25 มี.ค. 2023 เวลา 04:12 • ท่องเที่ยว
แขวงตลาดน้อย

แผนการเดินทางเที่ยวชมย่าน "ตลาดน้อย" ครึ่งวัน จบครบ

"ตลาดน้อย" หรือ แต่เดิมคนสมัยก่อนเรียกกันว่า “ตะลักเกียะ” เป็นย่านการค้าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์เพราะมีที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร มีท่าเรือสำหรับให้เทียบ ดังนั้นการสัญจรเดินทางเลยสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำในสมัยนั้น จึงมีคนจีนมาตั้งรกรากกันเยอะเพื่อทำการค้าและอยู่อาศัย เรายังเห็นร่องรอยได้ตามสองข้างทางที่เรามาเดินสำรวจเที่ยวชมวิถีชุมชนแห่งนี้ ทั้งร้านค้าคนจีนแบบดั้งเดิม ศาลเจ้าจีนหลายแห่งทั้งเล็กและใหญ่
4
ปัจจุบันย่านตลาดน้อยนี้ยังเป็นแหล่งซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์เก่าที่มีให้เห็นตั้งเกลื่อนหน้าร้านในย่านนี้ที่เค้าเรียกกันว่า "เซียงกง" (มาจากชื่อของศาลเจ้าเซียงกงเล็กๆที่อยู่ตรงจุดตัดระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนทรงวาด) และชุมชนคนจีน
2
ย่านตลาดน้อยยังตกลงเห็นพ้องกันว่าต้องการโปรโมทท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนให้กับที่นี่ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาหารายได้ให้กับชุมชน จะเห็นว่ามีการให้ศิลปินมาวาด Street Art บนกำแพงที่ตรอกทางเข้าศาลเจ้าโรงเกือก และมีการเปิดพวก Hostel หรือ Guest House ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาพักกันอยู่หลายที่ด้วยครับ
3
  • แผนการเดินทางเที่ยวชมย่านตลาดน้อย:
ด้านล่างนี้เป็นการเดินทางเยี่ยมชมย่านตลาดน้อยของผมส่วนตัวเองสำหรับในบทความนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมแล้วแต่บุคคลนะครับ ผมใช้เวลาไม่มากภายในบ่ายวันหยุด (ใช้การเดินเท้าอย่างเดียว) เดินชมข้างทาง แวะถ่ายรูปตามสถานที่เช็คอินต่างๆ เข้าชมในบริเวณศาลเจ้า และไปดื่มกาแฟที่ร้านดังร้านนึง
2
  • เริ่มต้นที่ท่าน้ำสี่พระยา ตรง River City Bangkok จริงๆแล้วแขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ตามแผนที่แบ่งการปกครองเริ่มตั้งแต่หน้าห้างนี้แล้วครับ แต่ถ้าข้ามคลองเล็กๆไปฝั่งโรงแรมรอยัลออคิดเชอราตันหรือสถานทูตโปรตุเกสจะเป็นอีกเขตแล้ว
  • เดินออกจากท่าน้ำไปถึงสามแยก ถ้าหันหน้าออกฝั่งขวามือเป็นท่ารถเมล์สาย 36/93 ผมเดินไปทางซ้ายจะเป็นซอยเล็กๆที่เป็นตึกที่จอดรถของ River City เดินไปจนสุดตัวตึกจอดรถนี้จะเป็นจุดตัดระหว่างซอยเจริญกรุง 24 กับซอยวานิช 2 ตรงนี้จะมี Street Art ขนาดใหญ่ที่บอกว่าชาวตลาดน้อยยินดีต้อนรับ วาดบนข้างตึกที่ตรงนั้นรู้สึกจะเป็นออฟฟิศของบริษัทน้ำปลาตราปลาหมึก
3
Street Art ขนาดใหญ่ที่บอกว่าชาวตลาดน้อยยินดีต้อนรับ วาดบนข้างตึกออฟฟิศของบริษัทน้ำปลาตราปลาหมึก
  • เดินเข้าตรอกเล็กๆทางซ้ายมือของรูป Street Art ใหญ่ๆ (รถเข้าไม่ได้) เพื่อไปโผล่ที่ซอยวานิช 2 ตรงวงเวียน หน้าทางเข้าโบสถ์แม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) ที่อยู่ติดกับบริเวณโรงเรียนกุหลาบวิทยา เดินออกมาข้างๆกันจะเป็น SCB สาขาตลาดน้อย ที่เป็นตึกแบบสถาปัตยกรรมโบราณ (ไปวันหยุด แบงค์สาขาไม่เปิดทำการ ปิดไม่ให้เข้า)
2
...
1
  • โบสถ์แม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์): วัดและโบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ที่ประกอบพิธีของคริสตชนเชื้อสายจีน Landmark ตั้งริมน้ำ ย่านตลาดน้อย
วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Holy Rosary Church โดยที่คำว่า “กาลหว่าร์” มีที่มาจากคำว่า Calvary ซึ่งเป็นเนินเขาที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ตรึงกางเขนพระเยซู
ที่นี่มีประวัติมายาวนานมากครับ เอาเป็นว่าเริ่มตั้งแต่สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวโปรตุเกสนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งยอมรับอำนาจการปกครองของประมุขมิสซังสยามชาวฝรั่งเศสซึ่งแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ โดยจะยอมรับเฉพาะบาทหลวงชาวโปรตุเกส ทั้ง 2 กลุ่มได้อพยพลงมาที่บางกอก
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรี พระองค์ก็พระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดซางตาครู้สให้กับชาวคริสต์ที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาซึ่งปกครองโดยประมุขมิสซังสยามชาวฝรั่งเศส (ปัจจุบันอยู่ฝั่งธน)
โดยที่มีชาวคริสต์โปรตุเกสที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองจากประมุขชาวฝรั่งเศสได้แยกตัวออกมาจากวัดซางตาครู้ส มาสร้างที่อยู่บนที่ดินว่างเปล่าอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า “ค่ายแม่พระลูกประคำ” นั่นคือบริเวณตลาดน้อยปัจจุบัน ก่อนที่รัชกาลที่ 1 จะพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดของพวกเขาเอง วัดกาลหว่าร์หลังแรกจึงสร้างขึ้นในปี 2330
1
ต่อมาในปี พ.ศ. 2363 สมัย ร.2 ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ทางใต้ของวัดกาลหว่าร์เพื่อก่อตั้งกงสุลโปรตุเกส ก่อนจะกลายเป็นสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน (อยู่แถวๆ River City Bangkok ท่าน้ำสี่พระยา)
1
ในเวลาต่อมา ชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้ก็ค่อยๆ อพยพโยกย้ายไปทำมาหากินในที่ต่างๆ ขณะที่มีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยแทน เนื่องจากวัดที่ชาวโปรตุเกสสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2330 นั้นผุพังทรุดโทรมอย่างมาก จึงมีการสร้างวัดหลังที่สองขึ้นมาใหม่และทำพิธีเสกในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2382 ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระลูกประคำ และมีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดแม่พระลูกประคำ” แต่ชาวจีนยังคงเรียกว่าวัดกาลหว่าร์มาจนทุกวันนี้
โบสถ์แม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์)
  • ตัวโบสถ์แห่งนี้มีสถาปัตยกรรมแบบ Neo-Gothic มีผังเป็นรูปกางเขนโรมันหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่วัดแห่งนี้มีสิ่งของสำคัญที่ชาวโปรตุเกสนำเคลื่อนย้ายมาด้วยตั้งแต่สมัยอพยพมาจากอยุธยา เก็บรักษาไว้อย่างดี 2 อย่าง คือ รูปแม่พระลูกประคำและรูปพระศพของพระเยซูเจ้า โดยรูปแม่พระลูกประคำจะนำมาแห่รอบวัดปีละ 1 ครั้งในโอกาสฉลองวัด ขณะที่รูปพระศพของพระเยซูเจ้าจะนำมาแห่รอบวัดปีละ 1 ครั้งในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
2
ปัจจุบันโบสถ์นี้มีการเปิดให้คริสต์ศาสนิกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนเข้ามาทำพิธีต่างๆ เช่น พิธีมิสซา และพิธีเดินรูป 14 ภาค
1
[พิกัด:] อยู่ในชุมชนซอยวานิช 2 (ตลาดน้อย) ตรงวงเวียน ใกล้ๆกับสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และกรมเจ้าท่า ทางเข้าตัวโบสถ์อยู่ในบริเวณของโรงเรียนกุหลาบวิทยา
  • ออกจากโบสถ์กาลหว่าร์ เดินไปตามทางซ้ายมือของซอยวานิช 2 ซึ่งเป็นด้านหน้าทางเข้าของกรมเจ้าท่า แถวๆด้านหน้าจะมีร้านอาหารตั้งโต๊ะขายอยู่ ผมก็แวะกินที่ร้านอาหารที่มีขายทั้งข้าวราดแกงและก๋วยเตี๋ยวเป็นร้านน่านั่งหน่อยอยู่ตรงข้ามกับกรมเจ้าท่าเลยชื่อร้าน ช.โภชนา ถ้าเราเดินเลยเข้าไปหน่อยจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้าท่าเป็นเจ้าดังของซอยนี้ (ไปวันอาทิตย์ร้านปิด)
  • เดินเลยกรมเจ้าท่าไปหน่อยนึง สังเกตฝั่งซ้ายมือไว้ซอยแรกเลยที่มีคาเฟ่เล็กๆหน้าปากซอย มีป้ายเขียนว่า “ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก” นั่นแหละครับเดินเข้ามาได้เลยเป็นที่หมายแรก สองข้างทางในตรอกนี้จะมี Street Art เก๋ๆ และนิทรรศการรูปถ่ายย่านตลาดน้อยอยู่ ถ่ายรูปได้ยาวๆตลอดทั้งทางเดินยาวไปเรื่อยๆ
1
ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก
นิทรรศการรูปถ่ายย่านตลาดน้อย
Street Art ตลอดทางเดินตรอกศาลเจ้าโรงเกือก
  • เดินเข้ามาจนถึงตึกนึงกำแพงสูงๆที่ดูแบบว่าเก่าๆมี 2 ชั้น และมีภาพวาดที่กำแพงบอกว่าเป็นร้านกาแฟ นั่นแหละครับคือร้าน Mother Roaster ชื่อดังของคุณป้าสายฮิปคั่วกาแฟเองชงเอง (ลูกชายช่วย) ข้างล่างทางเข้าจะเป็นเซียงกงเก่าที่มีซากอะไหล่เครื่องยนต์วางกองกันอยู่มืดๆขึ้นมาถึงจะเป็นร้านน่านั่ง
ถึงแล้วร้านกาแฟ Mother Roaster
ทางขึ้นร้านชั้นบน และ บรรยากาศด้านบน
Mother Roaster (M/R) เป็นร้านที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนสูงอายุว่าไม่มีใครแก่เกินกว่าที่จะทำอย่างเช่นการเปิดร้านกาแฟของคุณแม่เจ้าของร้านวัย 70 กว่า และเป็นร้านแนวฮิปๆด้วยวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ชอบมา hopping ถ่ายรูปแชร์ให้สนั่นโซเซียล ยังไม่พอลงมือคั่วกาแฟเองด้วยไม่ได้รับมาขายอีกต่างหาก ด้วยที่ว่าการดื่มกาแฟเป็นสิ่งหรือไลฟ์สไตล์แบบเก่าๆแต่ยังคงมีอิทธิพลส่งผลต่อชีวิตการเข้าสังคมและเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจนถึงยุคปัจจุบันหรือเทรนด์เดี๋ยวนี้ก็คือ Specialty Coffee
เรื่องราวคร่าวๆของร้านนี้ คือ แรกเริ่มคุณป้าเจ้าของร้านเปิดเป็นเหมือนซุ้มไม่ใหญ่มากริมถนนมหาพฤฒาราม ใกล้หัวลำโพง ก่อนจะขยับขยายย้ายมาเปิดที่ใหม่ในชุมชนตลาดน้อยนี้ครับ
เค้ามีไปเปิดเพิ่มสาขาใหม่ที่แถวสำราษราฎร์-ประตูผี โดยคุณป้าเจ้าของร้านก็ย้ายไปประจำทำกาแฟที่สาขาใหม่ตรงประตูผีพร้อมทีมบาริสต้ารุ่นเก๋าวัยใกล้ๆกัน และตอนนี้ให้ลูกหลานของคุณป้ามาประจำทำกาแฟที่สาขาตลาดน้อย ดังนั้นถ้ามาที่สาขาตลาดน้อยตอนนี้จะไม่เจอคุณป้าแล้วแต่จะมีแต่รุ่นลูกเค้าอยู่ครับ
[บรรยากาศร้าน:]
สไตล์แนววินเทจ แบบคาเฟ่บ้านไม้เก่าในชุมชนคนจีนเก่าแก่ซึ่งอยู่ในตรอกเล็กๆทางเดินเข้าศาลเจ้าอีกทีหนึ่ง ด้านล่างเป็นเซียงกงเก็บอะไหล่ยนต์เก่ากองเต็มพื้นชั้นล่าง ตัวร้านจริงๆต้องเดินขึ้นมาชั้นบน ตกแต่งน่านั่งบรรยากาศเก่าๆ เป็นห้องแอร์ครับ ไม่ร้อน แต่ก็มีที่นั่งตรงระเบียงด้านนอกห้องด้วย
บรรยากาศตรงบาร์กาแฟ
กาแฟและขนมที่สั่งมาทานคู่กัน
  • เดินต่อเข้ามาจากร้านกาแฟดังจนสุดซอยริมน้ำเจ้าพระยา ฝั่งซ้ายมือจะเป็นบริเวณของศาลเจ้าโรงเกือก หรือ ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง ตามชื่อของเทพประธานของศาลเจ้านี้ ที่นี่ก็เป็นจุดเช็คอินถ่ายรูปอีกที่หนึ่งครับ ตรงกำแพงริมน้ำของศาลเจ้าจะมี Street Art รูปปลาทองหันหน้าเข้าหากัน ถ่ายรูปได้เก๋ๆวิวริมน้ำ ตรงข้ามเป็นตึกสูงๆน่าจะเป็น Banyan Tree Residences (ในซอยวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน)
1
ศาลเจ้าโรงเกือก หรือ ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง
  • เดินตามทางต่อไปเข้าเรื่อยๆในตรอก เลียบไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงสถานที่เช็คอินอีกที่ของตลาดน้อยนั่นคือ โซวเฮงไถ่ หรือบ้านจีนเก่าโบราณของคฤหบดี ปัจจุบันเป็นสำนักดำน้ำมีสระตรงกลาง
ทางเดินในชุมชนเลียบแม่น้ำ มี Street Art เป็นระยะ
  • โซวเฮงไถ่ - คฤหาสน์จีนโบราณแบบฮกเกี้ยนอายุกว่า 230 ปี มีสระสอนดำน้ำกลางลาน
1
ด้านหน้าทางเข้าโซวเฮงไถ่
โซวเฮงไถ่ เป็นสถานที่ landmark อันนึงในย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ อยู่ในตรอกย่อยเล็กๆอีกทีหนึ่ง ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ต้องเดินเข้ามาหรือใช้มอเตอร์ไซค์หรือจักรยาน) ที่แยกออกมาจากซอยวานิช 2 ใกล้ๆกับกรมเจ้าท่า อยู่ระหว่างศาลเจ้า 2 ที่ คือศาลเจ้าโรงเกือก กับ ศาลเจ้าโจวซือกง
จริงๆสถานที่นี้เป็นบ้านส่วนบุคคลนะครับ แต่เค้าเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ โดยไม่เสียค่าเข้า แต่มีกฎกติกาว่าถ้าต้องการมาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศแบบจริงจังหรืออยู่นานๆต้องสั่งเครื่องดื่มหรือขนมจากที่เค้าจำหน่ายลักษณะคาเฟ่ด้านในอย่างน้อยคนละ 1 อย่าง (เพื่อใช้เป็นค่าบำรุงสถานที่) จริงๆมันเป็นมารยาทที่เราควรต้องทำอยู่แล้ว แต่เค้าได้ระบุให้ชัดเจนอีกครั้งครับ
1
[ประวัติของสถานที่:]
โซวเฮงไถ่ เป็นบ้านไม้โบราณศิลปะจีนแบบวัง สไตล์ฮกเกี้ยน ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 อายุมากกว่า 230 ปี ประกอบด้วยตัวตึกแบบเก๋งจีนหลายหลังติดต่อกัน ล้อมรอบบริเวณเป็นสี่เหลี่ยม มีลานโล่งตรงกลางซึ่งปัจจุบันถูกปรับเป็นสระสำหรับฝึกดำน้ำ
ธุรกิจของเจ้าของคนปัจจุบัน โดยเค้ามีป้ายขึ้นเขียนว่า “สำนักดำน้ำ” ที่ประตูไม้บานใหญ่สีแดงหน้าบ้านมีตัวหนังสือจีนเขียนไว้ว่า “โซว เฮง ไถ่” แต่คนทั่วไปเรียกบ้านนี้ว่า “บ้านเจ้าสัวสอน” (และเป็นชื่อตรอกทางเข้ามาที่บ้านนี้ด้วย)
ต้นตระกูลของที่นี่คือ พระอภัยวานิช (จาต) ซึ่งมาจากเมืองจีน เดิมเป็นเจ้าเมืองเสฉวน ด้วยเหตุนี้ประตูใหญ่หน้าบ้านจึงมีโคม “เต็งลั้ง” เป็นเครื่องหมายยศเจ้าเมืองของจีนแขวนไว้ตั้งแต่สมัยสร้างบ้านหลังนี้เสร็จ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านนี้เป็นตระกูลนายอากรรังนกได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “โปษยะจินดา” จนถึงปัจจุบัน มีผู้ปกครองหรือเจ้าของบ้านหลังนี้ส่งต่อกันมาทั้งหมด 7 ท่าน
1
สระสำหรับฝึกสอนดำน้ำกลางบ้าน
เครื่องดื่มและขนมที่สั่งมาทาน
บรรยากาศด้านบนตัวบ้าน
  • เดินออกมาจากโซวเฮงไถ่ต่อไปทางขวามือเพียงนิดเดียว จะเห็นเป็นลานและมีจุดเช็คอินถ่ายรูปอีกที่ที่คนนิยมมานั่นคือซากรถโฟลท์เก่าๆที่มีฉากหลังเป็นกำแพงเก่าๆมีอิฐมอญโผล่เป็นลาย
Street Art ที่เป็นจุดเช็คอิน
  • เดินตรงไปต่อจนถึงสามแยกให้เดินไปทางซ้ายเป็นตรอกเล็กๆจะเป็นทางเดินอ้อมด้านหลังไปยังศาลเจ้าใหญ่ของที่นี่ชื่อว่า ศาลเจ้าโจวซือกง อายุกว่า 200 ปี ที่สักการะสำคัญของคนจีนฮกเกี้ยนในชุมชนนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระเซ่งจุ๊ยจ้อซือ และเทพเจ้าอื่นๆ อาทิ พระไทจื่อเอี๋ย เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อเสือ และที่สำคัญมี สามสิบหกเทพเจ้า อยู่อีกด้วย
2
ศาลเจ้าโจวซือกง
  • เดินออกมาจากศาลเจ้าโจวซือกงเพื่อไปออกซอยวานิช 2 อีกทางนึง ระหว่างทางก็จะยังมี Street Art ให้เห็นอยู่ เดินข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งของซอยวานิช 2 เพื่อเดินไปทะลุถึงถนนเจริญกรุง แถวนั้นจะมีพวกร้านอาหาร ร้านขายขนม ที่เป็นของขึ้นชื่อตลาดน้อยอยู่ (วันที่ไปเป็นวันหยุดส่วนใหญ่ร้านจะปิด) พอไปโผล่เส้นเจริญกรุงหลักออกมาแถวๆซอยเจริญกรุง 22 แถวนั้นก็มีร้านก๋วยเตี๋ยวรูตลาดน้อย
1
Street Art ตามทางเดิน
  • เดินย้อนลงมาตามเส้นเจริญกรุง ผมเลี้ยวเข้าซอยเจริญกรุง 24 (เชิงสะพานข้ามคลอง) ตรงนั้นปากซอยจะเป็นโรงหนังสือพิมพ์จีนเก่า ซึ่งกำแพงข้างๆก็มีรูปให้ถ่ายรูปได้สวยๆอีกที่ก่อนจบ เดินเข้ามาจนสุดก็จะโผล่ตรงด้านหลังของ River City ตรงตึกจอดรถ วกกลับเดินเป็นวงกลมถึงจุดที่เริ่มเดินเข้ามาครับ
โรงหนังสือพิมพ์จีนเก่า
  • แนะนำการเดินทางมาตลาดน้อย:
  • ถ้าขับรถส่วนตัวมาเอง บริเวณรอบๆย่านตลาดน้อยจะมีที่รับฝากจอดรถเสียเป็นรายชั่วโมงเอา สะดวกดี ยอมเสียเงินหน่อยและสบายใจ หรือไม่ใครเป็นสายลุยชอบเดินชมวิวก็มีอีกวิธีหนึ่งคือจอดรถไว้ที่ ICONSIAM แล้วนั่งเรือข้ามฟากด้านหลังของห้าง (บริการฟรี) มายังท่าสี่พระยาตรง River City แล้วเดินลัดเลาะเข้ามาตามซอยข้างๆโบสถ์กาลหว่าร์หรือโรงเรียนกุหลาบวิทยา ทะลุออกมาตรงซอยวานิช 2 แถวกรมเจ้าท่า ก็เดินชมตลาดน้อยได้
  • BTS สถานีสะพานตากสิน หรือ MRT สถานีหัวลำโพง แล้วต่อรถสาธารณะมีรถเมล์วิ่งผ่านตรงเส้นเจริญกรุงอยู่ หรือไม่ก็นั่งเรือด่วนหรือเรือข้ามฟาก
1
แผนที่ท่องเที่ยวตลาดน้อย แบบ Street Art
บทความโดย Right SaRa
โฆษณา