Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
HR Talk by Tamrongsak
•
ติดตาม
18 มี.ค. 2023 เวลา 23:32 • ธุรกิจ
บริษัทคิดโอทีเอาเปรียบ หรือพนักงานคิดเอาเปรียบกันแน่ ?
เมื่อสองสามวันก่อนผมพูดถึงเรื่องที่บริษัทไปกำหนดฐานเงินเดือนไว้ต่ำ ๆ แล้วนำเอาโอทีไปโปะให้ดูว่ารายได้พนักงานจะได้เยอะ ๆ
พอมาวันนี้ผมได้เข้าไปในเว็บไซด์ชื่อดังแห่งหนึ่งแล้วเจอกระทู้ที่มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการคำนวณค่าล่วงเวลาที่คนทำงานจะเรียกว่า “โอที” โดยยกตัวอย่างว่า
สมมุติพนักงานประจำคนหนึ่งรับเงินเดือนเป็นรายเดือน ๆ ละ 30,000 บาท ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง (หยุดเสาร์-อาทิตย์)
การคำนวณค่าโอทีก็น่าจะเป็น 30,000 หาร 20 หาร 8 (หรือ 30,000/160) = 187.5 x 1.5 = 281.25 บาทต่อชั่วโมง
แต่ทำไมบริษัทในเมืองไทยหลายแห่งถึงคำนวณโอทีแบบนี้คือ
30,000 หาร 30 หาร 8 (หรือ 30,000/240) = 125 x 1.5 = 187.50 บาทต่อชั่วโมง
ซึ่งทำให้พนักงานเสียประโยชน์ไปถึง 93.75 บาทต่อชั่วโมง !!
เลยตั้งข้อสังเกตว่า “เหมือนพนักงานถูกบริษัทโกงค่าโอที”
แล้วก็ทิ้งท้ายว่าอยากให้เพื่อน ๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมก็เลยขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง
ถ้าพนักงานมาตั้งคำถามแบบนี้ HR จะอธิบายเรื่องนี้ยังไงดีครับ....ติ๊กต่อก....ติ๊กต่อก.....
ปิ๊ง..หมดเวลา..สำหรับผม..คำอธิบายเป็นอย่างงี้ครับ....
1. ตามกฎหมายแรงงาน (มาตรา 68) ระบุว่าในการคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดสำหรับลูกจ้างรายเดือนนั้น ให้ใช้อัตราค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย
พูดง่าย ๆ ก็คือให้เอาค่าจ้างตั้งแล้วหาร 240
(30x8=240 กรณีที่บริษัทมีชั่วโมงการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง)
ดังนั้นในการคำนวณโอทีตามตัวอย่างข้างต้นคือ
30,000/240=125x1.5=187.50 บาท ต่อชั่วโมงจึงถือว่าถูกต้องตามกฎหมายแรงงานและบริษัทก็ไม่ได้โกงพนักงานครับ
แต่ในกรณีนี้อาจจะมีบางบริษัทที่คำนวณโอทีให้กับพนักงานดีกว่าที่กฎหมายกำหนด
เช่นใช้ค่าจ้างหารด้วย 176 (วันทำงาน 22 วันต่อเดือน ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง) ก็ถือว่าบริษัทนั้นให้ประโยชน์กับพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนดพนักงานก็แฮปปี้ไป
2. ในส่วนที่ผู้ตั้งกระทู้คำนวณโอทีโดยคิดจากวันที่ทำงานจริงคือบริษัทแห่งนี้ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ
8 ชั่วโมง เท่ากับทำงานเดือนละ 20 วัน รวมชั่วโมงทำงานต่อเดือนคือ 20x8=160 ชั่วโมง แล้วผู้ตั้งกระทู้จะนำ 160 มาเป็นตัวหาร เพื่อจะได้ค่าจ้างต่อชั่วโมงที่สูงขึ้น (มากกว่าที่กฎหมายกำหนด) นั้น
ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่า บริษัทก็จ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือนโดยมีวันหยุดให้กับพนักงานสัปดาห์ละ 2 วัน (เสาร์-อาทิตย์) เดือนละ 8 วัน โดยที่พนักงานไม่ต้องมาทำงานด้วยเหมือนกันนี่ครับ ?
ซึ่งถ้านำเงินเดือนมาคิดต่อวันก็จะได้วันละ
30,000/30=1,000 บาท
เท่ากับบริษัทจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานอีกเดือนละ 8,000 บาทโดยที่พนักงานไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทใช่หรือไม่
ถ้ามองในมุมนี้ก็ต้องถือว่าบริษัทก็ให้ประโยชน์กับพนักงานโดยจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานในวันหยุดประจำสัปดาห์นี่ยังไม่รวมถึงในบางเดือนที่มีวันหยุดประเพณีหรือมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานซึ่งบริษัทก็จะต้องจ่ายเงินเดือนอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่พนักงานไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทจริงไหมครับ
อีกประการหนึ่งคือ ถ้าว่ากันตามกฎหมายแรงงานที่กำหนดให้มี 8 ชั่วโมงการทำงานต่อวันและสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็คือการทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ๆ ละ 8 ชั่วโมง
แต่บริษัทแห่งนี้มีวันทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับมีชั่วโมงการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ซึ่งก็นับว่าบริษัทนี้ให้ประโยชน์กับพนักงานมากกว่าบริษัทอีกหลายแห่งเลยนะครับ พนักงานก็น่าจะคิดถึงส่วนดีของบริษัทในเรื่องนี้ด้วย
ดังนั้น ในการคำนวณค่าโอทีตามกระทู้มาข้างต้นจึงเป็นการคำนวณมาจากมุมมองในด้านของพนักงานเป็นหลักโดยหยิบเฉพาะส่วนที่คิดว่าตนเองเสียประโยชน์ขึ้นมาคำนวณ แล้วมองว่าบริษัทเอาเปรียบแต่ในส่วนที่ตนเองได้ประโยชน์จากบริษัทที่เป็นข้อดีกลับไม่ได้นำมาคิด ??!!
ตรงนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่าถ้าทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างรู้จักคิดในแบบ “ใจเขา-ใจเรา” ให้มากขึ้นผมเชื่อว่าปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในบริษัทจะลดลงได้เยอะเลยครับ
หวังว่าตอนนี้เราคงเข้าใจวิธีการคำนวณโอทีที่ถูกต้องตรงกันแล้วนะครับ
แรงงาน
กฎหมาย
ข้อคิด
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย