20 มี.ค. 2023 เวลา 00:44 • ความคิดเห็น

3 เคล็ดลับจับผิดคนโกหก

การโกหกกับมนุษย์เป็นของคู่กัน
คนเราโกหกเพราะอยากดูดี หรือไม่ก็เพราะไม่อยากดูไม่ดี งานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2002 พบว่ามีคนถึง 60% ที่โกหกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในการสนทนา 10 นาที
การโกหกนั้นย่อมมีความร้ายแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่โกหกที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนและทำให้อีกฝ่ายสบายใจ ไปจนถึงการแอบมีกิ๊กหรือฉ้อโกง
High-Value Detainee Interrogation Group ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสอบสวนผู้ต้องหาหรืออาชญกร ได้ตีพิมพ์งานวิจัยออกมาเมื่อปี 2016 เพื่ออธิบายถึงหลักการสำคัญในการสอบสวนให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง
งานวิจัยนี้ได้บอกถึง 3 เคล็ดลับของการจับผิดคนโกหกเอาไว้ด้วย
1.ให้เขาพูดเยอะๆ - เพราะคนโกหกต้องสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาตลอดเวลา หากยิ่งต้องพูดเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างเรื่องไม่ทัน หรือถึงจะสร้างทันก็ไม่น่าเชื่อถือ
หน้าที่ของเราคือการเป็นผู้ฟังที่ดี ถามโน่นถามนี่ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอยากจะจับผิดจริงๆ ให้ลองตั้งคำถามที่คาดไม่ถึง
เพราะคนโกหกมักจะเตรียมสคริปต์รอเอาไว้แล้ว หากเราถามอะไรที่ไม่อยู่ในสคริปต์ ก็จะทำให้เขาหลุดได้โดยง่าย เช่นถ้าแฟนบอกว่าไปนอนบ้านเพื่อน ให้ลองถามแฟนว่านอนห้องไหน ในห้องหน้าตาเป็นยังไง
2.สังเกตอารมณ์ที่ขาดหายไป - เวลาคนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เขามักจะมีอารมณ์สอดแทรกอยู่ในนั้นด้วย เช่นถ้าวันนั้นฝนตก เขามักจะบรรยายถึงความเฉอะแฉะหรืออารมณ์เสียเวลารถวิ่งผ่านแล้วไม่ชะลอจนน้ำสาดใส่กางเกง
แต่สำหรับคนที่สร้างเรื่องขึ้นมา เขาจะใช้หลักการและเหตุผลเป็นหลักเพื่อให้เรื่องดูน่าเชื่อถือ เรื่องที่เขาเล่าจึงจะไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมเท่าไหร่ เช่นถ้าจะเล่าเรื่องฝนตก เขาก็อาจจะเล่าแค่ว่าเขาพกร่มไปด้วย
3.ถามตอนเขายุ่งๆ - การสร้างเรื่องโกหกขึ้นมานั้นต้องออกแรงสมองพอสมควร ยิ่งโกหกมาก cognitive load ก็ยิ่งสูง ดังนั้นลองชวนเขาคุยตอนทำอย่างอื่นอยู่ เช่นตอนขับรถ หรือไม่ก็ให้เขาลองเล่าเรื่องย้อนถอยหลังซึ่งต้องออกแรงสมองมากกว่า
ก็ได้แต่หวังว่าเราจะไม่ต้องใช้เทคนิคเหล่านี้บ่อยนัก แต่ถ้าถึงคราวจำเป็นจริงๆ ก็ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ
-----
ขอบคุณเนื้อหาจาก Big Think: 3 rules to catch a liar
โฆษณา