19 มี.ค. 2023 เวลา 23:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

นิวโรเทคโนโลยี - วันที่สมองคุณจะถูก hack (และคุณจะเต็มใจยอม)

หลายปีมานี้มีเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ที่หลายค่ายบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล อามาซอน แอปเปิ้ล หรือเฟสบุ๊ค ต่างแข่งขันกันลงทุน ด้วยการวิจัยรวมทั้งแย่งกันซื้อหามาครอบครอง
นั่นก็คือนิวโรเทคโนโลยี (neurotechnology) หรือนิวโรเทค
นิวโรเทค ใช้การประมวลผลภาพและสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์จากคลื่นสมอง รวมถึงใช้อุปกรณ์ที่สามารถควบคุมและปรับปรุงการทำงานของระบบประสาท รวมถึงร่างกายส่วนอื่นของมนุษย์ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายหรือการรักษาโรคในทางการแพทย์ และยังใช้ในสาขาอื่นๆ ได้อีกด้วย
1
อุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่สินค้าในอนาคต แต่อยู่กับเราแล้วในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์วัดชีพจร ที่ติดตั้งอยู่ในนาฬิกาอัจฉริยะพวก Apple Watch, Fitbit หรือแหวนอัจฉริยะ ที่หลาย ๆ คนใช้อยู่ตอนนี้เพื่อวัดพฤติกรรมการนอนหลับ และดูแลสุขภาพทั่วไป
1
ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้มีแอปวัดคลื่นสมองใช้กันแพร่หลายในหมู่ผู้ที่นิยมฝึกฝนการทำสมาธิ พวกนี้จะสวมใส่ผัารัดศีรษะ (head band) หรืออุปกรณ์อื่นที่สามารถส่งข้อมูลไปที่โทรศัพท์มือถือ ใช้วัดภาวะตื่น หลับ หรืออยู่ในภวังค์ ขณะทำสมาธิ นี่เป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก
1
แต่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็จะมีหูฟังประเภท in-ear หรือ earbud รุ่นต่อไปจากหลายค่ายออกมา ที่นอกจากใช้ฟังเพลงแล้ว ยังสามารถอ่านคลื่นสัญญาณสมอง ทำให้รับรู้อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของเราได้
เมื่อรู้แล้วจะทำอะไรน่ะหรือ? นอกจากจะช่วยเลือก playlist ที่เหมาะกับอารมณ์ในเวลานั้นให้แล้ว อยากให้อ่านต่อไปว่า เทคโนโลยีนี้จะทำอะไรได้อีกมากอย่างที่คาดไม่ถึงทีเดียว
นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมอง เริ่มต้นจากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของสมองและประสาท (brain science, neuroscience) และเป็นศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าไปมากในช่วงสิบปีนี้ แต่มาแบบเงียบ ๆ
การประยุกต์ใช้ศาสตร์นี้ เริ่มจากการสามารถติดตามคลื่นสมองด้วย EEG (electroencephalograpy) ซึ่งคือการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่ออกมาเมื่อนิวรอน (เซลล์เส้นประสาท) ในสมองทำงาน สภาวะการทำงานมากหรือน้อยของสมองจะปรากฏออกมาในรูปของคลื่นที่วัดความเปลี่ยนแปลงได้
ครั้งที่องค์การนาซ่าเตรียมส่งมนุษย์ขึ้นไปโคจรบนอวกาศในยุคแรก ๆ ก็เริ่มมีการนำมาใช้วัดคลื่นสมองของนักบินอวกาศระหว่างปฏิบัติภารกิจแล้ว
1
เครื่องวัดและบันทึกคลื่น EEG ใช้วิธีติดตั้งขั้วไฟฟ้ารอบศีรษะ (Photo Credit: Douglas Myers)
สมัยก่อนการวัดนี้ประสบปัญหาจากสัญญาณรบกวนเยอะ แต่ด้วยความสามารถที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ของเซนเซอร์และ AI ทำให้วันนี้เริ่มแม่นยำและเซนเซอร์มีขนาดเล็กลงมาก ก้าวหน้าไปถึงขั้นที่สามารถรับรู้สถานะของภาวะจิตใจเช่น เหนื่อย เศร้า แล้วแปลงสัญญาณนั้นไปเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สั่งการหรือบังคับกล้ามเนื้อแขนขาได้ด้วย
ตัวอย่างหุ่นยนต์ที่สั่งการด้วยสมองก็มีให้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างหุ่นยนต์ HAL ของบริษัท Cyberdyne ที่คิดค้นโดยศาสตราจารย์​ Sankai แห่งมหาวิทยาลัยทสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นหุ่นยนต์ประเภทสวมใส่ภายนอก (exoskeleton)
การทำงานของหุ่นยนต์นี้ ก็คือจะมีตัววัดสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในสมองเมื่อผู้สวมใส่สั่งการด้วยความคิด และเกิดสัญญาณไฟฟ้าต่อเนื่องมาที่ผิวหนัง สัญญาณนี้จะถูกตรวจจับแล้วนำมาแปลงเป็นพลังงานกลที่บังคับมอเตอร์ในหุ่นยนต์ให้ขยับตาม ได้รับใบอนุญาตจาก FDA ของสหรัฐใช้เป็นเครื่องมือแพทย์สำหรับบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตมาหลายปีแล้ว
Highly Assistive Lim - HAL เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Cyberdyne จากญี่ปุ่น ถูกเรียกว่าเป็น Wearable Cyborg ในภาพเป็นรุ่นแรก ๆ ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน (Photo from https://techcrunch.com/)
งานวิจัยด้านการตรวจจับและแปลงคลื่นสมองเพื่อสื่อสารและบังคับการ ในประเทศไทยก็มีอยู่โดยอาจารย์นักวิจัยหลายท่าน ตัวอย่างเช่น กลุ่มของรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล และที่อื่น ๆ แต่ในวันนี้ยังห่างไกลจากความสำเร็จเชิงพาณิชย์
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวโรเทคในทางการแพทย์ที่สำคัญ นอกจากช่วยฟื้นฟูคนที่เป็นอัมพาตแล้ว ในบางกรณียังสามารถใช้กับคนที่ยังอาจมีสติอยู่แต่ร่างกายไม่สามารถสั่งการได้ คนเหล่านี้มีสภาพเหมือนจิตถูกขังไว้ในร่างกาย ไม่สามารถพูดหรือขยับตัวได้ ปัญหาคือเราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า ภายใต้ร่างกายที่นอนแน่นิ่งไม่ตอบสนองนั้น คนไข้ยังมีความรู้สึกนึกคิดหรือไม่
แต่วันหนึ่งเราอาจจะสามารถเข้าไป "คุย" กับคนไข้ที่เคยถูกเรียกว่า "สมองตาย" แล้วได้ ด้วยการสื่อสารผ่านคลื่นสมองโดยตรง นี่ก็อาจเป็นได้ทั้งข่าวดีและฝันร้าย
ถ้ายังจำกันได้ Stephen Hawking นักฟิสิกส์เลื่องชื่อที่ป่วยเป็นโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) ทำให้สมองแม้จะยังดีอยู่แต่ก็ไม่สามารถสั่งการกล้ามเนื้อได้
ขอเล่าให้ฟังว่า เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในช่วงที่ Hawking ยังมีชีวิตอยู่ ช่วยให้เขาสื่อสารได้ด้วยความเร็วประมาณ 15 คำต่อนาทีในการบรรยาย ที่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่ในชีวิตปกติเขาสื่อสารด้วยความเร็วแค่ 1 คำต่อนาทีเท่านั้น แต่เครื่องมือที่ Hawking ใช้ก็ยังไม่ใช่การแปลงสัญญาณคลื่นสมองโดยตรง ซึ่งถ้าทำได้จะสื่อสารได้เร็วกว่านั้นมาก
ศาสตราจารย์ Hawking กับลูกสาว ขณะบรรยายในงานครบรอบ 50 ปีองค์การนาซ่า (By NASA/Paul Alers, https://www.nasa.gov/50th/NASA_lecture_series/hawking.html, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=16350793)
นิวโรเทคอาจจะช่วยสังคมได้ในอีกมุมหนึ่ง คือทำให้ท้องถนนปลอดภัยจากการเผลองีบหลับขณะขับรถ แนวทางหนึ่งก็คือการบังคับติดตั้งเครื่องตรวจวัดคลื่นสมองที่พนักงานขับรถบรรทุก ที่มักต้องขับรถในเวลากลางคืนต่อเนื่องนาน ๆ หากเป็นรถสิบล้อ ผลจากการงีบหลับเพียงนิดเดียวสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุขนาดใหญ่ได้ง่าย ๆ
1
ระบบนี้จะช่วยให้ศูนย์บังคับการสามารถติดตามสภาวะตื่นหรือสลึมสลือของพนักงานขับได้ตลอดเวลา และส่งสัญญาณกระตุ้นเตือน แม้กระทั่งอาจบังคับจอดรถจากระยะไกลได้
คงจำกันได้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท Meta เจ้าของ Facebook เพิ่งปลดพนักงานจำนวนมาก และลดการลงทุนในด้าน AR (augmented reality) ที่เป็นเทคโนโลยีฐานของ Metarverse แต่อย่างหนึ่งที่ Meta ทำไว้ก่อนแล้วคือได้เข้าซื้อ CTRL Labs ซึ่งเป็นบริษัท startup ที่มีงานวิจัยด้านนิวโรเทค ในราคาหลักห้าร้อยล้านเหรียญ
CTRL Labs มีผู้ก่อตั้งที่มาจากบริษัทไมโครซอฟท์ และเคยได้รับทุนสนับสนุนจากอามาซอนมาก่อน แต่สุดท้ายมาอยู่ในมือของ Meta และนี่นับเป็นการซื้อที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบริษัท ด้วยมีแผนที่จะเอาเซนเซอร์ที่ใช้วัดคลื่นสมองมาใส่อุปกรณ์ติดตัวอย่างนาฬิกา เพื่อใช้คลื่นสมองมาควบคุมบังคับสั่งการมือและนิ้วได้ (โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้ตัว)
และจุดแข็งทางธุรกิจของ Meta ในอนาคตอาจจะไม่ใช่ Metaverse แต่จะขยายไปทางการติดตามรสนิยมของผู้ใช้ได้แบบเฉพาะตัว และผูกเข้ากับการโฆษณาขายตรง และนั่นนำเรามาสู่ประเด็นใหญ่คือ เรื่องการตลาด
การเมืองและการตลาด
ในสายตาของนิวโรเทค การเมืองและการตลาดเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะมันคือเรื่องของการสามารถรู้ใจคน (ลูกค้า, ฐานเสียง) และรู้จังหวะว่าจะทำอย่างไร เมื่อไหร่ ให้ชนะใจคนเพื่อให้เขาเชื่อ เพื่อมาเลือกหรือมาซื้อสินค้าของเรา
กลุ่มเป้าหมายหรือ use case แรกๆ ของนิวโรเทคน่าจะเป็นด้านการตลาด อุปกรณ์ที่ user สวมใส่จะช่วยบอกความรู้สึกของผู้ใช้เมื่อได้ยินเสียงเพลง ได้เห็นสินค้า หรือได้ชิมอาหาร ที่ผ่านมานักการตลาดใช้การสำรวจตลาดด้วยวิธีแบบสอบถาม แต่วิธีนี้ไม่เคยให้ผลที่แม่นยำ เพราะว่าต่อให้ผู้ถูกสำรวจตอบว่าชอบสินค้านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อจริง ๆ
แต่ในวันที่เจ้าของผลิตภัณฑ์มีข้อมูลปฏิกิริยาทางความรู้สึกที่แท้จริง ก็จะรู้ว่าสินค้าใดกันแน่ที่ "โดน" ใจลูกค้า และเขาจะรู้ก่อนที่เราจะรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของเราเองด้วยซ้ำ
ในต่างประเทศมีชื่อเรียกสาขานี้เป็นการเฉพาะมานานว่า neuromarketing แม้แต่ Stephen Speilberg ก็ใช้วิธีการนี้ในการทดสอบเสียงตอบรับจากผู้ชมตอนที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง Avatar ด้วยการดูข้อมูลสมองของกลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับชมหนังก่อนนำออกฉาย ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า functional MRI
โปสเตอร์หนัง Avatar ภาคแรก (By The cover art can or could be obtained from http://www.impawards.com/2009/avatar.html, Fair use, https://en.wikipedia.org/w/index.php?curid=23732044)
เมื่อนักการเมืองเห็นว่าเทคโนโลยีนี้ใช้ได้ผล ก็จะเริ่มเข้ามาใช้ประโยชน์ ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่จับปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อการแถลงนโยบาย หรือวิธีนำเสนอในการหาเสียง เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ ประเมิน และปรับยุทธศาสตร์ทางการเมืองให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต่างกับวิธีการของนักการตลาด
นิวโรเทคกับท่านผู้นำ
นอกจากจะช่วยนักการเมืองหาเสียงในตอนเลือกตั้งแล้ว หลังจากขึ้นสู่อำนาจนิวโรเทคก็ยังมีศักยภาพที่น่าเกรงขามในการช่วยเหลือรัฐบาลติดตามผู้ก่อการหรือจัดการกับคนที่เห็นต่างได้ด้วย
บริษัท Brainwave Science เป็นหนึ่งในบริษัทที่เต็มอกเต็มใจที่จะเข้าไปช่วยฝ่ายความมั่นคงในการติดตามหรือล้วงความลับจากศัตรูหรือผู้ไม่หวังดี ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้คือ ฝ่ายความมั่นคงจะสามารถติดตามความคิดและล่วงรู้ก่อนหากมีการนัดหมายจะชุมนุมประท้วง ก่อความไม่สงบ ที่ไหน เมื่อไหร่ และดำเนินมาตรการได้อย่างเฉียบพลัน
นี่น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้าคู่กับกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ว่าด้วยความผิดฐานยุยง ปลุกปั่น) ได้อย่างดีเยี่ยม
ในเรื่องการควบคุมความมีระเบียบวินัยของประชาชนนั้น ประเทศที่น่าจะทำได้โดยง่ายที่สุดแห่งหนึ่งก็คือจีน ท่านผู้นำอาจจะอยากใช้นิวโรเทคเพื่อให้สามารถติดตามความคิดของมวลชนได้ ว่าจะมีการสมคบคิด กระด้างกระเดื่องที่ไหน เมื่อไหร่ เมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอ่านใบหน้า (face recognition) อย่างที่ใช้อยู่ในประเทศจีน ก็ติดตามมาลงโทษได้ทันที หรืออย่างเบา ๆ คือภายใต้ระบบ social credit สามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้คะแนนความประพฤติประชาชนได้เลย
เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง ภายใต้ระบบ social credit ของจีน มีประชาชนถูกทำโทษมาแล้วหลายกรณี อย่างเช่นเรื่องการเดินทางสัญจร นับถึงเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ประชาชนจำนวนกว่า 26 ล้านคนถูกระงับการออกตั๋วเครื่องบินในประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถูกฝ่ายความมั่นคงของจีนมองว่า "ไม่ซื่อสัตย์"
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน (By Officia do Palácio do Planalto - Flickr, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=79804675)
ทราบไหมว่าเด็กไทยหลายคนทุกวันนี้ เริ่มใฝ่เรียนด้าน neuroscience โดยเฉพาะในกลุ่มที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมชั้นนำในเมือง และกลุ่มโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งพร้อมจะเติบโตต่อไปเป็นมันสมองของประเทศ หรือของโลก
ไม่ได้เรียนเพราะอยากเป็นหมอตามกระแสสังคม แต่เพราะความน่าตื่นเต้นของความก้าวหน้าในสาขานี้ และโอกาสทางอาชีพที่หลากหลายในอนาคต เท่าที่เล่ามานี้ก็น่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า จะสร้างอาชีพอะไรได้บ้าง
แต่นิวโรเทค เป็นมีดโกนอีกใบที่คมทั้งสองด้าน นอกจากการสนับสนุนการวิจัยและธุรกิจ ก็คงถึงเวลาแล้วที่พวกเราน่าจะต้องมาคุยกันเรื่องผลกระทบด้านสังคม กฎหมาย และจริยธรรม และหาทางบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า
ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของผู้ใช้ ไปจนถึงผลจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยผู้ไม่หวังดี การละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1
ช่วยกันคิด ก่อนที่สมอง ความคิด และอารมณ์ของเรา จะไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ในไม่เกินอีก 5 ปีข้างหน้านี้
โฆษณา