24 มี.ค. 2023 เวลา 07:48 • การศึกษา

บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ ฉบับสันสกฤต

พาลกัณฑ์
ณ เทือกเขาอารัมภกะถา พระวาลมีกิมุนีได้อาราธนาพระนารทมหาฤาษีให้แสดงเรื่องรามายณให้ฟัง ซึ่งมีสรุปความตามที่จะได้เล่าต่อไปโดยพิศดาร คล้ายๆ พระราชพงษาวดารย่อของเรา
มีพระมหานครอันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าอโยธยา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสรยุ ในแคว้นโกศล
[ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเราใช้เรียกนามนครศรีอโยธยานี้ว่า “ทวาราวดี” ]
พระนครนี้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติแสนสฤงคาร พระมนูไววัสวัต ผู้เป็นโอรสพระสุริยาทิพย์ ได้สร้างขึ้นไว้เป็นที่สถิตย์แห่งกษัตร์สุริยวงศ์ มีท้าวอิกษวากุ ผู้เปนปฐมราชาในสุริยวงศ์
พระนครนี้กว้าง ๑๐ โยชน์ ยาว ๑๒ โยชน์ เป็นที่สถิตย์แห่งท้าวทศรถ มีอำมาตย์มนตรีผู้ปรีชาฉลาดรอบรู้ในสรรพกิจน้อยใหญ่ ทั้งมีมหาฤษีและชนทั้ง ๔ ตระกูล
แต่กลับไม่มีพระโอรสเพื่อสืบสันตติวงศ์ ท้าวทศรถจึงคิดจะทำพิธีอัศวเมธ (บูชายัญด้วยม้า) เพื่อขอลูก จึงตรัสให้เชิญพระวสิษฐ์มุนี (ผู้เปนปุโรหิต) พระวามเทพมุนี (ผู้ช่วยปุโรหิต) กับพระสุยัญมุนี พระชวาลีมุนี พระกาศยปมุนี และฤาษีชีพราหมณ์อื่นๆ มาทรงหาฤๅเห็นชอบพร้อมกันแล้ว จึงให้เตรียมการพิธีอัศวเมธที่ริมฝั่งเหนือแห่งแม่น้ำสรยุ
ฝ่ายสุมันตระเสนีนายสารถี ได้ทราบข่าวทรงพระปรารภจะทำพิธีอัศวเมธ จึงทูลท้าวทศรถถึงเรื่องพระฤษยะสฤงค์ บุตรพระพิภาณฑกมุนี หลานพระกัศยปมุนี
พระฤษยะสฤงค์นี้กำเหนิดในป่า และเติบใหญ่ขึ้นในป่า ไม่เคยพบมนุษย์เลย พระมุนีองค์นั้นเข้าฌานบำเพ็ญตะบะเปนนิตย์ จนในแคว้นองคราษฎร์นั้นแห้งแล้ง
ท้าวโลมบาทผู้ครององคราษฎร์ จึงเสด็จออกไปยังป่าที่อาศัยแห่งพระฤษยะสฤงค์ให้จัดแต่งพลับพลาอันวิจิตร เปนที่สถิตย์แห่งนางศานตาผู้เป็นราชธิดา แล้วจัดให้นางนครโสเภณีไปล่อพระฤษีมายังพลับพลา
ท้าวโลมบาทก็ต้อนรับโดยเคารพ และยกนางศานตาให้เป็นชายา แล้วเชิญเข้าไปในวัง ฝนที่แล้งก็ตกมาก สมความปราถนาแห่งท้าวโลมบาท
ครั้นเมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว สุมันตระจึงทูลต่อไปถึงคำทำนายของพระสนัตกุมารพรหมบุตรซึ่งกล่าวไว้ว่า เมื่อใดท้าวทศรถปราถนาจะทำพิธีอัศวเมธเพื่อขอลูก จะเชิญพระฤษยะสฤงค์ไปช่วยทำพิธีก็จะสมปราถนา ท้าวทศรถได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระทัย จึ่งเสด็จไปหาท้าวโลมบาท ขออนุญาตให้พระฤษยะสฤงค์ไปช่วยทำพิธีขอลูก ท้าวโลมบาทก็ยินดีอนุญาตตามพระสหายปราถนา ท้าวทศรถจึ่งเชิญพระฤษยะสฤงค์กับนางศานตาไปยังกรุงศรีอโยธยา
กล่าวถึงการพิธีอัศวเมธของท้าวทศรถ ซึ่งมีกษัตร์นครใกล้เคียงมาช่วยเปนอันมาก อาทิ ท้าวชนกสุริยวงศ์ผู้ครองนครมิถิลา แคว้นวิเทห
พระเจ้านครพาราณสี แคว้นกาสี ท้าวอัศวบดี ผู้ครองเกกัยชนบท
ท้าวโลมบาทผู้ครององคราษฎร์ พระเจ้ามคธราษฎร์
ทั้งพญาผู้ครองชนบทในบุรพเทศ สินธุเทศ โสวิรเทศ สุราษฎร์ และทักษิณเทศ พระวสิษฐ์และพระฤษยะสฤงค์ช่วยกันดูแลการพิธี ปล่อยม้าอุปการไปในที่ต่างๆ จนบรรจบครบรอบปี ๑ ม้ากลับมาแล้วจึงจะฆ่าบูชายัญ
และมีพิธีพลีกรรมอัญเชิญบรรดาเทวดา คนธรรพ สิทธาวิชาธรมายังที่สโมสรประชุม และพระฤษยะสฤงค์ประกาศขอลูกให้ท้าวทศรถ บรรดาเทวดาและสิทธาวิชาธรจึ่งพร้อมกันทูลพระพรหมว่า
ถึงสมัยกาลอันควรแล้วที่จะทรงสังหารทศกรรฐ ผู้มีความกำเริบเที่ยวรบกวนฤาษีชีพราหมณ์มากนัก
พระพรหม ตรัสตอบว่า พระองค์ได้ประทานพรแก่ทศกรรฐว่า ไม่ให้ตายด้วยมือคนธรรพ หรือยักษ์ หรือรากษส แต่ทศกรรฐดูถูกมนุษย์จึ่งมิได้ขอไว้ให้รอดจากมือมนุษย์
ขณนั้นเผอิญพระนารายน์เสด็จมายังที่ชุมนุม พระพรหมจึงอัญเชิญให้อวตารเป็นมนุษย์เพื่อสังหารทศกรรฐ ขอให้ทรงกำเหนิดเป็นโอรสท้าวทศรถ พระนารายน์ก็ทรงยอมรับคำเชิญ
มีอมุษย์ตน ๑ มีสีกายดำรูปร่างล่ำสัน แต่งสีแดงหน้าแดง ตัวเต็มไปด้วยขนคล้ายราชสีห์ มีเคราและผมอันงามแต่งเครื่องทิพยอาภรณ์พร้อม ถือโถทองฝาเงินบรรจุทิพยปายาส ผุดขึ้นมาจากกองไฟกลางมณฑลพิธี แสดงตนว่าเป็นทูตพระประชาบดี นำปายาสสำคัญนี้มาเพื่อให้พระมเหษีเสวย คงจะได้โอรสสมปราถนา ท้าวทศรถรับโถปายาสขึ้นจบเหนือพระเศียร เทวทูตก็อันตรธานไป ท้าวทศรถจึ่งเสด็จเข้าสู่วังใน แบ่งปายาสเปน ๔ ส่วน ประทานให้นางเกาศัลยา กับนายไกเกยีองค์ละส่วน แต่นางสุมิตราได้ ๒ ส่วน ต่างก็ทรงครรภสมปราถนา
ฝ่ายทวยเทพทราบว่าพระนารายน์จะเสด็จอวตารลงไปมนุษย์โลกก็ยินดีทั่วกัน
นัดกันแบ่งภาคของตน ไปให้กำเนิดเป็นบริวาร พระพรหม ตรัสว่าพระองค์เองได้สร้างชมพูพานผู้เป็นราชาแห่งหมีแล้ว คือได้หาว ชมพูพานก็ออกมาจากพระโอษฐ์
พระพรหม ตรัสให้เทวดาอื่นๆ แบ่งภาคสร้างวานรเป็นบริวารพระรามาวตารบ้าง เทวดาก็ทำตามพระบัญชา คือพระอินทร์สร้างพาลี พระอาทิตย์สร้างสุครีพ พระพายสร้างหนุมาน พระวิศวกรรมสร้างนล นอกนั้นก็มีกล่าวแต่ว่าพระพฤหัสบดีสร้างตาระ ท้าวกุเวร สร้างคันธมาทน์ พระพิรุณสร้างสุเษน พระปรรชัญสร้างสรรพะ พระอัศวินเทวดาแฝดสร้างเมนทะกับทวิวิท
“ครั้นถึงวันปุนรวสุนักษัตร์ พระอาทิตย์สถิตย์ราษีเมษ พระจันทร์อยู่มังกร พระเสาร์อยู่ดุล พระพฤหัสบดีอยู่กรกฎ พระศุกรอยู่มิน และเมื่อพระพฤหัสบดีขึ้นสู่ราษีกรกฎพร้อมด้วยพระจันทร” นางเกาศัลยาประสูตรพระราม นางไกเกยีประสูตรพระภรตในยามบุษยานักษัตร์ พระอาทิตย์อยู่ราษีมิน นางสุมิตราประสูตรพระลักษมณ์กับพระศัตรุฆน์ เมื่อพระอาทิตย์อยู่ราษีกรกฎ อัสเลษานักษัตร์
อยู่มาเมื่อพระรามมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี พระวิศวามิตรมุนี ได้เข้าไปเฝ้าท้าวทศรถ ร้องทุกข์ว่าไม่เป็นอันบำเพ็ญพรต เพราะมีพวกรากษสมารังแก มีมารีจ และสุพาหุ เป็นผู้นำมา ขอพระรามไปช่วยปราบอสูรด้วย ท้าวทศรถไม่เต็มใจให้พระรามไป แต่เสียอ้อนวอนมิได้ จึงต้องยอมให้พระรามกับพระลักษมณ์ไปกับพระวิศวามิตร์
พอออกไปถึงป่า พระวิศวามิตร์ชี้ให้พระรามดูเมืองร้าง ๒ แห่ง อธิบายว่าเดิมก็เป็นที่มั่งคั่ง แต่นางยักษินีชื่อตารกา ได้กินชาวเมืองเสียหมด แล้วจึงเล่าเรื่องที่นางตารกาประพฤติชั่วต่างๆ ให้พระรามฟัง ใจความว่า
นางเป็นลูกยักษ์ชื่อ สุเกตุ เป็นมเหษีพญายักษ์ชื่อ สุนทาสูร มีลูกชื่อมารีจ กับ สุพาหุ เมื่อท้าวสุนทาสูรตายแล้ว นางตารกากับมารีจไปรบกวนพระอคัสตยมุนี พระมุนีสาบนางให้เป็นกาเพราะชอบกินเนื้อคน และสาบมารีจให้เป็นรากษส (ซึ่งเปนอสูรชั้นเลวกว่ายักษ์) ในที่สุดพระวิศวามิตร์จึงยุพระรามให้สังหารนางตารกา พระรามก็ไปสังหารตายในกลางป่า พระวิศวามิตร์มีความยินดีจึงให้อาวุธสำคัญต่างๆ เป็นบำเหน็จ และสอนมนตร์ต่างๆ สำหรับใช้ในงานสงคราม
ครั้นใกล้จะถึงอาศรม พระรามจึงถามว่า ที่นั้นเดิมใครอยู่ พระวิศวามิตร์ว่า เดิมเป็นที่สถิตย์แห่งพระนารายน์วามนาวตารผู้ชำนะท้าวพลีได้ด้วยย่างสามขุม จึงเป็นที่ควรสถิตย์พระนารายน์รามาวตาร
เมื่อไปอยู่ได้ไม่ช้า มารีจกับสุพาหุก็ยกทัพไปเพื่อแก้แค้นแทนมารดา พระรามแผลงศรมานะวาสตร์ไปต้องมารีจกระเด็นไปร้อยโยชน์ ตกกลางมหาสมุทสลบไป แล้วแผลงศรอาคเณยาสตร์ (อัคนิวาต) ไปฆ่าสุพาหุ และแผลงศรพายะพาสตร์ (ประลัยวาต) ไปสังหารไพร่พลรากษส
ต่อมามีข่าวว่า ท้าวชนกผู้ครองนครมิถิลาจะมีงานใหญ่ พระวิศวามิตร์จึงชวนให้พระรามและพระลักษมณ์ไปเพื่อดูรัตนธนู ซึ่งทวยเทพได้ให้แก่ท้าวเทวราต (ผู้ครองมิถิลาในอดีตกาลก่อนท้าวชนก) ธนูนี้ไม่มีใครโก่งได้ พระรามเต็มใจจะไปด้วยแล้ว พระวิศวามิตร์ก็พาพระรามและพระลักษมณ์ออกเดินจากอาศรมไป
ในระหว่างที่เดินทางไปนี้ เมื่อถึงตำบลสำคัญ พระรามก็ถามพระวิศวามิตร์ และพระมุนีก็เล่าเรื่องให้ฟัง เรื่องที่แสดงโดยมากเป็นเรื่องเนื่องด้วยสกุลวงศ์ของคนสำคัญต่างๆ ซึ่งแท้จริงไม่เกี่ยวแก่การดำเนินเรื่องรามายณ เพราะฉนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงหัวข้อก็เปนการเพียงพอแล้ว
*****เนื่องจากเป็นเรื่องราวจากฉบับสันสกฤต ทำให้การสะกดคำหรือลักษณะภาษาค่อนข้างแตกต่างจากคำไทยในปัจจุบัน*****
อ้างอิงจาก ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ
โฆษณา