20 มี.ค. 2023 เวลา 14:46 • อาหาร

ภาพจำและภาพจริง : กว่าจะได้กะทิมาแกงกินสักหม้อหนึ่ง 👨‍🍳

🍛 เวลาที่ผมมีโอกาสแวะร้านข้าวราดแกงในมื้อเช้า
แม้ว่าในร้านจะมีกับข้าวให้เลือกราดหลายสิบอย่าง
แต่ใจผมมักจะหนีไม่พ้นไปจากราดแกงกะทิเป็นหลักไว้ 1 อย่าง
ส่วนอีกอย่างเผื่อไว้ให้อาหารจำพวกผัด และทอด
เมนูมีให้เลือกหลากหลาย
เพราะเป็นไปตามความรู้สึกและความชอบของผมเองที่เห็นว่า
แกงกะทินั้น เข้ากันได้ดีกับข้าวสวยร้อน ๆ โดยเฉพาะแกงเผ็ด และแกงคั่ว
ราดแกงขี้เหล็ก & ปลาดุกทอดผัดพริก
และในระหว่างที่นั่งกินอยู่นั้น
หากใจผมไม่ไหลไปที่เรื่องนู้น เรื่องนี้เสียก่อน ก็มักจะมีภาพจำตอนวัยเด็กที่ช่วยแม่ทำกับข้าวในครัว 👩‍👧
แว็บ ! 💭 เข้ามา คอยเตือนความทรงจำถึงการช่วยแม่ปอก ขูดมะพร้าว และไว้วางใจให้ช่วยคั้นกะทิเป็นครั้งคราว
ซึ่งเมนูที่แม่ทำบ่อย ๆ มักหนีไม่พ้นไปจากแกงกะทิ อาทิ แกงเผ็ดใส่มะเขือพวง แกงหน่อไม้ดองกับปลาสวาย แกงเผ็ดฟักทอง แกงคั่วฟัก แกงคั่วสับปะรด แกงขี้เหล็กและแกงเทโพผักบุ้ง
แกงเทโพผักบุ้ง
นอกจากนี้ อาจจะมีแกงท้องถิ่นของชาวมอญเกาะเกร็ดแทรกอยู่บ้างซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลที่มีผลผลิตออกตามธรรมชาติ เช่น แกงเลียงหน่อกะลา และแกงส้มลูกมะตาด
แกงเลียงใส่หน่อกะลา
อีกทั้ง อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ แม่จะแกงกะทิไว้ตักบาตรในวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ ตามที่ผมจดจำความตั้งใจของแม่ได้
ทำขนมจีนน้ำยากะทิ ถวายพระ วันเทศกาลสำคัญ
สาเหตุที่แม่แกงกะทิบ่อย นอกจากจะเป็นเรื่องวิถีชีวิต ของชาวมอญเกาะเกร็ดและการทำบุญแล้ว
ซึ่งคล้ายกันกับชาวไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้
ยังมีเหตุผลในเรื่องพื้นที่เพาะปลูกในสวนที่มีต้นมะพร้าวปลูกไว้ริมคันสวนอยู่หลายสิบต้น
ผลมะพร้าวจึงมีเพียงพอสำหรับทำแกงกินเป็นของคาว และทำเป็นของหวานได้หลายชนิด
นั่น คือ ความทรงจำที่เป็นภาพใหญ่
ขนมเปียกปูนมะพร้าวโรยหน้า
พอมองลงไปถึงภาพจำในภาพย่อย ๆ ผมยิ่งเห็นภาพขั้นตอนการเตรียมน้ำกะทิไว้ให้แม่แกง ชัดเจนยิ่งขึ้น
เริ่มตั้งแต่การขึ้นต้นมะพร้าว การปอกมะพร้าว การขูดมะพร้าว และการคั้นกะทิ
ซึ่งเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของผม
ที่ได้รับโอกาสและถูกฝึกให้ทำทุกขั้นตอนในข้างต้นมาบ้าง แม้จะไม่ถึงกับชำนาญมาก
นับตั้งแต่ขึ้นต้นมะพร้าวไปถึงยอดต้นมะพร้าว แล้วใช้มือบิดหรือใช้เท้าถีบลูกจากทะลายมะพร้าวลงมา
ต้นอินทผลัมขึ้นง่ายกว่า
แต่ถ้าปีนขึ้นไปยอดมะพร้าวไม่ได้ เพราะคอมะพร้าวรก
จะใช้วิธีเอามือข้างหนึ่งเอื้อมไปบิดลูกจากทะลายมะพร้าวแทน
โดยที่อีกมือหนึ่งกอดคอต้นมะพร้าวไว้กันตกลงมา
เวลามองลงมาจากต้นมะพร้าวที่สูง ๆ ถึงพื้นดินข้างล่างครั้งใด ถือเป็นการวัดจิตใจตัวเองไปในทีเหมือนกัน (กล้าปนกลัว ฮา)
ต้นมะพร้าวสูงที่ปลูกมานาน
พอได้มะพร้าวที่ขึ้นจากต้นมาแล้ว เวลาจะแบกกลับมาบ้าน จะใช้มีดเจาะหรือถากเปลือกแต่ละลูกพอให้เป็นเส้นเชือกเล็ก ๆ
นำมาผูกรวมกัน 2-3 ลูก เพื่อสะดวกในการใช้มือหิ้วหรือแบกใส่ไหล่
แต่ถ้าไปกัน 2 คน กับพี่ชายหรือเพื่อน จะใช้ไม้ไผ่ยาว ๆ ที่พอรับน้ำหนักได้สอดใต้ลูกมะพร้าวที่ผูกมัดกันไว้
แล้วช่วยกันแบกมา ทำให้แบกได้เที่ยวละหลายลูก
พอมาถึงบ้าน ถ้าใช้แกงวันนั้นเลย ก็ใช้มีดอีโต้ปอกเปลือกมะพร้าวแห้งออก และเกลาผิวมะพร้าวให้เกลี้ยง
ปอกและเกลา
แล้วมาถึงขั้นตอนการผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีก
โดยวางลูกมะพร้าวที่เกลาจนเกลี้ยงไว้บนมือข้างที่ไม่ถนัด
จากนั้นใช้มือข้างที่ถนัดจับมีดเฉาะลงไปที่ลูกมะพร้าว
(นับว่าเป็นการวัดจิตใจตัวเองอีกครั้ง (ฮา))
โดยวางน้ำหนักมือให้พอดี
เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมือที่ถือลูกมะพร้าวไว้ หากบางลูกมีจาวมะพร้าวอยู่ด้วยก็ช่วยป้องกันได้อีกทางหนึ่ง
หลังจากได้มะพร้าวแบ่งเป็นซีก ๆ แล้ว จะใช้กระต่ายขูดมะพร้าวขูดเอาเนื้อมะพร้าวแต่ละซีกออก
กระต่ายขูดมะพร้าว และกะลาใช้ตักน้ำ และตวงวัดได้
สุดท้ายจึงเอาเนื้อมะพร้าวที่ขูดได้ไปคั้นด้วยน้ำอุ่น ๆ ได้หัวกะทิ และหางกะทิสำหรับใช้ทำแกงต่อไป
เป็นอันจบหน้าที่ของผู้ช่วยแม่ครัวอย่างผมแค่ขั้นตอนนี้
👉 ส่วนหน้าที่แกง แม่ครัวที่มากด้วยฝีมืออย่างแม่ผม
ยังไม่ไว้วางใจให้ผมทำ (ฮา)
กะทิสดมีบริการในปัจจุบัน
พอนึกภาพมาถึงขั้นตอนนี้ ผมคิดอยู่ในใจว่า...
แม้แม่ยังไม่ไว้ใจให้ผมลงมือแกง แต่ผมก็ภูมิใจที่ได้แบ่งเบาภาระแม่ครัวของแม่ และเห็นถึงคุณค่าในชีวิตที่ได้รับ
เมื่อมองย้อนหลังกลับไป ทั้งในทางตรงและผลทางอ้อม
ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นภาพจำในอดีตที่ไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำ ✍
🧑‍💻 ครั้นพอมาเจอภาพจริง... เมื่อราว ๆ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่แถบ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ภาพของยายบุญสม หญิงสูงอายุ ในวัย 75 ปีเศษ ที่เพิ่งกินข้าวมื้อกลางวันเสร็จ
กินไป ฟังไป สุขไม่ซับซ้อน
โดยหุงหากินเอง 2 อย่าง ในเมนู ต้มข่าไก่ใส่กะทิ และน้ำพริกกินกับมะเขือเปราะต้ม
พอมองไปรอบ ๆ บ้าน ใกล้ที่ยายนั่งอยู่ ผมเห็นลูกมะพร้าวแห้งหลายลูกอยู่ในเข่งไม้ไผ่สาน รวมทั้งกระต่ายขูดมะพร้าว และกะลามะพร้าว
ลูกมะพร้าวแห้งหล่นจากต้น
พอมองออกไปตรงพื้นที่เพาะปลูกสวนครัว เห็นต้นมะกรูด ต้นข่า และตะไคร้
ต้นมะกรูด ข่า ตะไคร้
ครั้นมองไกลออกไปรอบนอก เห็นต้นมะพร้าวหลายต้นปลูกเรียงรายอยู่
ทั้งหมดเป็นคำตอบอย่างดีว่า...เมนูต้มข่าไก่ใส่กะทิ...
โดยฝีมือแกงของยายบุญสม
ต้มข่าไก่
ช่างเป็นมื้อที่เรียบง่าย
เพราะใช้มะพร้าวและเครื่องปรุงสมุนไพรที่อยู่ในสวนครัวรอบ ๆ บ้าน มาทำแกงกินเอง
ผมแกล้งถามยายไปว่า "อะไรบ้างที่ยายต้องใช้สตางค์ซื้อมาทำแกงต้มข่าไก่ใส่กะทิมื้อนี้"
ยายบอกว่า "ซื้อแต่เนื้อไก่ เท่านั้นเอง"
เท่านั้นล่ะ... ภาพจำของแม่ผม...ลอยกลับมาทันทีที่หน้าผมอีกครั้ง เมื่อผมพบกับภาพจริงที่อยู่ตรงหน้า
แม้แม่ผมกับยายบุญสมจะอยู่กันคนละภพ
แต่ช่างละม้ายกันจริงในวิถี
การกินและการดำรงอยู่ที่มีมะพร้าวและเครื่องปรุงไว้เก็บกินและหุงหาเอง
แม่ครับ...
"ผมจะราดแกงกะทิในจานข้าวเสมอ ไม่ใช่เพราะรสชาติอร่อยถูกปากแต่เพียงอย่างเดียว
หากเป็นเพราะผมจะเดินตามวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างแม่นั่นเองครับ"
แม่ครับ...
"พรุ่งนี้ ผมจะแกงเผ็ดฟักทองใส่ไก่ ไปตักบาตรพระในวันพระแรม 15 ค่ำ เดือน 4 นะครับ"
ทั้งเพื่อเดินตามรอยแม่และให้แม่ภูมิใจไปด้วยในเวลาเดียวกัน
เหมือนวันที่เพื่อนบ้านเดินผ่านบ้านมาตอนแม่กำลังผัดน้ำพริกแกงอยู่ในครัว
แล้วตะโกนถามแม่ว่า...
"วันนี้แกงอะไรไปตักบาตรจ๊ะ กลิ่นน้ำพริกหอมจัง"
ถ้าเป็นแกงเนื้อหมู แกงเนื้อวัว แกงไก่ ใส่กะทิ ที่เป็นแกงเผ็ดหรือแกงแดง
แม่จะพูดตอบกลับไปด้วยเสียงดังฟังชัด ราวกับแกงกะทินั้น
เต็มไปด้วยมูลค่าและหน้าตา ฐานะ รวมทั้งบ่งบอกฝีมือของคนแกงทีเดียว
ว่าแต่ว่า...
แม่อย่าตัดคะแนนขั้นตอนการแกงของผมนะครับ
เพราะผมกะว่า จะซื้อกะทิกล่องหรือกะทิสดจากตลาดมาแกงแทนการขูดและการคั้น ครับ
ด้วยผมนั้นเรื้อเวทีไปนานแล้วครับ
🙏 ขอบคุณมากครับ
มุมชัย นัยสอิ้ง
โฆษณา