25 มี.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน เสียด-colour

ข้อดีข้อหนึ่งของอาชีพนักเขียนนิยายคือ สามารถระบายความเครียดลงไปในงานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะฟ้องร้อง ตราบที่ไม่ได้เจาะจงชื่อใคร
ความเครียดในที่นี้ได้แก่ความเก็บกด ความหงุดหงิด ความโกรธ ความเบื่อหน่าย ฯลฯ ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเรา
วิธีระบายก็กระทำโดยผ่านเรื่องแต่งเสียดสี ใช้อารมณ์ขัน ประชดประชัน
ปกติการเสียดสีย่อมมิใช่นิสัยที่ดีของผู้เจริญแล้ว แต่ในโลกวรรณกรรม อนุญาตให้เสียดสีแดกดันได้ ตราบที่ทำในรูปศิลปะ เรียกตระกูลงานแบบนี้ว่า Satire เพราะมันยกระดับการระบายอารมณ์เป็นการเสียดสีที่มี คลาส ขึ้นมาทันที!
ตลอดชีวิตการเขียนหนังสือหลายสิบปีของผม ขอสารภาพว่าเคยระบายความเครียดในรูปของงาน Satire หลายครั้งหลายเรื่อง
ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารคนไทย เราคงชินเสียแล้วกับข้ออ้างที่คนขับใช้คือ 1 ไปส่งรถ 2 แก๊สหมด 3 ไม่รู้ทาง 4 ไปส่งรถ 5 แก๊สหมด 6 ไม่รู้ทาง 7 ไปส่งรถ 8 แก๊สหมด 9 ไม่รู้ทาง...
แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้ นอกจากเสียด-colour!
ในเรื่องสั้นชื่อ พาหนะราตรี (ในชุด ร้อยคม) ชายคนหนึ่งออกจากร้านเหล้ากลางดึกมองหาแท็กซี่กลับบ้าน เห็นคันหนึ่งจอดที่หน้าร้าน ก็เปิดประตูรถเข้าไป บอกให้ไปส่งที่รามอินทรา คนขับทำท่าลังเล เหมือนไม่อยากรับเขาไปส่งที่ไกลขนาดนั้น จึงถูกเขาเทศน์เป็นการใหญ่
"แท็กซี่เดี๋ยวนี้เลือกงานจะตายห่า จะฟันนักท่องเที่ยวอย่างเดียว ไม่บริการคนไทย ไม่เชื่อไปดูแถวพัฒน์พงษ์ แถวสุขุมวิท จอดเรียงเป็นแถวไม่รับคนไทย จ้องฟันแต่ต่างชาติ ขี้เกียจแล้วเลือกงาน ตำรวจก็แย่พอกัน ไม่ทำงาน รับแต่ส่วย คนบ้านเมืองนี้ไม่รู้เป็นเหี้ยอะไรไปหมด กฎหมายมีไว้ทำเหี้ยอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน..."
"ไม่ใช่แท็กซี่ทุกคนเป็นอย่างนั้น"
"เหรอ? แล้วทำไมผมเจอแต่พวกนั้นวะ..."
"คุณเมาแล้ว นอนดีกว่า เดี๋ยวถึงแล้วผมปลุกเอง"
เมื่อรถพาเขาไปถึงที่หมาย ผู้โดยสารพบว่ารถคันนี้ไม่มีมิเตอร์ จึงเชื่อว่าคนขับตั้งใจไม่กดมิเตอร์ หมายจะคิดราคาเหมา แต่คนขับไล่เขาลงจากรถ โดยไม่เก็บเงินค่าโดยสาร
เขามองรถที่มาส่งเขาแล่นออกไป เมื่อนั้นเองชายผู้โดยสารจึงพบว่ารถคันที่เขาโดยสารมาไม่ใช่รถแท็กซี่ คนขับคนนั้นเป็นพลเมืองดีที่ยอมขับรถไปส่งเขาเพราะเห็นว่าเขาเมา
นี่เป็นเรื่องสั้นหักมุมจบ แต่สาระของมันคือการเสียดสี โดยอาศัยบทสนทนาเป็นเครื่องมือดังกล่าว
ในนวนิยายนักสืบเรื่อง คดีสามเงา นักสืบ พุ่มรัก พานสิงห์ ต้องตามล่าหาคนร้ายที่วางระเบิดรถแท็กซี่
ฟังดูคล้ายหนังทริลเลอร์ฮอลลีวูด หามิได้้ มันมิใช่ระเบิดซี 4 แต่ประการใด หากเป็นระเบิดไข่เน่า คนร้ายวางมันในรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร
คนวางระเบิดเรียกแท็กซี่ หากคันไหนปฏิเสธไม่ไป ไม่ว่าเหตุผลคือ แก๊สหมด หรือ ไปส่งรถ หรือ ไม่รู้ทาง เขาก็จะแอบหย่อนระเบิดเวลาไว้ เมื่อรถแล่นออกไป เขาก็กดปุ่มระเบิดด้วยรีโมตคอนโทรล ก๊าซไข่เน่าทำให้รถเหม็นไปทั้งคัน รับผู้โดยสารไม่ได้อีกเป็นเดือน
เป็นเรื่องตลกเสียด-colour แบบสะท้อนสังคม
เช่นกัน กลวิธีการเสียดสีซ่อนไว้ในบทสนทนาของตัวละคร
ในเรื่องสารวัตรไปสอบสวนคนขับ
"คุณเห็นใครวางระเบิดนี้หรือเปล่า?"
"ไม่เห็นครับ แต่ผมรู้ว่าเป็นใคร"
"ใคร?"
"ผู้โดยสารคนสุดท้ายที่เรียกรถ เป็นตาแก่คนนึง ผมไปส่งแกไม่ได้ แกเลยวางระเบิดไข่เน่า"
"ทำไมคุณไม่ไป?"
"เพราะแก๊สหมดพอดี"
"เอ๊ะ! ประโยคนี้คุ้นมากเลย แก๊สหมดบ้าง ต้องส่งรถบ้าง ถ้าแก๊สหมด ทำไมจึงจอดรับ?"
"เปล่าครับ แก๊สหมดพอดีตอนตาแก่คนนั้นเรียก"
"งั้นทำไมคุณจึงจอดรถให้ตาแก่ถาม?"
"ทำไงได้ แกเปิดประตูพรวดเข้ามา"
"แกจะเปิดประตูได้ยังไงถ้าคุณไม่จอดรับ"
"รถติดอยู่พอดี"
"แก๊สหมดแล้วขับมาที่สน.ได้ยังไง?"
"ใช้น้ำมันสำรอง รถผมมีสองระบบ"
สารวัตรหัวเราะหึ ๆ "เอ้า! ตอบดี ดิ้นไปได้ ถ้ารถมีสองระบบ ทำไมไม่รับตาแก่คนนั้นไป?"
"ก็แกจะไปไกลมาก ใช้น้ำมันไม่คุ้ม อ้าว! นี่ผมกลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้วหรือครับ สอบสวนผมเหมือนโจรผู้ร้ายฆ่าหั่นศพ ทีรัฐมนตรีโกงที่ดินวัด ทหารอมค่าคอมมิชชั่น พระหลอกขายแพคเกจทัวร์สวรรค์ ไม่เห็นสอบสวนอย่างนี้เลย ปล่อยหลุดหมด หมดอายุความบ้าง หลักฐานไม่พอบ้าง"
นักสืบซี้ดปาก "อุ๊ย! เจ็บ!"
นี่คือการเสียดสีสองเด้ง
เสียดสีคนขับแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร ตามด้วยคนขับเสียดสีคนอื่นๆ อีก
อีกจุดเด่นเฉพาะตัวของแท็กซี่บางคันในบ้านเราคือคนขับแท็กซี่ไม่ยอมทอนเงินให้ผู้โดยสาร ชาวกรุงย่อมชินกับพฤติกรรมดังกล่าว ใครไม่เคยผ่านประสบการณ์นี้ แสดงว่ายังไม่ใช่ผู้ใช้บริการแท็กซี่จริงๆ
เป็นที่มาของงานเสียด-colour สั้นๆ เรื่องนี้
แท็กซี่ไทย โลก # 000,015,105
2
คนขับแท็กซี่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แจ้งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว เขารับผู้โดยสารไปส่งที่ห้องสมุดแห่งหนึ่ง ค่าโดยสาร 39 บาท ผู้โดยสารให้เงินมา 40 บาท เขาไม่ทันจะทอนเงินให้ ผู้โดยสารก็ก้าวออกจากรถไป คนขับแท็กซี่ติดตามผู้โดยสารดังกล่าวมาครบหนึ่งปีแล้ว แต่ก็ไม่สามารถตามผู้โดยสารคนนั้นพบ
1
ขอฝากหนังสือพิมพ์ช่วยลงประกาศให้ผู้โดยสารคนนั้นมารับเงินทอนหนึ่งบาทจากเขาด้วย เขารู้สึกละอายต่อฟ้าดินที่ทอนเงินให้ช้าไป ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับมาหนึ่งปี และขอขมาผู้โดยสารคนนั้นมา ณ ที่นี้ด้วย
เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงหนังก็เป็นปัญหาเรื้อรัง ผลที่ตามมาคืองานเสียด-colour เรื่องนี้ :
มารยาทคนไทย โลก # 000,000,103
นายอุุดม เทวาประภาสกร ฆ่าตัวตายเนื่องจากละอายใจที่โทรศัพท์มือถือของตนดังขึ้นขณะชมภาพยนตร์ ภรรยาของนายอุดมบอกว่า ปกติเขาปิดเครื่องทุกครั้งก่อนเข้าโรงหนัง แต่วันนั้นลืมจริงๆ และฝากขอโทษคนที่ชมภาพยนตร์ในรอบนั้นด้วย
บ้านเรามีมลพิษทางอากาศมาก ทางการก็มักแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้า
เจอประสบการณ์แบบนี้มาหลายสิบปี ก็คร้านจะบ่น ระบายเป็นเรื่องสั้นขายเอาเงินมากินข้าวดีกว่า
ในเรื่องสั้นไซไฟ ทัวร์สยาม 4001 (ในชุด เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว) ผมใช้หลักเสียด-colour แบบดั้งเดิมคือ เขียนบวกในเรื่องลบ ก็คือประชดนั่นเอง นี่เป็นเทคนิคการเสียดสีที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์
1
กรุงเทพฯเป็นแหล่งผลิตหน้ากากกันมลพิษที่ใหญ่ที่สุดของโลก นักท่องเที่ยวจะตื่นตาตื่นใจกับหน้ากากแบบใหม่ๆ โดยนักออกแบบที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้กรุงเทพฯยังมีโรงงานผลิตสีและสารเคมีกว่าหนึ่งหมื่นโรง กรรมวิธีการผลิตส่วนใหญ่ใช้วิธีดูดสารที่ต้องการจากอากาศ เพราะเป็นเมืองที่มีสารเคมีในอากาศเหลือเฟือ รัฐบาลให้ความสนับสนุนโรงงานเหล่านี้ในด้านการเงิน เพราะเป็นอุตสาหรรมที่ช่วยลดปริมาณสารเคมีในอากาศไปในตัว
กลวิธีการเสียด-colour ใช้ได้ในแทบทุกเรื่อง ทุกพล็อต แม้แต่ปัญหาคนไทยอ่านหนังสือจริงๆ น้อยลง เช่นเรื่องนี้ :
โลกหนังสือไทย โลก # 000,000,158
กินเนสส์ บุค ออฟ เรคอร์ด ประกาศว่า คนไทยอ่านหนังสือมากที่สุดในโลก เฉลี่ยคนละ 1,250 เล่มต่อคนต่อปี ความจริงนี้สร้างความวิตกต่อรัฐบาลอย่างมาก ผลที่ตามมาคือ รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายบังคับให้หนังสือทุกเล่มพิมพ์ประโยคนี้ที่หน้าปก ห้ามอ่านเกินวันละ 15 เล่ม เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสายตาและสุขภาพได้ แต่ผู้พิมพ์ก็มักเลี่ยงกฎหมายนี้อยู่เนืองๆ โดยการตีพิมพ์ข้อความดังกล่าวด้วยตัวพิมพ์ขนาดเล็กและจางมาก
และอีกเรื่อง :
สูญการค้า โลก # 000,001,192
ศูนย์การค้าใหญ่แห่งหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) เลิกกิจการ รัฐจำเป็นต้องเข้าอุ้ม โดยเปลี่ยนทั้งอาคารเป็นห้องสมุดประชาชน ซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง
เป็นศูนย์การค้าที่ปิดเป็นรายที่ 18 แล้วในปีนี้ เนื่องจากประชาชนไม่นิยมช็อปปิ้งเลยจริงๆ
มิจฉาชีพ โลก # 000,000,173
นายเจริญ กรงทอง เลิกกิจการร้านทำลูกกรงเหล็กดัด ไปสอนโยคะ เนื่องจากจำนวนขโมยและนักย่องเบาลดลงฮวบฮาบ ทำให้กิจการทำลูกกรงเหล็กดัดตกต่ำตามหลักอุปสงค์-อุปทานธรรรรมดา
จำนวนยุงในประเทศไทย โลก # 000,000,104
หลังจากที่สำนักงานสลากกินแบ่งเลิกไปแล้ว เพราะประชาชนไทยไม่นิยมการพนัน บ่อนพนันแห่งสุดท้ายก็จำต้องเลิกกิจการเพราะไม่มีลูกค้าเลย
อนึ่ง ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีการพนัน ทั้งที่เปิดพนันเสรีมานานแล้ว ทั้งนี้เพราะประชาชนไม่สนใจในอบายมุขเลยจริงๆ
อนึ่ง # 2 การที่ประชาชนไม่นิยมเข้าบ่อนพนันทำให้เกิดผลพลอยได้ คือจำนวนยุงในประเทศลดลง ไข้เลือดออกและมาลาเรียพลอยลดลงไปด้วย เนื่องจากเจ้าของบ่อนนั่งตบยุงทั้งวัน
เทคนิคเสียด-colour ใช้ได้ในงานทุกตระกูล แม้แต่ไซไฟที่ปกติเป็นเรื่องจริงจัง
ในเรื่องสั้น อร่อยและกินได้เต็มที่ (ในชุด เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย เยือกฟ้าพาหนาว) นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์รูหนอนเทียมขึ้นมาเพื่อเชื่อมที่ว่าง-เวลา (space-time) สองจุดในจักรวาลระยะทางหลายร้อยปีแสง เพื่อการเดินทางข้ามอวกาศ แต่ทำไม่สำเร็จตามเป้า ทำได้แค่เชื่อมที่ว่าง-เวลาสองจุด ห่างกันแค่ห้าเมตร
เขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปอีกทาง นั่นคือแทนที่จะใช้ประโยชน์เพื่อการเดินทางข้ามอวกาศ ก็ใช้รูหนอนนี้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนแทน เปลี่ยนมันเป็นเครื่องมือแพทย์ ทำหน้าที่ขจัดสารที่ร่างกายไม่ต้องการผ่านรูหนอนไปทิ้งข้างนอก ยกตัวอย่าง เช่น ส่งคอเลสเทตเตอรอลส่วนเกินของร่างกายผ่านรูหนอนออกไปทิ้งข้างนอกร่าง ในถังขยะที่อยู่ไม่ไกลออกไป
ผลที่ตามมาตรงข้ามกับความตั้งใจทีแรก แต่ทำเงินมากกว่า คนสั่งซื้อเครื่องมือแพทย์เป็นคนทั่วไป ซื้อไปเพื่อจะสามารถกินอาหารได้เต็มที่โดยไม่กลัวอ้วน เพราะอาหารที่กินจะถูกส่งข้ามรูหนอนไปทิ้งในถังขยะ สามารถดื่มสุราได้เต็มที่ เพราะเครื่องรูหนอนจะส่งแอลกอฮอล์ส่วนเกิไปทิ้ง อร่อย กินได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวอ้วน หรือผลกระทบทางสุขภาพไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค กลายเป็นลัทธิ กินเท่าไรก็ไม่อ้วน
นี่ย่อมเป็นการเสียดสีพฤติกรรมบริโภคนิยม
อีกเรื่องหนึ่งที่เราคนไทยเจอบ่อยจนชาชิน คือคำสัญญาของนักการเมือง พวกเขาสัญญาได้ทุกเรื่อง และเราก็เชื่อ เพราะน้ำเสียงของพวกเขาจริงใจมาก
และนี่คือเรื่องสั้น ข่าวจากดาวสีน้ำเงิน (ในชุด เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย เยือกฟ้าพาหนาว) นำเสนอในรูปข่าวสั้น
ศัลยแพทย์เกษียณแล้วคนหนึ่งสารภาพว่าได้ผ่าตัดคนไข้จำนวนหนึ่งเพื่อให้คนไข้เชื่อในสิ่งที่โกหก โดยแก้ไขเส้นประสาทในสมองส่วนหนึ่ง การผ่าตัดประสบความสำเร็จอย่างดี คนไข้ทั้งหมดสอบผ่านเครื่องจับเท็จสบายๆ เมื่อพูดโกหก
ศัลยแพทย์ผู้นี้เปิดเผยว่าคนไข้ของเขาส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองจากไทย อย่างไรก็ตาม เขาไม่เปิดเผยว่าคนเหล่านั้นมีใครบ้าง เนื่องจากเป็นจรรยาบรรณของแพทย์
(จาก หนังสือพิมพ์การเมืองโลกสีน้ำเงิน 1 ธันวาคม 2210)
ในเรื่องสั้น ปฏิกิริยาลูกโซ่ (ในชุด แมงโกง) ผมเสียดสีการทำงานแบบผักชีโรยหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐ
เรื่องมีอยู่ว่าดาราสาววัยรุ่นคนหนึ่งสารภาพกลางรายการทอล์คโชว์รายการหนึ่งว่า เมื่อสามปีก่อนหล่อนเคยทำแท้งเถื่อน เนื่องจากไม่พร้อมที่จะเป็นแม่
หลังจากรายการออกอากาศ ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมลุกขึ้นมาประณามการกระทำของหล่อน ประกาศว่าดาราควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนของชาติ
ผลที่ตามมาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับลูกต่อ โยนความผิดให้ตำรวจในท้องที่ ปล่อยให้มีคลินิกทำแท้งเถื่อน เขาบอกว่าประเทศไทยเมืองพุทธ ต้องไม่มีคลินิกทำแท้งเถื่อน ไม่มีบ่อน ไม่มีแหล่งอบายมุขทั้งหลาย
ผลที่ตามต่อมาคือตำรวจในท้องที่พิจารณาหาช่องทางลงโทษดาราสาว และมอบหมายให้ตำรวจชั้นผู้น้อยได้รับคำสั่งให้ทลายแก๊งทำแท้ง เพื่อ ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป โดยการจ้างแพะคนหนึ่ง
ในเรื่องเจ้านายของตัวละครหลักที่มีหน้าที่ต้องทลายแก๊งทำแท้งเทศน์เขาว่า
"หน้าที่ของเราคือปฏิบัติตามนโยบาย เมื่อคนกำหนดนโยบายบอกเราว่าเมืองไทยต้องสะอาด ไม่มีบ่อน ไม่มีคลินิกทำแท้ง ไม่มี เซ็กส์ ทัวร์ เราก็ต้องไม่มีบ่อน ไม่มีคลินิกทำแท้ง ไม่มี เซ็กส์ ทัวร์ บ้านเรามีแต่วัดวาอารามสวยงาม วัฒนธรรมที่น่าชื่นชม เราไม่มีซ่อง ไม่มีบาร์ ไม่มีกะหรี่ ไม่มีแมงดา ไม่มีตุ๊ด ไม่มีแต๋ว ไม่มีเกย์ คนของเราเป็นคนดี เป็นเมืองพุทธ มีแต่วัด ไม่มีการฆ่ากัน
พวกที่ฆ่ากันเป็นมาเฟียต่างชาติ มาจากประเทศอื่น ผู้หญิงขายตัวก็มาจากประเทศอื่น จีน ลาว พม่า รัสเซีย แต่ไม่มีคนไทย เพราะผู้หญิงบ้านเรารักนวลสงวนตัวŽ"
"แต่ใคร ๆ ก็รู้ว่านี่เป็นการสร้างภาพ..."
"อุ้ย! นี่คุณเพิ่งมาเป็นตำรวจหรือไงวะ? ผมบอกคุณได้เลยว่า หากคุณจะก้าวหน้าต่อไปในอาชีพนี้ คุณต้องรู้จักสร้างภาพ แต่ทุกคนก็แฮปปี้ไม่ใช่หรือ รัฐมนตรีได้หน้า ตำรวจได้หน้า หนังสือพิมพ์ได้ข่าวไปลง ชาวบ้านได้เรื่องเมาธ์กันอีกหลายวัน วิน-วิน ซิทจูเอชั่น เข้าใจมั้ย? จะให้ลงแต่ข่าววัฒนธรรมหรือ?
บ้าน่า! ฝรั่งมาเมืองไทย ไปพัทยา ไปไหว้พระเหรอ โธ่! ฝรั่งมันก็มาตีหม้อกันทั้งนั้น ถนนรัชดาภิเษกมีศูนย์วัฒนธรรม แต่ใครกันล่ะที่ไปดูวัฒนธรรม? ก็ไปอาบอบนวดกันทั้งนั้น อย่าไปว่าใครเลย พวกเราปากว่าตาขยิบอย่างนี้มานานแล้ว หน้าที่ของเราคือทำตามคำสั่ง อเมซซิ่ง ไทยแลนด์! อย่าบอกเลยว่าเราต้องการวางจุดขายไทยเป็นเมืองวัฒนธรรม ตลกน่า!... จุดขายของเราคืออบายมุขต่างหาก"
นี่ก็คือการเสียดสีซ้อนเสียดสี
โชคดีที่นักเขียนมีเกราะกำบังการเสียดสี นั่นคือคำว่าศิลปะ
คำว่าศิลปะมันดีอย่างนี้เอง!
(สัปดาห์หน้าเล่าเรื่องนักเขียนต้องรีเสิร์ชแค่ไหน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา