2 มี.ค. 2023 เวลา 11:42 • ประวัติศาสตร์

เรื่องราวความเชื่อแบบญี่ปุ่น – ตุ๊กตาฮินะกับสุริยะเทพี

สีของแสงแดดและไออุ่นยามเช้าที่ค่อย ๆ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลในช่วงเวลานี้ อากาศที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวและลมอุ่นที่พัดมาครั้งแรกของปีซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกกันว่า “ฮารุอิจิบัง – 春一番” การเปลี่ยนแปลงในปลายเดือนกุมภาพันธ์เหมือนนาฬิกาที่กำลังนับถอยหลังบอกลาฤดูหนาว
และอีกหนึ่งสัญญาณที่กำลังบอกพวกเราถึงการมาของฤดูกาลใหม่ ฤดูกาลแห่งการเริ่มต้น "ฤดูใบไม้ผลิ" ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถานีรถไฟ ห้างร้านต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ราชการ ต่างนำสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองในฤดูใบไม้ผลิอย่าง “ตุ๊กตาฮินะ” ออกมาวางประดับตกแต่ง ชวนให้รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวา
ตุ๊กตาฮินะภายในสถานีรถไฟ JR Chiba เครดิตภาพ : https://chiba.keizai.biz/headline/623/
วันที่ 3 เดือน 3 : ฮินะมัตสึริ (ひな祭り)
ราชสำนักยุคเฮอัน มีธรรมเนียมขอพรพระเจ้าในช่วงต้นเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านฤดูกาล ต่อมากำหนดให้เป็นวันที่ 3 มีนาคม เรียกว่า โจชิ (上巳) และด้วยช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับช่วงเวลาที่ดอกท้อบานจึงเรียกกันว่า โมโมะ โนะ เสกขุ (桃の節句) โดยเชื่อกันว่า “ลูกท้อ” มีอำนาจในการขับไล่สิ่งชั่วร้าย ลูกท้อในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โมโมะ (桃) ภายหลังโมโมะ โนะ เสกขุ ได้กลายเป็นหนึ่งในวันสำคัญของเทศกาลทั้งห้า ที่เรียกว่า “โกะเสกขุ – 五節句”
ตุ๊กตาฮินะ – สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ปลายฤดูหนาวเข้าฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลงและทำให้ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายกว่าปกติ ในอดีตผู้คนจึงนิยมตัดกระดาษเป็นรูปตุ๊กตา แล้วปล่อยลงแม่น้ำในวันที่ 3 มีนาคม เพราะเป็นช่วงเวลาที่หิมะละลายกลายเป็นน้ำที่ใสสะอาด เชื่อกันว่าจะช่วยพาสิ่งไม่ดีทั้งหลายออกไปจากตัว แล้วยังเป็นการแก้เคล็ดปล่อยเรื่องไม่ดีให้พ้นผ่านก่อนเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ด้วย
ตุ๊กตากระดาษลอยน้ำ เครดิตภาพ : https://joshi-spa.jp/943867/2
เมื่อวิทยาการในการประดิษฐ์ตุ๊กตาพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากตุ๊กตากระดาษของเล่นในวังหลวงยุคเฮอัน กลายเป็นตุ๊กตาหน้าตาน่ารักสีสันสดใสและมีความปราณีต ธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยใช้ตุ๊กตากระดาษลอยน้ำแก้เคล็ดก็เปลี่ยนมาเป็นการประดับตุ๊กตาฮินะในบ้าน เพื่อให้ตุ๊กตาทำหน้าที่ป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เด็ก ๆ เจ็บไข้ได้ป่วย และการประดับตุ๊กตาภายในบ้านยังเป็นการเฉลิมฉลองให้เด็ก ๆ เติบโตอย่างสดใสและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
ต่อมารัฐบาลโชกุน (幕府) ในยุคเอโดะ ได้กำหนดวันสำคัญโดยอิงจากปฏิทินจันทรคติและธรรมเนียนปฏิบัติจากวัฒนธรรมจีนที่เรียกว่า เทศกาลทั้งห้า (五節句) ได้แก่
วันที่ 7 มกราคม >> นานะคุสะ โนะ เสกขุ (七草の節句)
วันที่ 3 มีนาคม >> โมโมะ โนะ เสกขุ (桃の節句)
วันที่ 5 พฤษภาคม >> โชบุ โนะ เสกขุ (菖蒲の節句)
วันที่ 7 กรกฎาคม >> ซาสะทาเคะ โนะ เสกขุ (笹竹の節句)
วันที่ 9 กันยายน >> คิขุ โนะ เสกขุ (菊の節句)
โดยกำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันเด็กผู้ชาย และวันที่ 3 มีนาคม เป็นวันเด็กผู้หญิง
ไม่วางตุ๊กตาฮินะตลอดทั้งปี
แทบทุกบ้านที่มีเด็กผู้หญิงจะมีเซ็ตตุ๊กตาฮินะเก็บไว้ภายในบ้าน โดยทั่วไปจะนำออกมาตั้งประดับตกแต่งตั้งแต่วันริชชุน (立春) คือวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ คำนวณจากวันที่พระอาทิตย์ทำมุม 315 องศากับโลก มักจะตรงกับช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ห่างจากเทศกาลฮินะประมาณหนึ่งเดือน และเก็บตุ๊กตาภายในหนึ่งอาทิตย์หลังจบเทศกาลฮินะเพราะเชื่อกันว่าหากเก็บล่าช้า ลูกสาวหรือหลานสาวบ้านนั้นจะแต่งงานช้านั่นเอง
ตุ๊กตาฮินะแบบ 7 ชั้น เครดิตภาพ : https://www.hinakoubou.jp/product/p87116
จำนวนชั้นวางตุ๊กตานิยมเป็นเลขคี่ 3, 5, 7 ชั้น ตามความเชื่อของลัทธิเต๋าที่ว่าเลขคี่มีความหมายดีเป็นมงคล แท่นวางตุ๊กตาที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ แท่นวาง 7 ชั้น โดยแต่ละชั้นมีการกำหนดตำแหน่งการวางโดย
ชั้นที่ 1 ด้านบนสุด : ตุ๊กตาจักพรรดิและจักพรรดินี ตำแหน่งการวางซ้ายขวาแตกต่างกันไปตามภูมิภาค อย่างภูมิภาคคันโต (แถบโตเกียว) นิยมวางตุ๊กตาจักรพรรดิไว้ด้านซ้าย จักรพรรดินีอยู่ด้านขวา (เมื่อหันหน้าเข้าแท่นวางตุ๊กตา) บางท้องถิ่นในภูมิภาคคันไซและเกียวโตนิยมวางสลับกันกับภูมิภาคคันโต
ด้วยญี่ปุ่นมีแนวคิดเรื่องลำดับขั้นอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “สะโจอุเงะ – 左上右下” คือด้านซ้ายบนถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด แล้วไล่ระดับลงไปจนถึงขวาล่าง โดยแนวคิดดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากจีนโบราณ เรียกว่า “เท็นชินนันเม็นสุ – 天使南面す” คือตำแหน่งการขึ้นว่าราชการของกษัตริย์ โดยนั่งหันหลังให้ทิศเหนือ เบื้องหน้าเป็นทิศใต้ ซ้ายมือของผู้ปกครองคือทิศตะวันออกที่พระอาทิตย์ขึ้นและขวามือคือทิศตะวันตก ดังนั้นแล้ว “ด้านซ้าย” จึงมีนัยยะสำคัญมากกว่า “ด้านขวา” นั่นเอง
ชั้นที่ 2 : นางข้าหลวงทั้งสาม (三人官女) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลจักรพรรดินีตั้งแต่ยังเล็ก เทียบได้กับแม่นมที่คอยอบรมเลี้ยงดู ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัว โดยข้าหลวงทั้งสามจะถือขวดสาเก (銚子) – ขาตั้ง (三方) – การินสาเก (長柄銚子) นางข้าหลวงด้านซ้ายผู้ที่ยืนถือการินสาเกเป็นตำแหน่งนางข้าหลวงลำดับสูงที่สุด และนางข้าหลวงที่นั่งตรงกลางมีฟันสีดำจะเป็นข้าหลวงที่ยังโสดไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน
ชั้นที่ 3 : นักดนตรีทั้งห้า (五人囃子) มีหน้าที่สร้างความสำราญในงานมงคล มีอุปกรณ์เป็นกลองไทโกะ(太鼓) กลองมือ(大鼓) กลองเล็ก(小鼓) ขลุ่ยไม้ไผ่(笛) และหนึ่งผู้ขับร้อง
ชั้นที่ 4 : สององครักษ์ซ้ายขวา (随臣) ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครององค์จักรพรรดิและจักพรรดินี มีอาวุธคู่กายเป็นคันธนู ทั้งนี้หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าองครักษ์ทั้งสองจะมีช่วงวัยที่ต่างกัน โดยองครักษ์หนุ่มจะวางไว้ฝั่งเดียวกันกับองค์จักรพรรดิ และองครักษ์ผู้เฒ่าจะคอยทำหน้าที่ดูแลจักรพรรดินี
ชั้นที่ 5 : ข้าราชบริพารทั้งสาม (仕丁) ถือร่ม ถาดวางรองเท้า และแท่นวางร่ม ตุ๊กตาแต่ละตัวจะแสดงสีหน้าแตกต่างกันไป โกรธ – ร้องไห้ – หัวเราะ แสดงถึงการเติบโตของเด็ก ๆ ที่สมบูรณ์
ชั้นที่ 6 – 7 : ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ
ตำนานตุ๊กตาฮินะ – ตัวแทนแห่งเทพ
นอกจากความหมายตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีเรื่องเล่าเก่าแก่ที่เกี่ยวข้องกับตุ๊กตาฮินะอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งมีจารึกไว้ในโคจิกิ (古事記) บันทึกวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าเขียนขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 712
สุริยะเทพี - อามาเทราสุ เครดิตภาพ : https://kikihensan.miyazaki-city.tourism.or.jp/1_amateras.html
แท้จริงแล้วตุ๊กตาจักรพรรดิและจักรพรรดินีคือ สุริยะเทพี – อามาเทราสุ(アマテラス) และเทพแห่งวายุ – ซูสะโนโอะ(スサノオ) ทั้งสองเป็นเทพที่เกิดจากอิซานางิ (イザナギ) และอิซานามิ (イザナミ) เทพเจ้าผู้ก่อกำเนิดดินแดนญี่ปุ่น ทว่าหลังจากอิซานามิให้กำเนิดเทพอัคคีกลับสิ้นชีวิตลง อิซานางิมอบตำแหน่งผู้ดูแลสรวงสวรรค์และพระอาทิตย์ให้แก่อามาเทราสุ และมอบหมายให้ซูสะโนโอะดูแลมหาสมุทร ส่วนเทพอีกองค์ที่กำเนิดพร้อมกันคือ สึขุโยมิ(ツクヨミ) มอบหมายให้ปกครองโลกยามรัตติกาล
ทว่าซูสะโนโอะคิดถึงอิซานามิผู้ล่วงลับกลับเอาแต่ร้องไห้ไม่ทำหน้าที่ของตน ส่งผลให้อิซานางิผู้เป็นบิดาโกรธจนขับไล่ให้ออกไปอยู่ที่อื่น ก่อนจากครอบครัวซูสะโนโอะคิดถึงพี่สาวอามาเทราสุ ตั้งใจจะไปร่ำลาก่อนออกเดินทาง แต่อามาเทราสุเข้าใจผิดคิดไปว่าซูสะโนโอะจะมาสร้างความปั่นป่วนแก่สรวงสวรรค์ แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดนักรบไปยืนรอริมแม่น้ำที่กั้นแดนสวรรค์
ซูสะโนโอะ - เทพแห่งพายุ เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%82%B9%E3%82%B5%E3%83%8E%E3%82%AA
ซูสะโนโอะเสนอให้แสดงอภินิหารเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยส่งดาบคู่กาย (十握剣) ของตนให้แก่อามาเทราสุ เมื่ออามาเทราสุบดขยี้ดาบของซูสะโนโอะได้ก่อกำเนิดเทพีทั้งสามคือ ทาโกริฮิเมะ (タゴリヒメ) ทางิสึฮิเมะ (タギツヒメ) และอิจิคิชิมะฮิเมะ (イチキシマヒメ) กล่าวกันว่าเทพีทั้งสามก็คือนางข้าหลวงบนชั้นที่ 2 ของแท่นวางตุ๊กตาฮินะนั่นเอง แต่แท้จริงแล้วคนญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเทพีทั้งสามสถิตย์อยู่ที่ศาลเจ้ามูนาคาตะไทชะ (宗像大社) จังหวัดฟุกุโอกะ
ส่วนซูสะโนโอะได้ขอหยกมากะทามะเครื่องประดับของอามาเทราสุมาแสดงอภินิหาร เมื่อบดขยี้หยกมากะทามะก่อกำเนิดเป็นเทพทั้งห้าได้แก่ อาเมโนะโอชิโฮมิมิ (アメノオシホミミ) อาเมโนะโฮฮิ (アメノホヒ) อามะสึฮิโคเนะ (アマツヒコネ) อิคุสึฮิโคเนะ (イクツヒコネ) และคุมาโนะคุสุบิ (クマノクスビ) เทพทั้งห้าคือนักดนตรีบนชั้นที่ 3 ของแท่นวางตุ๊กตาฮินะ
นอกจากนี้ในวรรณกรรมยังกล่าวต่อไปอีกว่า เทพอาเมโนะโอชิโฮมิมิให้กำเนิดบุตรชายชื่อ นินิกิ ซึ่งต่อมาหลานของนินิกิได้กลายเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ยามาโตะ “จักรพรรดิจินมุ – 神武天皇” และสืบเชื้อสายตราบจนปัจจุบัน
ตำนานการซ่อนตัวของสุริยเทพี - อามะ โนะ อิวาเตะ คาขุเระ เครดิตภาพ : https://www.isejingu.or.jp/about/mythology/
เมื่อการแสดงอภินิหารของสุริยะเทพีอามาเทราสุและวายุเทพซูสะโนโอะเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วถึงความบริสุทธิ์ใจของซูสะโนโอะ วายุเทพองค์นี้แสดงความดีใจเกินเหตุกลายเป็นความปั่นป่วนไปทั่วแดนสวรรค์ ทำให้อามาเทราสุโกรธมากแต่ไม่รู้จะควบคุมซูสะโนโอะอย่างไร นางจึงเข้าไปหลบในถ้ำแล้วใช้ก้อนหินยักษ์ปิดปากถ้ำเพื่อไม่ให้ใครเข้ามาตามได้ เกิดความวุ่นวายไปทั่วจักรวาลทุกหย่อมหญ้ากลายเป็นดินแดนอันมืดมิด
กลายเป็นตำนานสุริยเทพีซ่อนตัว (อามะ โนะ อิวาโตะ คาขุเระ – 天岩戸隠れ)
ความไม่พอใจในวายุเทพทำให้อามาเทราสุเข้าไปซ่อนตัวในถ้ำส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไปทั่วทุกดินแดน เทพทุกองค์ต่างมารวมตัวกันหน้าปากถ้ำเพื่อขอร้องให้สุริยเทพีปรากฏตัว ทว่าไม่ว่าจะใช้สารพัดวิธีก็ไม่เป็นผล
เทพีอามะโนะอุสุเมะ (アマノウズメ) ออกอุบายนำกระจกมาวางไว้หน้าถ้ำ คว่ำถังไม้แล้วขึ้นไปเหยียบพร้อมกับเต้นแร้งเต้นกา แสดงท่าร่ายรำแปลกประหลาด ทำให้เทพองค์อื่น ๆ ต่างพากันหัวเราะเสียงดังกึกก้องไปทั่ว
อามาเทราสุ – สุริยะเทพีนึกสงสัยเหตุใดเทพทุกองค์จึงไม่ทุกข์ร้อนกลับกลายเป็นส่งเสียงหัวเราะขนาดนี้ นางจึงแง้มปากถ้ำเพื่อแอบดูเหตุการณ์ด้านนอก แสงอาทิตย์จากอามาเทราสุสะท้อนไปยังกระจกซึ่งพอดีกับที่เทพทั้งหลายต่างรออยู่เพื่อช่วยกันดันก้อนหินให้พ้นทาง และขอร้องให้อามาเทราสุกลับออกมาปกครองสรวงสวรรค์และให้ความสุกสว่างแก่จักรวาลเฉกเช่นที่เคยเป็นมา
อามะ โนะ ยาสุคาวาระ - สถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นที่ชุมนุมของเทพองค์ต่าง ๆ เพื่อช่วยกันคิดหาวิธีทำให้อามาเทราสุออกจากถ้ำ เครดิตภาพ : https://www.tabirai.net/sightseeing/miyazaki/tatsujin/0000540.aspx
ปัจจุบันถ้ำที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ซ่อนตัวของสุริยะเทพีอยู่ในพื้นที่ของศาลเจ้าอามาโนะอิวาโตะ เมืองทาคาจิโฮ จังหวัดมิยาซากิ ส่วนสุริยะเทพีอามาเทราสุสถิตย์อยู่ที่ศาลเจ้าอิเสะ จังหวัดมิเอะ ซึ่งเป็นที่เก็บรักษากระจกยาฮาโตะ โนะ คากามิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกระจกที่ใช้ล่อสุริยะเทพีออกมาจากถ้ำนั่นเอง
เครดิตภาพปก : https://www.jalan.net/news/article/415742/
โฆษณา