17 มี.ค. 2023 เวลา 11:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับดาวศุกร์ ชี้อาจเป็นไปได้ว่าเคยมีมหาสมุทร

หลังจากที่ทางองค์การนาซาได้เปิดเผยหลักฐานของภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่บนดาวศุกร์ จากข้อมูลเก่าของยานอวกาศแมกเจลแลน ซึ่งเป็นยานอวกาศที่ไปสำรวจดาวศุกร์ด้วยการประจำการอยู่บนวงโคจรช่วงต้นยุค 90 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ข่าวนี้ก็ได้รับความสนใจในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก
เนื่องจากดาวศุกร์นั้นเป็นวัตถุแห่งที่ 3 ในระบบสุริยะของเรา รองจาก โลก และ ดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสฯ ที่มีหลักฐานของภูเขาไฟคุกรุ่นอยู่เท่านั้น ขณะที่ดาวอังคาร ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ยอดฮิตที่นานาชาติให้ความสนใจในการสำรวจ กลับเป็นดาวเคราะห์ที่แกนกลางภายในดาวเย็นเกินกว่าที่จะให้ความร้อนแก่ภูเขาไฟใด ๆ ได้อีกต่อไป
1
โดยหลักฐานชิ้นนี้ได้พาเราเปิดประตูสู่อดีตของดาวศุกร์เมื่อประมาณ 4 พันล้านปีที่แล้ว ในยุคสมัยพื้นผิวของดาวศุกร์เริ่มเย็นตัวลงจากจุดกำเนิดที่เต็มไปด้วยเปลวเพลิงกับลาวา ซึ่งถ้าหากในช่วงเวลานั้นได้มีภูเขาไฟก่อตัวขึ้นมาบนดาวศุกร์เฉกเช่นในปัจจุบัน ภูเขาไฟก็จะพ่นแก๊สต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างชั้นบรรยากาศ และเมื่อถึงจุดหนึ่งสภาพแวดล้อมก็จะเหมาะสมเพียงพอที่น้ำจะคงสถานะเป็นของเหลวได้
3
ไอน้ำในอากาศ ซึ่งมาจากพวกน้ำแข็งที่ตกลงมากับอุกกาบาตเมื่อครั้งดาวศุกร์ก่อตัว จึงอาจเริ่มที่จะควบแน่นและก่อตัวเป็นน้ำหยดแรกตกลงมายังพื้นผิวของดาวศุกร์ และแปรสภาพให้ดาวศุกร์กลายเป็นดาวเคราะห์สีน้ำเงินดุจดั่งโลกในปัจจุบัน
1
อีกทั้งแก๊สเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของภูเขาไฟ ก็ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกับผ้าห่มที่คอยกักเก็บความร้อน ซึ่งช่วยรักษาให้อุณหภูมิของดาวศุกร์คงที่ไม่ว่าจะเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน และมีสภาพแวดล้อมไม่ต่างอะไรไปจากฤดูใบไม้ผลิอันแสนอบอุ่นบนโลก
4
และแก๊สเรือนกระจกจากภูเขาไฟนี้ก็ยังช่วยรักษาวัฏจักรของน้ำ จากพลังงานความร้อนที่ทำให้น้ำระเหยขึ้นไปในอากาศ ก่อนที่จะควบแน่นตกกลับมาในรูปแบบของฝน วนเวียนเรื่อยไปหลายร้อยล้านปี
2
อย่างไรก็ดีผลกระทบของแก๊สเรือนกระจกนั้นก็กลับอยู่บนเส้นบาง ๆ ของจุดสมดุลระหว่าง การที่ช่วยให้ดาวศุกร์อบอุ่น และ เผาไหม้ดาวศุกร์จนมอดไหม้ ซึ่งในอดีตดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นตัวแปรสำคัญของสมดุลอันบอบบางบนดาวศุกร์นี้
ทั้งนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าในอดีตนั้น ดวงอาทิตย์ของเราอ่อนโยนและส่องแสงสลัวมากกว่านี้ อันเป็นผลจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ณ แกนกลาง ซึ่งปลดปล่อยแก๊สฮีเลียมและพลังงานออกมา แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป แกนกลางของดวงอาทิตย์ก็เริ่มแน่นขนัดไปด้วยฮีเลียมมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นเกิดบ่อยขึ้นและถี่ขึ้น จนพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา
1
เมื่อเป็นเช่นนั้น สักช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ มหาสมุทรของดาวศุกร์ก็อาจเริ่มระเหยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ เร็วกว่าอัตราที่ฝนตกกลับลงมาบนพื้นผิว ซึ่งไอน้ำนั้นถือว่าเป็นแก๊สเรือนกระจกชั้นเยี่ยมที่กักเก็บความร้อนได้มากกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่าตัว จึงยิ่งให้ดาวศุกร์ยิ่งร้อนขึ้นไปอีก
3
เรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ เกิดปฏิกริยาลูกโซ่บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ขึ้น ทั้งในแง่ของความดันบรรยากาศและอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ก่อนที่ต่อมามหาสมุทรบนดาวศุกร์ก็เดือดหายไปบนท้องฟ้าอย่างไม่มีวันหวนคืนและกลายสภาพเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่ต่างอะไรไปจากภาพจำของนรกอเวจีในที่สุด
1
โดยข้อมูลยานอวกาศเวเนรา 13 ของสหภาพโวเวียตที่ได้ไปลงจอดบนพื้นผิวดาวศุกร์ เมื่อปี 1982 พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวศุกร์ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 464 องศาเซลเซียส ในขณะที่ความดันบรรยากาศของดาวศุกร์พุ่งสูงถึง 75-100 เท่าของโลก ซึ่งมากพอที่จะบีบรถยนต์ทั้งคันให้กลายเป็นก้อนเศษเหล็กได้ภายใน 15 วินาที ส่วนยานอวกาศของโซเวียตที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีนั้นอยู่ได้นานถึง 127 นาทีเพียงเท่านั้น
1
สุดท้ายการที่นักดาราศาสตร์ยืนยันได้ว่าดาวศุกร์ยังมีภูเขาไฟคุกรุ่นอยู่นั้น ก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานหนึ่งที่อาจบอกใบ้เรื่องราวของมหาสมุทรในอดีตได้ ซึ่งเรายังคงต้องศึกษาดาวศุกร์ต่อไปในอนาคตเพื่อที่จะทำความเข้าใจให้ดีกว่าเดิม ว่าดาวศุกร์นั้นกลายสภาพเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีขนาดและมวลใกล้เคียงกันกับโลกราวกับดาวฝาแฝด
3
ซึ่งการค้นพบใหม่ ๆ ก็อาจช่วยให้โลกของเราไม่มีชะตากรรมลงเอยแบบเดียวกับดาวศุกร์ก็ได้
2
โฆษณา