28 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แม้วิกฤติธนาคารถลาโถม ธนาคารกลางทั่วโลกต่างยังคงขึ้นดอกเบี้ย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกมีเป้าหมายเพียงประการเดียว นั่นคือ “การลดอัตราเงินเฟ้อไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม” รวมถึงในตอนนี้ ที่แม้ว่าจะประสบกับความไม่แน่นอนด้านการธนาคาร
แม้ว่าฝ่ายธนาคาร Silicon Valley จะล่ม แต่ประธาน FED ก็ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคาร
โดยอ้างว่าความล้มเหลวของธนาคารไม่ได้สะท้อนถึงข้อบกพร่องในวงกว้างในระบบการเงิน
ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปยังคงยึดติดอยู่กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวนมากท่ามกลางการล่มสลายของธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมไปถึงธนาคาร Credit Suisse ที่ส่อแววปัญหาในอีกไม่กี่วันถัดมา
💙 FED ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อยท่ามกลางวิกฤติธนาคารทั่วโลก
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา Federal Reserve ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%
เนื่องจากต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงเหนือกรอบเป้าหมาย ท่ามกลางความกังวลถึงวิกฤติธนาคารที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารกลางสหรัฐก็ได้มีการส่งสัญญาณการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเหตุการณ์แบงก์ล่มติด ๆ กันถึง 2 แห่ง
โดย Federal Funds Rate ได้ปรับตัวสูงขึ้นเข้ามาอยู่ในช่วง 4.75%-5%
ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2007
ถึงแม้จะมีสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง
แต่ทางกรรมการก็ยังคงเห็นพ้องต้องกันว่า FED จะยังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อยู่เพื่อดึงเงินเฟ้อให้กลับลงมาสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ให้ได้
ซึ่งผู้กำหนดนโยบายของ FED ได้คงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่คาดการณ์ไว้สำหรับปีนี้ว่าจะระหว่าง 5-5.25%
โดยเจ้าหน้าที่จำนวน 7 คนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยืนเหนือ 5.25%
ในขณะที่เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งคนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงถึง 6%
และไม่มีเจ้าหน้าคนไหนที่คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงในปีนี้
จากการคาดการณ์ของ FED พบว่า อัตราการว่างงานจะสิ้นสุดในปีนี้ที่ 4.5% ลดลงจาก 4.6% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม
ในขณะที่ GDP คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.4% ลดลงจาก 0.5% ที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า
ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะจบปีที่ 3.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม
💙 ECB ยังคงเปิดโอกาสให้มีการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน
Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์วิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความยุ่งยากมากขึ้น
โดยการตัดสินใจที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปจะต้องขึ้นกับข้อมูลที่กำลังเกิดขึ้น
โดยเฉพาะตัวบ่งชี้ทางด้านเงินเฟ้อว่าจะลดลงหรือไม่
ซึ่งจากถ้อยแถลงดังกล่าว ก็ทำให้เราเห็นว่า ตอนนี้ ธนาคารกลางยุโรปแสดงอย่างชัดเจนว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นนั้นเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง
💙 เงินเฟ้อในอังกฤษกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง กดดันธนาคารกลางให้ขึ้นดอกเบี้ย
ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษไ้ดมีการคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ติดต่อกัน หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีด้วยอัตราที่สูงกว่า 11% ในเดือนตุลาคม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมา พบว่าอัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นเป็น 10.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีการคาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่าธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%
จากกรณีที่เกิดขึ้นของ Credit Suisse และ Silicon Valley Bank แสดงให้เห็นว่าธนาคารระหว่างประเทศบางแห่งพบว่าเป็นการยากที่จะปรับตัวหลังจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
ซึ่งก็ช่วยสนับสนุนการแนวคิดที่ว่าธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนได้คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ภายในสิ้นเดือนกันยายน
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา