7 มี.ค. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

ถ้าเราวางแผนช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ ความตายอาจน่าหวาดวิตกน้อยลง

2 ปีก่อน ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่บอกว่าคุณพ่อเข้าโรงพยาบาล เพราะมีฝีในตับบริเวณกว้างมาก 2 ชั่วโมงหลังจากนั้นทั้งครอบครัวก็ไปอยู่เคียงข้างเตียงผู้ป่วยของพ่อ
ตอนนั้นคุณพ่อตัวสั่นจนพูดไม่เป็นภาษา นอนหนาวเหน็บอยู่ในห้องที่ทุกคนต้องคอยซับเหงื่อและถือพัด พอคิวว่างคุณหมอก็รีบพาเข้าห้องผ่าตัดทันที ตลอดคืนหลังผ่าตัดมีพยาบาลเดินเข้าออกเช็กอาการอย่างใกล้ชิด คุณพ่ออยู่ระหว่างความเป็นความตาย และต้องนอนโรงพยาบาลกว่า 20 วัน
โชคดีที่คุณพ่อรอดมาได้ และเราก็กลับมามีชิวิตครอบครัวที่เกือบปกติอีกครั้ง สิ่งที่ต่างไปจากเดิมก็คือผมตระหนักรู้ทันทีว่า “ความตาย” นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่เคยคิดเลย ถ้าวันนึงมันมาถึงผมล่ะ มาถึงแบบที่ไม่ทันตั้งตัวจะทำอย่างไร?
พอคิดถึงเรื่องแบบนี้ดูก็รู้สึกว่า หากเรามีโอกาสได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าว่าว่าเราต้องการอะไรมากที่สุดในกรณีที่วันนั้นมาถึง ก็คงจะดีไม่น้อยเหมือนกัน
ผมคิดว่า “สมุดเบาใจ” จากองค์กร Peaceful Death ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. อย่างเป็นทางการ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ
สมุดเบาใจเป็นสมุดที่ให้เราเขียนความต้องการต่าง ๆ ด้านสุขภาพเอาไว้ล่วงหน้า ว่าหากเราเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต เราต้องการให้ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดปฏิบัติต่อเราอย่างไร เพราะบางคนอาจมีปัญหาด้านการสื่อสารและดูแลตัวเอง เช่น พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก เป็นต้น
ผมคิดว่าสมุดเล่มนี้มันมาอุดช่องโหว่ของสังคมไทยตรงที่ โดยปกติเราไม่ค่อยกล้าพูดถึงเรื่องความตาย คนพูดก็กลัวจะมองว่าเสียมารยาท หรือดูเหมือนไปแช่งคนอื่น พอคนรู้จักกำลังเข้าสู่วาระสุดท้าย ก็เลยเอาแต่พากันเงียบแล้วก็เดากันเอาเองว่าผู้ป่วยต้องการอะไร
แน่นอนว่าทุก ๆ คนหวังดีกันหมด แต่ปัญหาคือผู้ที่จากไปอาจไม่ได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ ดังนั้นสมุดเล่มนี้เลยทำให้เจ้าตัวเป็นคนเขียนสิ่งเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าด้วยตัวเองเลย คนรอบตัวจะได้ไม่ต้องกระอักกระอ่วนแล้วก็เดากันเอาเอง
1
ในสมุดก็จะมีให้กรอกหมดเลยว่า หากต้องฟังคำวินิจฉัย อยากจะฟังเพียงลำพังหรือมีคนใกล้ตัวอยู่ด้วย สิ่งสำคัญที่อยากทำก่อนตายคืออะไร คิดยังไงเรื่องการรักษา อยากให้รักษาเต็มที่เลยไหม หรือประคองอาการลดความเจ็บปวดอย่างเดียว ต้องการให้ดูแลยังไงในช่วงสุดท้ายของชีวิต (สำหรับผมคงต้องมีหนังสือในห้องเยอะ ๆ และมีคนที่รักคอยอยู่เคียงข้าง)
รวมถึงคำถามละเอียดอ่อนที่ไม่น่าจะมีใครกล้าถามกันอย่าง คิดยังไงกับการยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย
แน่นอนว่ามันอาจดูใหม่สำหรับใครหลายคน แต่ผมอยากให้ลองคิดว่าถ้าเรามีโอกาสได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายให้เป็นไปตามที่เราต้องการมากที่สุด ความตายอาจเป็นเรื่องน่าหวาดวิตกน้อยลงก็ได้นะ แล้วมันก็ทำให้เรารู้สึกว่า การเตรียมความพร้อมต่าง ๆ นี้ มันก็เหมือนกับการเตรียมตัวเพื่อที่จะเดินทางครั้งใหม่อีกครั้งนึงเท่านั้นเองครับ
หากใครสนใจ สามารถหาข้อมูลได้จากเพจ Peacful death หรือลองเสิร์ชดูในแอป Marketplace เองก็มีเช่นกันครับ
ชื่อหนังสือ: #สมุดเบาใจ
ชื่อหน่วยงาน: #peacefuldeath
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น #เตรียมตัวก่อนการเดินทางเส้นใหม่
โฆษณา