7 มี.ค. 2023 เวลา 09:15 • ข่าวรอบโลก

จรวด H3 ล้มเหลวในการส่งดาวเทียมวิทยาศาสตร์ให้ JAXA

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2023 เวลา 8:37 นาฬิกาที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA ร่วมกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น Mitusbishi Heavy Industries ได้ส่งจรวด H3 เพื่อส่งดาวเทียมของ JAXA ขึ้นจากฐานส่ง LA-Y2 ศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ เกาะทาเนกาชิมะ
สำหรับดาวเทียมของ JAXA ในภารกิจนี้เป็นดาวเทียม Advanced Land Observation Satellite 3 หรือ ALOS-3 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ติดตั้งเซนเซอร์ต่าง ๆ ในหลายช่วงสเปกตรัมที่ทำงานในช่วงอินฟราเรดและช่วงแสงที่สามารถเห็นได้ด้วยดวงตา รวมไปจนถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพความละเอียดสูง โดยดาวเทียมดวงนี้ถูกออกแบบมาให้ทำงานที่หลากหลายตั้งแต่สำรวจทรัพยากรไปจนถึงการเฝ้าระวังภัยธรรมชาติ
สำหรับวงโคจรของดาวเทียมดวงนี้อยู่บนวงโคจร Sun-Synchronous แบบ Sub-recurrent นั่นหมายความว่าดาวเทียมจะไม่ได้โคจรให้ทำมุมกับดวงอาทิตย์เท่าเดิมทุกครั้งเมื่อกลับมาที่เดิมในระนาบโคจร แต่จะยึดกับตำแหน่งบนพื้นโลกเป็นหลัก นั่นคือดาวเทียมจะโคจรในลักษณะที่คล้ายกับ Sun-Synchronous แบบปกติ
แต่จะต้องกลับมาโคจรเหนือตำแหน่งหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในทุก ๆ รอบเวลาที่กำหนด โดยสำหรับดาวเทียมดวงนี้จะโคจรกลับอยู่เหนือน่านฟ้าญี่ปุ่นทุก ๆ 35 วันในรอบหลักและ 3 วันในรอบย่อย ในเวลา 10:30 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น (บวกลบไม่เกิน 15 นาที)
ตัวจรวดได้ประสบความสำเร็จในการจุดระเบิดเครื่องยนต์จรวดในท่อนแรกและท่อนจรวดบูสเตอร์ พาตัวจรวดบินไปตามวิถีจรวดที่ได้วางไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ตัวจรวดกลับไม่สามารถจุดระเบิดเครื่องยนต์ในท่อนที่สองได้ ทำให้ตัวท่อนจรวดและดาวเทียมไม่สามารถขึ้นวงโคจรตามที่กำหนด โดยคาดว่าจุดตกจะไม่ห่างจากจุดตกในจรวดท่อนแรกมากนัก
จรวด H3 ถือเป็นจรวดรุ่นเรือธงรุ่นใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง JAXA และ Mitsubishi Heavy Industries เพื่อแทนที่การใช้งานจรวด H-IIA ที่ใช้งบประมาณการส่งที่สูงกว่าเกือบเท่าตัว โดยมันได้ถูกออกแบบให้ลดงบประมาณการผลิตจากการลดความซับซ้อนของระบบและยังถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าจรวดรุ่นก่อนหน้าอีกด้วย
อ่านเรื่องราวของจรวด H3 - https://spaceth.co/japanese-h3-rocket/
สำหรับในภารกิจนี้ จรวด H3 ที่ใช้ส่งจะจัดอยู่ในรุ่น H3-22S โดยตัวเลข 2 ตัวแรกหมายถึงจำนวนของเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลว LE-9 ที่ในภารกิจนี้จะใช้งานเพียงสองเครื่อง (จรวด H3 ถูกออกแบบรุ่นย่อยที่มีการใช้งานเครื่องยนต์ LE-9 แบบสองและสามเครื่อง) และเลข 2 ตัวที่สองแสดงถึงจำนวนจรวดเชื้อเพลิงแข็ง SRB-3 ที่ถูกใช้ (จรวด H3 จะมีรุ่นย่อยที่ไม่ต้องใช้ SRB-3 แบบสองท่อน และแบบสี่ท่อน)
ส่วนตัวอักษร S นั้นหมายถึงขนาดของฝาครอบ Payload ที่ในภารกิจนี้ใช้แบบสั้น (ฝาครอบของ H3 มีด้วยกันสามแบบ ประกอบด้วยแบบสั้นหรือ L แบบยาวหรือ L และแบบกว้างหรือ W)
หากใครได้ตามดูการถ่ายทอดสดการส่งจรวดลำนี้ที่ต้องถูกเลื่อนออกไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงวินาทีที่จรวดเตรียมขึ้นบิน จะสังเกตได้ว่าปัญหาหลักคือจรวดเชื้อเพลิงแข็งไม่ได้ถูกสั่งจุดระเบิดเนื่องจากปัญหาระบบจ่ายไฟฟ้าของเครื่องยนต์หลัก LE-9 ทำให้เครื่องยนต์หลักถูกสั่งตัดการทำงานลงหลังจากจุดระเบิดขึ้นได้ไม่กี่วินาที
โฆษณา