2 มี.ค. 2023 เวลา 02:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เวียดนามเสี่ยง!! ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง?

อัตราเงินเฟ้อในเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น ทว่าก็เป็นเพียงส่วนต่างเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย.อยู่ที่ 4.37% เดือนธ.ค.อยู่ที่ 4.55% เดือนม.ค.อยู่ที่ 4.89% โดยคาดว่าธนาคารกลางเวียดนามยังพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อและรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัวถึง 6.1% ธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัว 6.4% และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ประเมินว่าจะขยายตัว 6.7%
ปัจจุบันเวียดนามยังเผชิญปัญหาทางการเงินจำนวนหนึ่งที่อาจลดทอนความ “เนื้อหอม” ดังกล่าวลง จนกระทั่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองถึงขนาดว่าท้ายที่สุดเวียดนามอาจกำลังอยู่บนเส้นทางสู่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เหมือนที่ประเทศไทยประสบเมื่อปี 40 ได้แก่ วิกฤติการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ วิกฤติฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารกลางเวียดนามประสบปัญหาหนี้เสีย (NLP) เงินดองอ่อนค่าอย่างหนัก และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ทว่าภาคส่วนดังกล่าวกำลังเผชิญวิกฤติฟองสบู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารพาณิชย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขการขอสินเชื่อไม่ซับซ้อนส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ เฟื่องฟูจนราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ธนาคารกลางเวียดนามพยายามจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเข้มงวดเรื่องการขอสินเชื่อมากขึ้นก็ตาม
วิกฤติข้างต้นผู้ซื้อบ้านชาวเวียดนามอาจระมัดระวังการใช้จ่ายเงินในภาคส่วนดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็อาจชะลอการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรออกไป เนื่องจากจำนวนคนต้องการซื้อน้อยลง ซึ่งทั้งสองประเด็นอาจส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่พึงพิงภาคอสังหาฯ อย่างมีนัยสำคัญ
หากพิจารณาประกอบกับการที่ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไปอาจกดดันภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง (D/E Ratio) ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก
3 เดือนที่ผ่าน สกุลเงินดองอ่อนค่าลงประมาณ 4.06% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ ต่อ 23,815 ดอง ซึ่งโดยปกติรัฐบาลเวียดนามมักจะตรึงค่าเงินไว้ (Soft Peg) ไม่ให้อ่อนลง ทว่าในช่วงที่ผ่านมาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงและยาวมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถตรึงค่าเงินไว้ได้จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ค่าเงินอ่อนตัวลงสูงสุด จนทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าคล้ายกับการลอยตัวค่าเงินบาทในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามธนาคารกลางเวียดนามต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 23,400 ดองต่อ 1 ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2566 และ 23,000 ดองต่อ 1 ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2567
ธนาคารเวียดนามประสบปัญหาหนี้เสีย (NLP)
ไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารพาณิชย์เวียดนามยังเผชิญกับวิกฤติหนี้เสียจนธนาคารกลางเวียดนามออกหนังสือเวียนบอกให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนกำหนดจ่ายหนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยอนุญาตให้คงเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ดังกล่าวอยู่ในอัตราเดิม ซึ่ง ณ ช่วงท้ายเดือนเม.ย. 2565 ยอดสินเชื่อครบกำหนดชำระสะสมแตะ 695 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผู้กู้ 1.1 ล้านคนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว
ทั้งนี้ อัตราส่วนของ NPL ในงบดุลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.ปี 2565 โดย NPL รวมของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนทั้งหมด 28 แห่งมีมูลค่า 122 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 5.12 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสแรกและราว 20% เมื่อเทียบกับต้นปี 2565
ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
ทุนสํารองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามอาจแตะ 1.02 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2566 เทียบได้กับ 3.3 เดือนของมูลค่าการส่งนำเข้า ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศรวมของประเทศไทยเดือนม.ค. ปี 66 อยู่ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.ปี 2565 ที่ 2.17 แสนล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ 10 ก.พ. 2566)
โดยเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว ธนาคารกลางเวียดนามขายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 20% เพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ทุนสํารองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามลดลงเหลือต่ำกว่าสามเดือนของการนําเข้า ทั้งยังต่ำกว่าระดับที่ IMF แนะนํา-bangkokbiznews
โฆษณา