10 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

The Glory 2 : ผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาวจากการบูลลี่

“ครั้งหนึ่งฉันเคยคิดแบบนี้ ไม่ว่าจะอะไรหรือใครก็ตาม ถ้ามาช่วยฉันเอาไว้ จะเป็นยังไงกันนะ”
สิ้นสุดการรอคอยแล้วกับ The Glory ภาค 2 ซีรีส์ที่มีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากจากภาคแรกที่เพิ่งปล่อยออกไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
The Glory เป็นซีรีส์ที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับการบูลลี่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้เมื่อ 2004 จนเหยื่อของการบูลลี่ (Bullying) ต้องลาออกและทิ้งความฝันของตัวเองไป ส่วนคนที่บูลลี่ก็ยังคงอยู่ในสังคมแล้วทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยที่ไม่รู้ว่าเกือบ 20 ปีต่อมา ความผิดที่เคยทำไว้ จะย้อนกลับมาหาตัวเองอีกครั้ง
ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ค่อนข้างบ่อยในเกาหลีใต้ แล้วยิ่งการมาของโซเชียลมีเดีย ทำให้การบูลลี่นั้นถูกพัฒนาขึ้นเป็นการกระทำการไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) ความรุนแรงของการกระทำเหล่านี้ ถึงขนาดที่ทำให้เหยื่อหลายคนพยายามจบชีวิตตัวเองลงเลยทีเดียว ดังที่เราน่าจะเคยเห็นข่าวในลักษณะนี้ผ่านๆ ตาอยู่บ้าง
ปรากฏการณ์บูลลี่ในเกาหลีใต้เป็นอย่างไร แล้วมันส่งผลกระทบต่อเหยื่อในระยะยาวได้อย่างไรบ้าง ทำไมหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน?
📌 ทำไมการบูลลี่กันในโรงเรียน จึงพบได้มากในเกาหลีใต้?
เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นสังคมที่แข่งขันกันสูงมากในทุกๆ ด้าน นักเรียนเกาหลีมักจะถูกกดดันให้ต้องแข่งขันเพื่อประสบความสำเร็จ นักเรียนเหล่านี้จะไม่มองว่าเพื่อนร่วมชั้นเป็นเพื่อน แต่จะมองว่าเป็นคู่แข่งมาตั้งแต่แรก
จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พบว่า 1 ใน 10 ของนักเรียนชั้นประถมและมัธยมในเกาหลีใต้ ต้องทุกข์ทรมานจากความรุนแรงภายในโรงเรียนที่เกิดจากฝีมือของเพื่อนร่วมชั้น
ในปี 2013 มีการรายงานว่ามีการบูลลี่กันในโรงเรียนทั้งสิ้น 11,749 เคส
ในปี 2019 การบูลลี่กันในโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวกลายเป็น 31,130 เคส
งานวิจัยจึงได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 10 - 17 ปี กว่า 3,200 คนในเกาหลีใต้
โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอายุ เพศ ชั้นเรียน การศึกษาของผู้ปกครอง การมีพี่น้อง ผลการเรียน สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความพึงพอใจในตัวเอง สุขภาพ ความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง และคำถามที่เกี่ยวกับข้องการบูลลี่ เพื่อจะได้หาลักษณะรูปแบบของคนที่ถูกบูลลี่ และจับตาดูความเสี่ยงไว้แต่แรกจะได้ช่วยได้ทัน
จากผลสำรวจพบว่าเหยื่อของการถูกบูลลี่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับผู้หญิงช่วงอายุที่โดนบูลลี่มากที่สุด จะเป็นช่วงอายุ 13 - 14 ปี
ในขณะที่สำหรับผู้ชายจะเป็นช่วงอายุ 10 - 12 ปี
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงลักษณะของเหยื่อการบูลลี่ พบว่าคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีผลการเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีอาการซึมเศร้า และมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับผู้ปกครอง มักจะตกเป็นเหยื่อของการถูกบูลลี่ได้มากกว่า
ซึ่งก็ตรงกับลักษณะของมุนดงอึน และเหยื่อรายอื่นๆ ในเรื่อง The Glory ที่เป็นเด็กยากจน จึงโดนบูลลี่ได้ง่ายกว่า
📌 ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจระยะยาวของการบูลลี่
โดยปกติเวลาพูดถึงการถูกบูลลี่ เราก็มักจะพูดถึงผลกระทบในระนะสั้นที่เห็นได้ชัด คือผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิตในวัยเด็กของเด็กที่ถูกบูลลี่ แต่อันที่จริงแล้วการบูลลี่ยังคงส่งผลในระยะยาวไปอีกนับสิบๆ ปี จนถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในระยะยาวมักไม่รู้เป็นที่รับรู้มากนัก เนื่องจากไม่ค่อยมีการศึกษาอย่างจริงจัง
ก็เลยมีงานวิจัยหนึ่งได้ลองทำการศึกษาผลกระทบจากการถูกบูลลี่ในวัยเด็กตอนที่ผ่านไปหลายปีแล้ว โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษที่อายุ 50 ปี
ส่วนใหญ่แล้วผลกระทบโดยตรงต่อเหยื่อของการบูลลี่ในตอนโต คือเรื่องของการทำงานและรายได้ เนื่องจากคนเหล่านี้มักจะโตขึ้นมากลายเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในตัวเองต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาในการหางานทำ การเลื่อนตำแหน่ง ชั่วโมงการทำงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน
และอีกสาเหตุหนึ่งคือคนที่เคยถูกบูลลี่มักจะมีการตอบสนองต่อความเครียดได้ไม่ดีนัก ทำให้นำไปสู่การออกจากตลาดแรงงาน หรือลดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบต่อการมีคู่ครองอีกด้วย
พบว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ถูกบูลลี่ในวัยเด็ก จะมีคะแนน General ability test ที่ต่ำกว่า
และในตอนที่อายุ 33 ปี ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่เคยถูกบูลลี่จะมีแนวโน้มเครียดสูง อีกทั้งผู้ชายที่เคยถูกบูลลี่จะมีโอกาสหาคู่ครองได้น้อยกว่าคนที่ไม่เคยถูกบูลลี่ในวัยเด็ก
ในเชิงเศรษฐกิจ พบว่าผู้หญิงที่เคยถูกบูลลี่บ่อยๆ ในวัยเด็ก จะมีรายได้โดยเฉลี่ยรายสัปดาห์จากการจ้างงานน้อยกว่า และมีแนวโน้มที่จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในตอนที่อายุ 50 ปี น้อยกว่าคนที่ไม่เคยถูกบูลลี่
คนกลุ่มนี้มักไม่ค่อยมีเงินเก็บ หรือมีเงินเก็บน้อย มีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเกี่ยวกับสุขภาพจิตในช่วง 8 ปีเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน สูงกว่าคนที่ไม่เคยโดนบูลลี่อยู่ราวๆ 717 ปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งถ้ารวมๆ ทั้งหมดทุกคนแล้ว จะคิดเป็นค่าใช้จ่ายสูงกว่า 4.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงต่อปี
ในขณะที่ผู้ชายที่เคยถูกบูลลี่บ่อยๆ ในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะไม่มีงานทำ หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากความเจ็บป่วยและความพิการ
📌 แล้วควรทำอย่างไรถึงจะลดปัญหาการบูลลี่ได้?
ปัญหาการบูลลี่กันในโรงเรียน ก็เป็นปัญหาที่ทางเกาหลีใต้เองไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาแม้โรงเรียนส่วนใหญ่ในโซลจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด
แต่การบูลลี่มักจะเกิดขึ้นในที่ลับตาคน ในมุมอับที่กล้องวงจรปิดมองไม่เห็น จึงมีการส่งเสริมให้ครูคอยดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด มีการจ้างครูและที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือการพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดให้เบาบางลง ทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยและสนุกสำหรับเด็กๆ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อที่จะเติบโตต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้แก้กันได้ง่ายๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ผู้เขียนเองรู้สึกว่าซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง พยายามสอดแทรกประเด็นปัญหาการบูลลี่กันในโรงเรียนไว้อยู่เสมอ อาจจะเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้ตระหนักรู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจริง
และหวังว่าสถาบันครอบครัว จะเป็นสถาบันแรกๆ ที่ช่วยขัดเกลาสั่งสอนเรื่องพวกนี้ เพราะอย่างที่เราก็คงจะเห็น ว่าการบูลลี่ของเด็กในโรงเรียนที่หลายคนมักบอกว่าเป็นการเล่นขำๆ แต่กลับสร้างแผลเป็นทั้งร่างกายและจิตใจแบบยากที่จะเยียวยา และกลายเป็นปัญหาสังคมขนาดใหญ่ที่เราไม่สามารถจะมองข้ามไปได้
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา