8 มี.ค. 2023 เวลา 12:31 • การศึกษา

ทำไมเราต้องเรียนวิชาพุทธศาสนา (1/5)

วิชานี้น่าเบื่อจัง วิชานั้นไม่สนุกเลย... ทุกท่านเคยเกิดความคิดแบบนี้บ้างไหมครับระหว่างที่เรียนอยู่ บางคนอาจจะคิดแบบนี้กับหลายวิชา บางคนอาจจะไม่เคยคิดแบบนี้เพราะรู้สึกสนุกกับการเรียนทุกวิชา แต่มันก็ต้องมีบ้างแหละที่เราคิดว่า วิชานี้เราเรียนไปทำไม เราจะได้ใช้อะไรในชีวิตประจำวันจริง ๆ หรอ... ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนี้กับหลายวิชา(คงเพราะไม่มีวิชาที่โดนใจรึเปล่านะ5555)
ย้อนกลับไปในช่วงวัยที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา มีหลายวิชาที่เราทั้งชอบและไม่ชอบ แต่ว่าจะมีอยู่หนึ่งวิชาที่ตัวผมเองสงสัยว่าเราจะเรียนไปทำไมนะ ก็คือ วิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในสาระ วิชาศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ที่เกิดความสงสัยเป็นเพราะว่าไม่รู้สึกถึงความสำคัญของวิชานี้ หรือสิ่งที่จะนำไปใช้ได้เลย มันเหมือนกับการท่องจำเพื่อใช้แค่สอบมากกว่า และตัวผมเองนั้นก็เชื่อว่า คงมีอีกหลายท่านที่อาจจะเคยคิดแบบเดียวกันหรือยังคิดแบบนี้อยู่
บทความจึงจะกล่าวถึงที่มาหรือวัตถุประสงค์แรกเริ่มเดิมทีของวิชาพระพุทธศาสนาในการศึกษาไทยกัน ซึ่งบทความเรื่งนี้เนื้อหาจะค่อนข้างยาว ทางตัวผมเองจึงจะขอแบ่งส่วนของเรื่องนี้ ออกเป็น 5 ตอนย่อยๆด้วยกัน โดยจะประกอบด้วย ตอนที่1และ2 จะพูดถึงความเป็นมาแรกเริ่มของวิชาพระพุทธศาสนา ตอนที่ 3 จะพูดถึงวัตถุประสงค์ เนื้อหา และตัวชี้วัดของวิชาในการศึกษาปัจจุบัน ตอนที่ 4 จะพูดถึงปัญหาการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นงานวิทยานิพนธ์ที่ผมจะยกมาวิเคราะห์ และตอนที่5 ตอนสุดท้ายผมจะใช้ปรัชญาต่าง ๆ มาแก้ปัญหาที่มี
หลังจากที่ได้รู้แนวทางของผมแล้ว ก็จะขอเข้าสู่เนื้อหาโดยเริ่มจากประวัติหรือเรื่องราวความเป็นมาขอวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งตัวผมอ้างอิงจากหนังสือ "คณะสงฆ์สร้างชาติสมัยรัชกาลที่ 5 " โดยผู้เขียนคือ คุณ "ปฐม ตาคะนานันท์"
และผมจะขอเริ่มต้นจากจุดที่ว่า ปฐม ตาคะนานันท์ (2551, น.153-155) ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมการศึกษาของไทย และการพัฒนาการศึกษาให้เป็นแบบแผนใหม่
ไว้ว่า
“การศึกษาในประเทศไทยสมัยก่อน การปฏิรูประบบการศึกษา มักอยู่ในบริเวณวัด โดยมีพระภิกษุทำการสอน บรรดาบุตรหลานของสามัญชนทั่วไป เมื่ออายุพอที่จะเข้ารับการศึกษา ผู้ปกครองจะพากุลบุตรของตนเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ของพระสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้และสั่งสอน อาจกล่าวได้ว่าวัดเป็นทั้งโรงเรียนสำหรับเรียนวิทยาการต่างๆและเป็นที่อาศัยของเยาวชน ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชุมชนคือ พระสงฆ์ได้ชื่อว่าเป็นครูของประชาชนในวัฒนธรรมไทยในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทั้งหลายให้แก่กุลบุตรของชาติทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับชั้นต้น ชั้นกลาง ไปจนถึงชั้นสูง แต่เนื่องจากการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ไม่มี “หลักสูตรกลาง”ดังนั้นลักษณะการศึกษาจึงมักขึ้นอยู่กับผู้สอนภายใต้ “ประเพณีปฏิบัติ” โดยระดับชั้นต้นพระจะสอนการอ่านและเขียนภาษาไทย ในระดับชั้นกลางสอนอักขระขอมและภาษามคธด้วยและสอนศิลปวิทยาการเพื่อการครองชีพ เช่น วิชาการช่างต่างๆ และสั่งสอนให้เป็นผู้มีศีลธรรม รู้ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ
ส่วนในชั้นสูงจะสอนวิชาอักษรศาสตร์ประกอบด้วยความรู้ทางด้านโคลง ฉันท์กาพย์ กลอน วิชาโหราศาสตร์ วิชาไสยศาสตร์ และวิชาทางด้านการแพทย์ เหล่านี้
กระนั้น เมื่อมีการปฏิรูปศึกษาแล้วก็ตาม การศึกษาสมัยใหม่ยังคงเริ่มต้นขึ้นที่วัด ด้วยเหตุว่าวัดเป็นสถาบันการศึกษาในทางวัฒนธรรมและความรู้ที่ใช้สอนอิงอยู่กับความรู้จากพุทธศาสนา ทำให้เยาวชนชาติได้ศึกษาเรื่องศีลธรรม คือการรู้จักรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติที่เป็นทั้งมรดกและประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นการศึกษาของรัฐไทยเริ่มเป็นรูปแบบในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะสยามได้ปะทะสังสรรค์กับภาวะสมัยใหม่ที่มาจากภายนอก
ทำให้ในปี พ.ศ. 2441 รัชกาลที่ 5 ทรงปรึกษาปัญหาเรื่องการจัดการศึกษากับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส(พระอิสริยยศในขณะนั้น)
เป็นผลให้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราช-โองการ “ประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง” โดยโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณ-วโรรส ทำหน้าที่อานวยการให้พระภิกษุสงฆ์สั่งสอนกุลบุตรในหัวเมือง และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดารงราชานุภาพ ที่อธิบดีกรมศึกษาธิการให้เป็นผู้ช่วยจัดการอนุกูลกิจที่ฝ่ายฆราวาสพึงจะกระทำได้
นอกจากการจัดการศึกษาในหัวเมือง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสยังทรงปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์และของฆราวาส ด้วยการแก้ไขหรือการจัดวิธีการศึกษาของพระสงฆ์และสามณรขึ้นมาใหม่ ดังเช่น การแปลพระปริยัติธรรม การสอบบาลีที่สนามหลวง โดยทรงแก้ไขหลักสูตรบาลี รวมถึงระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการสอบ อีกทั้งทรงชาระปกรณ์ที่จะใช้เป็นหลักสูตรบาลีทุกชั้น จนกระทั่งกลายเป็นหลักสูตรที่ทรงพอพระทัยในระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือหลักสูตรที่ทรงพัฒนาขึ้นนี้ถูกใช้จนกระทั่งปัจจุบัน
จากพระกรณียกิจที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ท้ายที่สุดนำไปสู่การสร้างความคิดเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมแก่ผู้เข้ารับการศึกษาซึ่งความมุ่งหมายดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการทางานของอุดมการณ์ ที่ผู้สร้างอุดมการณ์ให้ความสำคัญ โดยดาดหวังให้เรื่องของคุณธรรม" และ "ศีลธรรม จรรยา" ต้องมีในบุคคลผู้ซึ่งผ่านระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ทั้งที่เป็นฆราวาสและพระสงฆ์”
จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อนการเรียนการสอนนั้นเกิดขึ้นที่วัด ผู้สอนวิชาความรู้ต่าง ๆ ก็คือพระสงฆ์ทำให้วัฒนธรรมการศึกษาของไทยนั้นมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อยุคสมัยใหม่มาถึงจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้มีแบบแผนการศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวกัน
หมายความว่า การเรียนในสมัยก่อนที่ยังไม่มีหลักสูตรแกนกลางนั้น ความรู้ของแต่ละคนที่ได้รับจากแต่ละวัดนั้นย่อมไม่เหมือนกัน บางวัดพระสงฆ์ที่ถ่ายทอดความรู้ก็ถนัดในความรู้บางด้าน ทำให้ความรู้ที่ได้รับนั้นไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรแม่แบบที่เป็นแกนกลางเพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้รับความรู้ไปอย่างครบถ้วนตามที่รัฐต้องการ
และในตอนถัดไปเราจะได้รู้ว่า เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจนเกิดเป็นหลักสูตรแกนกลางแล้ว วิชาพระพุทธศาสนาในตอนแรกนั้นมีเนื้อหาเป็นอย่างไร
ปล. ถ้าใครชอบ อย่าลืมกดติดตาม กดไลก์ และกดแชร์กันด้วยนะครับ :)
โฆษณา