5 มี.ค. 2023 เวลา 23:03 • ปรัชญา

“สรุปเรื่องสำคัญ เนื่องในวันมาฆบูชา”

"มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม วันมาฆบูชาเป็นเสมือนวันประชุมกันเป็นพิเศษแห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมายล่วงหน้าซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันวรมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน
วันนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันติบาต” (มาจากศัพท์บาลี คือ จตุ+องค+สนนิปาต+ แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) เนื่องจากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างประจวบเหมาะ ๔ ประการ คือ
๑. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระภิกษุ เหล่านั้นทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกขุอุปสมปทา)
๔. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้อภิญญา ๖ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นพระพุทธพจน์ ๓ คาถา ซึ่งถือได้ว่า เป็นหัวใจของพระศาสนา มีใจความดังนี้
พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดัง พระบาลีว่า "นิพพานัง ปรม วทนติ พุทธา" แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นบรมธรรม
พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวง โดยย่อดังพระบาลีว่า "สพพปาปสส อกสรณ กุสลสสูปสมปทา สจิตตปริโยทปเน เอต พุทธานสาสนฯ" คือ การไม่ทำชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ๖ ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร ,การไม่ทำร้ายใคร ,การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย ,การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหารและการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม เมื่อได้มาตรัสรู้และประกาศคำสอนแล้ว ก็จะประกาศหัวใจของศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
ซึ่งมีหัวข้อสำคัญอยู่ ๓ หัวข้อด้วยกันคือ ๑. ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง ๒. ทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม ๓. ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
นี่คือ หัวใจของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่อุบัติขึ้นมาในอดีตก็ดี หรือจะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าก็ดี ก็จะสอนเหมือนกันทั้งนั้น เพราะคำสอนนี้เป็นเหตุที่จะนำสัตว์โลกไปสู่ความสุข ความเจริญแคล้วคลาดปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เพราะสัตว์โลกทั้งหลายทั้งแต่ท้าวมหาพรหมลงมาจนถึงสัตว์นรก ก็ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมทั้งสิ้น
คือ “กฎของเหตุและผล” เหตุก็คือการกระทำ ผลก็คือความสุขความเจริญ หรือความทุกข์ความเสื่อม ก็จะตามมาไม่ยกเว้นใครทั้งสิ้น ถ้าทำเหตุที่ดีตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำทั้ง ๓ ประการ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ถ้ายังไม่ได้บรรลุก็จะได้เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นมนุษย์ไปก่อน จนกว่าจะทำภารกิจให้เสร็จสิ้นไป ก็จะได้กลายเป็นพระอรหันต์กลายเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ถ้ายังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ ก็จะเวียนว่ายอยู่ในภพที่ดี อยู่ในสุคติ เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพบ้างเป็นพรหมบ้างแล้วในที่สุดก็จะได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป ได้ไปอยู่ในพระนิพพาน อันเป็นดินแดนที่มีแต่ความสุขมีแต่ความเจริญโดยฝ่ายเดียว ปราศจากความทุกข์ต่างๆ การกำจัดความโลภความโกรธความหลง ด้วยการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น
สอนตนเองว่าไม่มีอะไรในโลกนี้เที่ยงแท้แน่นอนที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ที่จะอยู่กับเราไปตลอด ที่จะให้ความสุขไร้ความทุกข์ เมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ก็จะต้องปล่อยวาง เตรียมตัวเตรียมใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องจากกันไป จะได้รู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อนไม่ทุกข์ เพราะเดือดร้อนไปทุกข์ไป ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้
เมื่อถึงเวลาจะต้องตายจากกัน จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็ต้องตายจากกันเหมือนกัน แต่คนที่ไม่ทุกข์เป็นคนฉลาด เพราะใจสบาย คนที่ทุกข์เป็นคนโง่ ต้องแบกความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่สร้างปัญญามาทำลายความหลงนั่นเอง นี้ก็คือการกำจัดความโลภความโกรธความหลงในจิตใจ เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป"
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนา ชุด กำลังใจ ๓๑
เรื่อง “วันมาฆบูชา” กัณฑ์ที่ ๓๐๒
วันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
“ข้อมูลจากหนังสือ ป้ายบอกทาง”
โฆษณา