20 มี.ค. 2023 เวลา 07:14 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

กลลวงซ่อนตาย

ผมรู้จักชื่อของฮิงาชิโนะ เคโงะมานาน ทราบว่าเขาเป็นนักเขียนอาชญนิยายชื่อดังของญี่ปุ่น แต่ตนเองก็ไม่เคยได้อ่านงานของเขาสักเรื่องเดียว จนกระทั่งได้ดูหนังอินเดียเรื่อง Drishyam ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือเล่มนี้ของเคโงะ
(ผู้สร้าง Drishyam ฉบับภาษามาลายาลัม ปฏิเสธว่าไม่ได้ลอกหนังสือของเคโงะมา แต่ก็นำมาซึ่งประเด็นทางกฎหมาย เพราะหลายอย่างมันคล้ายกันมาก พอปี 2015 บอลลีวูดซื้อมาสร้างเป็นภาษาฮินดี ทางทีมกฎหมายของผู้สร้างบอกว่าได้สิทธิ์มาจากนิยายของเคโงะผสมกับฉบับมาลายาลัมด้วย แต่อินเดียก็มีหนังภาษา Tamil ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาอย่างถูกต้อง)
นี่เป็นหนังสือฆาตกรรมการแก้ไขคดีที่อ่านแล้ววนเวียนอยู่ในความคิดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ผมมักจะเป็นอย่างนี้เมื่อเจอหนังสือที่ฉลาดแล้วทำให้เราคิดต่อ กลลวงซ่อนตายของนักเขียเคโงะเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องพูดถึงรางวัลต่างๆที่หนังสือเล่มนี้ได้รับ ยอดขาย หรือการดัดแปลงเป็นหนังหลายครั้งจากหลายประเทศทั้ง จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ทุกครั้งก็ประสบความสำเร็จสูง
สิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวคือพล็อตเรื่องที่ฉลาด ในขณะเดียวกันเป็นนิยายอาชญากรรมการสืบสวนคดีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก จนมันเป็น Love Story ที่ตรึงใจมาก เคโงะสร้างตัวละครมีเสน่ห์ บนเงื่อนไขของการฆาตกรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่ซับซ้อน มิหนำซ้ำแค่เปิดเรื่องมาก็เปิดเผยแล้วว่าฆาตกรเป็นใคร ในเรื่องดูง่าย แต่ต้องผ่านกระบวนการคิดมาอย่างลึกซึ้ง
ยาซึโกะอดีตสาวนั่งดริ้งค์ในไนท์คลับเป็นคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวเคยแต่งงานมาแล้วจนมีลูกสาวที่ชื่อว่ามิซาโตะ เธอหย่าจากสามีคนแรกแล้วแต่งงานใหม่ แล้วก็หย่าอีกครั้งเมื่อสามีใหม่ไม่ยอมหางานทำ ซ้ำร้ายยังใช้ความรุนแรง หลังหย่ากันแล้วเธอพาลูกสาวมาอาศัยอยู่กันตามลำพังในอพาร์ทเม้นท์ใกล้ที่ทำงานใหม่ เป็นร้านขายข้าว เธอเลิกทำงานกลางคืนเพราะไม่อยากให้ลูกมีปม ชีวิตใหม่สงบสุขได้ไม่นานก็ถูกรังควานจากสามีเก่า จนกระทั่งสองแม่ลูกพลั้งมือทำร้ายเขาจนเสียชีวิต
อิชิกามิเป็นครูสอนคณิตศาสตร์มัธยมปลายผู้ซึ่งอาศัยในอพาร์ทเม้นท์ห้องติดกันกับสองแม่ลูก เขาเสนอตัวเข้าช่วย 2 แม่ลูกให้พ้นผิด โดยมีเงื่อนไขว่านั่นเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ต้องเลือกเอง ระหว่างยอมรับผิดหรือปกปิดความจริง ยาซิโกะตอบรับความช่วยเหลือจากนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ เขาสั่งสองแม่ลูกให้ทำตัวปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมกำชับว่าหากตำรวจมาสอบสวนก็ให้ยืนยันว่าไม่เคยพบกับผู้เสียชีวิตมาก่อน ที่เหลือนอกจากนั้นให้บอกเล่ากับตำรวจตามความจริง
ตำรวจพบศพอดีตสามีเก่าของยาสึโกะจริงๆ แล้วก็เริ่มสืบสวนตามแนวทางจากพยานแวดล้อมรวมไปถึงพยานที่อยู่ในวันเกิดเหตุ พบหลักฐานยืนยันได้ว่าสองแม่ลูกมีทั้งพยานและสถานที่อยู่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ไม่มีทางอยู่ในเวลาเดียวกันกับการเกิดเหตุคดีฆาตกรรมแน่นอน
อิชิกามิครูคณิตศาสตร์อัจฉริยะอาศัยคดีฆาตกรรมนี้เป็นเหมือนบททดสอบทางคณิตศาสตร์ ออกแบบเหตุการณ์แก้ต่างเหมือนกับการที่เขาออกโจทย์ข้อสอบในชั้นเรียน บนสมการคำถามที่ว่าอะไรจะยากกว่ากัน ระหว่างพิสูจน์ว่าคำตอบของคนอื่นทำมามันผิด กับการลงมือแก้ไขโจทย์นั้นเสียเอง
แนวทางการสืบสวนของตำรวจทุกอย่างบ่งชี้ว่าสองแม่ลูกเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างข้อสงสัยว่ามีอะไรมากกว่าที่เห็นแน่ๆ จนคดีนี้ไปถึงหูของยุกาว่านักฟิสิกส์อัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทโตะ เจ้าของฉายานักสืบกาลิเลโอ มันจึงเป็นการปะทะกันระหว่างอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เพื่อที่จะแก้โจทย์พิสูจน์สมมติฐานคดีฆาตกรรมบนหลักการทางวิทยาศาสตร์
เคโงะเก่งในการวางกับดักสอดแทรกรายละเะอียดเข้าไป โดยเฉพาะการคิดว่าแค่แก้โจทย์ฆาตกรรมระหว่างนักคณิตศาสตร์กับนักฟิสิกส์ที่มีฝีมือเป็นอัจฉริยะพอๆกัน มันก็สนุกมากแล้ว แต่ยังเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ลึกซึ้งและตราตรึงมาก
ย้อนนึกไปถึงหนัง Drishyam ที่ดัดแปลงเรื่องนี้มาอีกที ก็ต้องถือว่าเป็นการดัดแปลงที่ฉลาดมาก อาศัยเพียงแต่โจทย์ของนิยายคือ ทำอย่างไรจะช่วยให้สองแม่ลูกพ้นผิดคดีอาชญากรรมให้ได้ แต่รายละเอียดต่างๆเปลี่ยนไปหมดจนกลายเป็นตัวเองมากๆ
ตอนนี้ฮอลลีวูดซื้อไปพัฒนาแล้ว และ Netflix ก็กำลังสร้างหนังจากนิยายเรื่องนี้เช่นกัน
(ภาพประกอบเป็นภาพโปสเตอร์หนังที่สร้างจากนิยาย)
โฆษณา