมเพี้ยน #ชีวิตคู่ #aspergerssyndrome #แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม #ผู้มีปัญหาในการเข้าสังคม​ #alwaysenjoyreadingitagain
โฆษณา