20 มี.ค. 2023 เวลา 11:00 • การเกษตร

กรมชลฯ บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต เพื่อสนับสนุนน้ำให้เพียงพอในทุกกิจกรรม

กรมชลฯ ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต สนับสนุนน้ำให้เพียงพอในทุกกิจกรรม
1
วันนี้ (20 มี.ค.66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (20 มี.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 50,371 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 26,429 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,539 ล้าน ลบ.ม.
คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,843 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 19,068 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 6,889 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)
ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.24 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.40 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงฤดูแล้งนี้จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงได้กำชับให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสถาณการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดพร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต เพื่อสนับสนุนใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ อุปโภค บริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม ให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
พร้อมเตรียมแผนสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนให้เพียงพอ ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #การบริหารจัดการน้ํา
โฆษณา