13 มี.ค. 2023 เวลา 07:44 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมลงบทความใน Blockdit เรื่อง ประสบการณ์ใส่ไฟ

เล่าถึงนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งที่ผมเขียนคือ ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85 แล้วโยงถึงหนัง Everything Everywhere All at Once ว่าทั้งสองเรื่องใช้คอนเส็ปต์เดียวกัน แต่พล็อตและวิธีเล่าเรื่องต่างกัน
1
(คอนเส็ปต์ = ไอเดียหลักของเรื่อง พล็อต = รายละเอียดปลีกย่อยของเรื่อง)
เช้านี้มีผลประกาศว่า Everything กวาดรางวัลออสการ์ไปหลายสาขา ก็ขอแสดงความยินดีกับผู้สร้างด้วย หนังแนวนี้เดินทางมาถึงจุดนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะสำหรับคนจำนวนมาก มันเป็นหนังดูยาก เข้าใจยาก ถ้าไม่ชอบมาก ก็จะเกลียดมากไปเลย
นี่เองที่ทำให้คิดตอนตีพิมพ์เรื่อง ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติฯ ว่าคงขายยากแน่ เพราะตอนที่ผมส่งต้นฉบับให้บรรณาธิการอ่าน บ.ก. บอกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ปวดหัวชิ-หาย
โดยคอนเส็ปต์ทั้งสองเรื่องคือ เราแต่ละคนมีตัวตนเอกเทศในแต่ละโลกคู่ขนาน ซึ่งตามทฤษฎีฟิสิกส์มีนับล้านๆ โลก ในบางโลกเราอาจเก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางโลกเราอาจมีสรีระต่างจากที่เราเป็นในโลกนี้ ฯลฯ (ในหนัง Everything บางโลกคนอาจมีนิ้วยาวเหมือนไส้กรอก)
ตัวละคร 'สาย ธารี' ในเรื่อง ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติฯ ในบางโลกเป็นนักเขียนผี บางโลกเป็นนักรบ เป็นขุนศึกกรีก นักยิงธนู แม้กระทั่งเป็นนก เป็นปลา เป็นลิง ยามเฝ้าตึกในบางโลกชอบอ่าน The Universe in a Nutshell แม่บ้านตึกบางโลกอาจเป็นนักเขียนคำโฆษณา ฯลฯ
ฟุ้งซ่านไปหรือเปล่า? ขึ้นกับมุมมอง เพราะเราเราอาจใช้มุมมองเรื่องโลกคู่ขนานกับการใช้ชีวิต นั่นคือมองว่า คนเรามี 'choice' มากเท่าจำนวนโลกคู่ขนาน ซึ่งมีนับล้านๆ โลก จึงไม่มีข้ออ้างว่า "ฉันไม่มีทางเลือก"
ทุกๆ ตัวตนในโลกคู่ขนานหนึ่ง ก็คือหนึ่ง Possibility
มองแบบนี้ก็จะมีทัศนคติว่า ฉันจะเป็นใครก็ได้ตามที่ฉันอยากเป็น และเราสามารถทำให้โลกคู่ขนานใบที่เรากำลังมีชีวิตอยู่นี้เป็นโลกที่ดีที่สุด
ป.ล. อ่านบทความเต็มใน Blockdit ได้ที่นี่ คลิก ...
โฆษณา