2 มี.ค. 2023 เวลา 08:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“อย่าเลือกหุ้น แต่ให้เลือกธุรกิจ” Secret Sauce ความสำเร็จของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ถือเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ เรียกว่าพูดชื่อปุ๊บทุกคนน่าจะรู้จักอย่างแน่นอน ในจดหมายถึงนักลงทุนฉบับล่าสุดเขาได้กล่าวถึง “Secret Sauce” ที่ทำให้ตัวเขาและพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจด้วยกันมาหลายทศวรรษอย่าง ชาลีย์ มังเกอร์ (Charlie Munger) ประสบความสำเร็จมาจนถึงตอนนี้ได้ก็คือการเป็น “นักเลือกธุรกิจ” ไม่ใช่ “นักเลือกหุ้น” ต่างหาก (ใครสนใจสามารถไปอ่านบทสรุปได้ที่ -> https://www.facebook.com/aommoneyth/photos/5848337725219319)
เขาขยายความต่อว่ามันคือ “การลงทุนในธุรกิจที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยในระยะยาวและผู้จัดการที่น่าเชื่อถือ”
มันเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย แต่สร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับนักลงทุนสาย VI มาแล้วมากมาย เพราะเป้าหมายของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าคือการหาธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ซื้อและถือหุ้นของบริษัทเอาไว้ตราบเท่าที่จะนานได้ โดยไม่สนใจว่าตลาดจะเหวี่ยงขึ้นลงระหว่างทาง ตราบใดที่ธุรกิจยังเติบโตได้และมีอนาคต ก็จะถือเก็บเอาไว้ ไม่ซื้อ ๆ ขาย ๆ ตามตลาด
1
แน่นอนว่าพูดง่ายกว่าทำเสมอ การเลือกธุรกิจที่ดีที่สามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาวก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่าย ๆ แต่โชคดีที่มังเกอร์คู่หูคนสำคัญของบัฟเฟตต์ได้เขียนกฎสี่ข้อที่เขาและบัฟเฟตต์จะทำตามในการเลือกว่าธุรกิจไหนควรจะลงทุน เป็นคำถามที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการลงทุนของเราได้เช่นเดียวกัน
1. คุณเข้าใจธุรกิจรึเปล่า?
ไม่เพียงแต่เราต้องรู้ว่าธุรกิจนั้นทำงานยังไง แต่ต้องทราบด้วยว่ามันมอบอะไรที่ ‘มีคุณค่า’ ให้กับลูกค้าบ้าง ต้องสามารถมองเห็นได้ว่าอีก 10 ปีต่อจากนี้บริษัทจะไปทางไหน (ถ้ามากกว่านั้นได้ยิ่งดี) บัฟเฟตต์กล่าวว่า “ถ้าคุณไม่พร้อมที่จะถือหุ้นไว้ 10 ปี ไม่ต้องคิดแม้แต่จะถือไว้ 10 นาทีเลยด้วยซ้ำ”
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิงของบัฟเฟตต์พลาดโอกาสในการลงทุนใน Google และ Amazon ในช่วงต้น ๆ ของยุค 2000 เพราะตัวบัฟเฟตต์เองไม่เข้าใจธุรกิจเหล่านั้นจึงไม่ได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปลงทุนและไม่รู้เลยว่าในระยะยาวแล้วกำไรจะออกมาเป็นยังไงบ้าง จึงทำให้ยากในการคำนวณมูลค่าของหุ้นและบริษัท
เมื่อไม่เข้าใจ เขาก็ไม่ลงทุน สั้น ๆ แค่นั้น แม้หลายคนจะมองว่าเป็นการเสียโอกาส แต่เราจะมองว่าเป็นการเดินหมากที่เน้นปลอดภัยก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่ากฎข้อที่ 1 ของการลงทุนของบัฟเฟตต์คือ “อย่าขาดทุน”
และถึงแม้ว่า Berkshire จะไม่ได้ลงทุนใน Google หรือ Amazon แต่พวกเขาก็ได้กำไรอย่างสวยงามในหุ้นที่ดีอย่าง Coca-Cola และ American Express ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
2. ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนรึเปล่า?
สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะยาวคือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยบัฟเฟตต์เปรียบเทียบเหมือนกับการมีคูเมืองล้อมรอบปราสาทที่เป็นตัวธุรกิจ ป้องกันคู่แข่งที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรม ยิ่งมีคูเมืองที่แข็งแกร่ง ยิ่งทำให้คู่แข่งเข้ามาได้ยาก
1
ยกตัวอย่างง่าย ๆ สูตรลับเครื่องดื่มโค้ก ก็ถือเป็นคูเมืองที่ใหญ่มาก ไม่มีแบรนด์ไหนมาแข่งได้ หรืออย่างถ้าบ้านเราก็จะมี 7-11 ที่ครองตลาดร้านสะดวกซื้อ หรือ Makro ที่ครองอุตสาหกรรมขายส่ง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้คือธุรกิจที่มีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก
3. ผู้บริหารของธุรกิจมีความซื่อสัตย์และมีความสามารถรึเปล่า?
ข้อนี้น่าจะเป็นสิ่งที่วัดผลอย่างที่สุดแล้วในกฎลงทุนทั้งสี่ข้อ บัฟเฟตต์กล่าวว่าเขามองหาคุณสมบัติสามอย่างในตัวผู้จัดการหรือผู้นำ: ความฉลาด ความคิดริเริ่ม และความซื่อสัตย์ แต่ในสามอย่างนี้ความซื่อสัตย์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้คุณลักษณะสองอย่างแรกจะทำให้ทุกอย่างล้มไปกันหมดเลย
บัฟเฟตต์เขียนไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 1998 ว่า “เราไม่ต้องการเข้าไปทำงานร่วมกับผู้จัดการที่ขาดคุณสมบัติที่น่าชื่นชม ไม่ว่าโอกาสทางธุรกิจของพวกเขาจะน่าดึงดูดเพียงใด เราไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจที่ดีกับคนไม่ดีเลย”
เมื่อมีความซื่อสัตย์สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อใจ นั่นหมายความว่าบัฟเฟตต์หรือมังเกอร์ก็ไม่ต้องคอยมาตรวจสอบหรือดูแลธุรกิจที่อยู่ในเครือโดยวางคนที่ไว้ใจได้ให้ตัดสินใจตรงนั้นไปเลย พวกเขาเปรียบเทียบการหาผู้จัดการกับการเลือกนักเบสบอล หาคนที่ดีแล้วก็ปล่อยให้เขาทำงานโดยไม่ต้องไปสั่งอะไรเลย
4. ราคาสมเหตุสมผลรึเปล่า?
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของวิธีการลงทุนของบัฟเฟตต์และมังเกอร์คือการมองหาธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสมต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมัน
แม้ว่าจะไม่มีการวัดมูลค่าที่เป็นสากลว่ามูลค่าของบริษัทตอนนั้นเป็นเท่าไหร่ แต่บริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ยาวนานมักจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอ กระแสเงินสดที่ดีและมีหนี้สินจำนวนน้อย เมื่อราคาหุ้นดูต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าของบริษัท นั่นคือโอกาสในการซื้อ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะรอจนกว่าราคาหุ้นร่วงหนักแล้วถึงเข้าไปซื้อนะครับ ที่จริงแล้วเมื่อราคามันสมเหตุสมผล การลงทุนในเวลานั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไร อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าพวกเขาคือนักเลือกธุรกิจและไม่ใช่นักเลือกหุ้น เพราะฉะนั้นมันคือการลงทุนในระยะยาว มองไปในอนาคต ไม่ใช่แค่ราคาหุ้นในตอนนี้
“มันดีกว่ามากที่จะซื้อบริษัทที่ยอดเยี่ยมในราคาที่สมเหตุสมผล แทนที่จะซื้อบริษัทที่โอเคในราคาที่ยอดเยี่ยม”
นั่นคือสิ่งที่บัฟเฟตต์กล่าวในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในปี 1998 และเขาก็เสริมจุดนี้ว่า
“เมื่อซื้อบริษัทหรือหุ้นสามัญ เรามองหาธุรกิจชั้นหนึ่งพร้อมกับการบริหารชั้นหนึ่งเช่นกัน”
=====
อ้างอิง
โฆษณา