31 มี.ค. 2023 เวลา 13:18 • ประวัติศาสตร์

ฉายาของประเทศต่าง ๆ : EP.3 The Rest of Asia

มาถึงตอนที่ 3 กันแล้วนะครับกับฉายาของประเทศต่าง ๆ วันนี้เรามาดูฉายาของประเทศอื่น ๆ ที่เหลือในเอเชียกันบ้าง ว่ามีเรื่องราวอะไรสนุก ๆ ที่น่าสนใจก่อนที่เราจะ Move On ไปยังทวีปอื่นกัน
3
1. ศรีลังกา : Sri Lanka, The Pearl of the Indian Ocean หรือ India’s Teardrop
ศรีลังกา ประเทศเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรอินเดีย มาพร้อมกับฉายา "The Pearl of the Indian Ocean : ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย" ซึ่งฉายานี้ได้มาจากความสวยงามของธรรมชาติบนเกาะศรีลังกา ไม่ว่าจะเป็นชายหาดขาวท่ามกลางต้นมะพร้าวสูง หรือภูเขาที่เต็มไปด้วยไร่ชา และวัดทางพุทธศาสนาที่แทรกตัวอยู่แทบทุกแห่งของประเทศ
ความสวยงามของศรีลังกา (Source: EHL Insight)
แต่อีกฉายานึงที่ดูจะเหมาะกับประเทศนี้มากกว่าคือ "India’s Teardrop : หยาดน้ำตาของอินเดีย" เพราะรูปร่างของศรีลังกา ที่เรียวแหลมด้านบน แล้วค่อย ๆ กว้างออกจนโค้งบรรจบกันที่ฐาน ทำให้ศรีลังกามีรูปร่างเหมือนหยดน้ำตา ที่ไหลออกมาจากประเทศอินเดียที่อยู่ด้านบน
รูปร่างของศรีลังกาที่เหมือนกับหยดน้ำตา (Source: https://www.kaleidoskop-wuerth.com)
ในปัจจุบันประเทศศรีลังกากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก หลังจากการดำเนินนโยบายบริหารประเทศที่ผิดพลาดมาอย่างยาวนานของตระกูลราชปักษา การคอรัปชั่น และผลพวงจาก Covid 19 ทำให้ประเทศที่เคยมีการเจริญเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต้องกลายมาเป็นประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจล้มเหลว ประชาชนต้องสูญเสียงาน สูญเสียเงินเก็บ และสูญเสียน้ำตาให้กับความยากจนข้นแค้น ซึ่งก็หวังว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช่วยให้หยาดน้ำตาแห่งอินเดีย เป็นหยาดน้ำตาแห่งความสุข ไม่ใช่มาจากความเศร้าแบบในปัจจุบัน
การประท้วงของชาวศรีลังกาตลอดปี 2022 ต่อความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารประเทศ (Source: ORF)
2. อินเดีย : India, The Golden Sparrow
อินเดียสำหรับคนไทยอาจจะมีฉายาว่าแดนภารตะ ซึ่งคำว่า "ภารตะ" มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นชื่อที่คนอินเดีย เรียกประเทศของตนเองนั่นเอง
วัดทอง สถานที่ที่สำคัญที่สุดของชาวซิกข์ ในเมืองอัมริตสา (Source: World Atlas)
ส่วนประเทศอินเดียกับฉายา "The Golden Sparrow : นกกระจอกสีทอง" เป็นฉายาโบราณที่ชาวโรมันตั้งให้กับดินแดนชมพูทวีป หรือก็คือดินแดนในแถบประเทศอินเดียในปัจจุบัน เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล จนมาถึงช่วงประมาณศตวรรษที่ 10 ก่อนที่บรรดาอาณาจักรต่าง ๆ ในชมพูทวีป จะล่มสลายไปจากการรุกรานของเพื่อนบ้าน
4
อินเดีย คือหนึ่งในอารยธรรมที่สำคัญของโลก (Source: BBC)
นักวิชาการเชื่อกันว่าฉายานี้มาจากการค้าขายในสมัยโบราณ ในตอนนั้นอินเดียคือหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เทียบเท่าได้กับอาณาจักรโรมัน สินค้าอย่างผ้า เครื่องเทศ และน้ำหอมจากอินเดียกลายมาเป็นสินค้าหรูหรา และเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในยุโรป และสิ่งที่ชาวอินเดียต้องการจากชาวยุโรปก็คือทองคำ เพราะทองคำคือตัวแทนของความร่ำรวย และความโชคดี
2
น้ำหอม คือหนึ่งในสินค้าหรูหราจากอินเดียที่เป็นที่ต้องการของชาวยุโรปในสมัยก่อน (Source: National Geographic)
ตามความเชื่อของอินเดีย การสวมใส่ทองคำบนตัว จะยิ่งทำให้เงินทองไหลมาเทมา ทำให้ความต้องการทองคำในอินเดียพุ่งกระฉูด จนชาวโรมันถึงกับบอกว่า นกกระจอกในอินเดียคงจะเคลือบไปด้วยทองแน่นอน เพราะทองคำมากมายไหลเข้าสู่ประเทศอินเดียอย่างไม่ขาดสาย
1
นอกจากนั้นใต้พื้นดินของอินเดีย ยังเต็มไปด้วยอัญมณีล้ำค่า โดยเฉพาะเพชร และพลอยสีต่าง ๆ ที่นำความร่ำรวยมาสู่อินเดีย จนทำให้ราชวงศ์ของอินเดียถือเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในขณะนั้น ทั้งหมดทั้งมวลจึงนำมาซึ่งฉายา The Golden Sparrow
1
ทัชมาฮาล หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอินเดีย ที่แสดงถึงวัฒนธรรมขั้นสูงของอินเดีย (Source: Wikipedia)
แต่หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์โมกุล อินเดียก็ถูกปกครองโดยชาวมุสลิม ก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวอินเดียต้องโดนกดขี่ข่มเหง และฉายา The Golden Sparrow ก็กลายเป็นเพียงหน้าประวัติศาสตร์ แต่ในที่สุดอินเดียก็ได้รับอิสรภาพ และกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม ดังนั้นเราคงจะต้องมาจับตาดูกันว่าอินเดียจะกลับมาใช้ฉายา The Golden Sparrow ได้อีกหรือไม่
5
3. อัฟกานิสถาน : Afghanistan, Graveyards of Empires
5
อัฟกานิสถาน ประเทศที่ในปัจจุบันมีชื่อเสียงในเรื่องของสงคราม และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยที่บริเวณนี้เริ่มมีคนเข้ามาตั้งรกรากกันแล้ว
กลุ่มตาลิบันที่ในขณะนี้กำลังปกครองอัฟกานิสถานอยู่ (Source: CSM)
ตั้งแต่อดีต อาณาจักรยิ่งใหญ่หลายแห่งได้พยายามเข้ายึดดินแดนอัฟกานิสถานตั้งแต่อาณาจักรมาเซโดเนียของ Alexander มหาราช อาณาจักรมองโกลของเจงกิสข่าน อาณาจักรโมกุลของอินเดีย จนมาถึงในยุคปัจจุบันอย่างการเข้ายึดครองพื้นที่โดยอาณาจักรอังกฤษในช่วงปี 1839-1919 หรือการเข้ายึดครองโดยสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1979-1989 จนมาถึงการเข้ายึดครองของสหรัฐอเมริกาในปี 2001-2021
2
ภาพการล่าถอยของกองทัพอังกฤษ ในการทำสงครามอังกฤษ-อัฟกันครั้งที่ 1 (Source: Wikipedia)
แต่สิ่งที่ทุกมหาอำนาจต้องประสบพบเจอคือ การต่อต้านของชาวพื้นเมือง ซึ่งเมื่อดินแดนโดนยึด ก็จะกลับไปรวมตัวกันสร้างสุมกองกำลังกลับมาทำสงคราม และยึดเอาดินแดนของตนเองกลับคืนจากชาติมหาอำนาจได้จนสำเร็จ ส่วนบรรดาชาติมหาอำนาจก็ต้องสูญเสียกำลังพลคนในชาติ และทรัพยากรไปมากมาย จนดินแดนอัฟกานิสถานกลายมาเป็น “Graveyard of Empires : สุสานของเหล่าบรรดามหาอำนาจ” นั่นเอง
แม้แต่มหาอำนาจอย่างอเมริกา ก็ต้องล่าถอยจากอัฟกานิสถานในปี 2020-2021 (Source: BBC)
ส่วนสิ่งที่ทำให้อัฟกานิสถานยากที่จะเข้ายึดครอง เห็นจะเป็นเรื่องของภูมิประเทศที่เป็นเต็มไปด้วยภูเขาสูง เดินทางแสนลำบาก และอากาศก็แปรปรวนตลอดเวลา นอกจากนี้ภูเขาสูงยังเป็นที่หลบภัยชั้นดีให้กับบรรดานักรบพื้นเมืองทั้งหลาย ที่คอยวางแผนคอยยึดดินแดนของพวกเขาคืนจากเหล่ามหาอำนาจ
ในปัจจุบันอัฟกานิสถานถูกปกครองโดยกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ส่งผลให้ประเทศถูกคว่ำบาตรจากทั่วโลก คงต้องดูกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีมหาอำนาจไหนคิดที่จะเข้ามายึดครองที่นี่อีกหรือไม่ หรือกลุ่มตาลีบันจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ต้องถูกฝังลงไปอยู่ในสุสานที่มีชื่อว่า "อัฟกานิสถาน" แห่งนี้
อัฟกานิสถาน มีพื้นที่ส่วนมากเป็นภูเขาสูง (Source: Flickr)
4. อิรัก : Iraq, Cradle of Civilization
หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อของดินแดนเมโสโปเตเมียมากันบ้างใช่มั้ยครับ ดินแดนระหว่างแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติสแห่งนี้คือดินแดนอารยธรรมแห่งแรกของโลก ที่นี่คือสถานที่แรกที่มนุษย์เริ่มอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการผลิตตัวอักษร มีการริเริ่มทำการเกษตร การชลประทาน จนกลายมาเป็นต้นแบบของสังคมเมือง และทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นประมาณ 10000 - 3000 ปีก่อนคริสตกาล
อักษรคูนิฟอร์ม ภาษาเขียนภาษาแรกของโลก (Source: Ancient Origin)
จากนั้นบริเวณนี้ก็ถูกปกครองมาด้วยอาณาจักรที่เรืองอำนาจหลายแห่ง ทั้งอาณาจักรซุเมเรียน อาณาจักรอัซซีเรีย กรุงบาบิโลนหนึ่งในเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีตที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะ และสถาปัตยกรรมก็สร้างขึ้นในบริเวณนี้ จนมาถึงยุคของซัดดัม ฮุสเซน ก่อนที่สุดท้ายประเทศจะตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวายมาจนถึงปัจจุบัน
2
อย่างไรก็ตาม ความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเมโสโปเตเมีย ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าดินแดนอิรักคือ "Cradle of Civilization : แอ่งอารยธรรม" นั่นเอง
ภาพจำลองกรุงบาบิโลน (Source: Flickr)
5. อิสราเอล : Israel, The Promised Land
"The Promised Land : ดินแดนพันธสัญญา" คงเป็นชื่อที่หลายคนต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอน นี่คือฉายาของประเทศอิสราเอล ประเทศของชาวยิว ที่ในปัจจุบันก็ยังคงต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง จากชนวนเหตุด้านศาสนาและการแก่งแย่งดินแดนที่มีมาอย่างยาวนาน
ธงชาติของอิสราเอล ที่มี Star of David สัญลักษณ์ของชาวยิวอยู่ตรงกลาง (Source: iStock)
เหตุผลที่ดินแดนในบริเวณอิสราเอลกลายมาเป็นดินแดนพันธสัญญานั้น เป็นเพราะในคัมภีร์โทราห์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนายูดาห์ ศาสนาของชาวยิว กล่าวไว้ว่า พระเจ้าได้สัญญากับอับราฮัม หนึ่งในผู้เผยพระวจนะของพระเจ้าว่า จะมอบ "ดินแดนที่อยู่บริเวณ Wadi ของอียิปต์ จนถึงแม่น้ำยูเฟรติส” ให้เป็นที่อยู่ของของอับราฮัมและลูกหลานชาวยิว
เรื่องราวจริง ๆ มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก แต่เอาเป็นว่านี่คือสาเหตุที่ในใจของชาวยิวทุกคน ดินแดนอิสราเอลคือบ้านที่พระเจ้ามอบให้กับพวกเขานั่นเอง ใครที่สนใจเรื่องนี้สามารถไปดูการ์ตูน The Prince of Egypt ได้
กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล (Source: Viator)
อย่างไรก็ตามบ้านของพวกเขา ก็มักจะถูกรุกรานโดยเพื่อนบ้านเสมอ จนสุดท้ายดินแดนในบริเวณนี้ก็ตกไปเป็นของอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งมีนโยบายต่อต้านชาวยิว ทำให้พวกเขาต้องหนีตายกระจัดกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และอเมริกา ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งเป็นชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งก็ค่อย ๆ ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้
แต่หลังจากที่อาณาจักรออตโตมันพ่ายแพ้สงคราม อังกฤษได้เข้ามาปกครองพื้นที่ในแถบตะวันออกกลาง ในขณะที่ชาวยิวซึ่งตอนนี้มีฐานะร่ำรวยในยุโรปและอเมริกา ก็อยากที่จะกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ทำให้มีการล้อบบี้ และต่อรองในหลาย ๆ เรื่องจนกระทั่งอังกฤษสัญญากับชาวยิวว่าจะคืนดินแดนบางส่วนในบริเวณนี้ให้กับชาวยิว เพื่อตั้งเป็นประเทศแห่งใหม่ขึ้น
1
Balfour Declaration คำประกาศ Balfour จากรัฐบาลอังกฤษ ที่สัญญาว่าจะมีการสร้างประเทศแห่งใหม่สำหรับชาวยิว (Source: Wikipedia)
และนี่ก็คือต้นเหตุของการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านของตน หันไปพึ่งพาเพื่อนบ้านอาหรับชาติอื่น ๆ จนเกิดเป็นสงครามที่ยังยืดเยื้อมาเรื่อย ๆ และดูท่าว่าจะไม่มีวันสิ้นสุดได้ง่าย ๆ
กรุงเยรูซาเล็มในอิสราเอล ศูนย์กลางของศาสนายูดาห์ และเป็นสถานที่สำคัญของศาสนาคริสต์ และอิสลาม (Source: Wikipedia)
แต่ก็ด้วยเหตุผลข้างตน ทำให้อิสราเอลขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการทหารแข็งแกร่งที่สุดในโลก พวกเขาสามารถยืนหยัดท่ามกลางศัตรูที่ล้อมรอบตนเองมาได้เป็นเวลานาน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าชาวยิว ให้ความสำคัญกับดินแดนพันธสัญญา ดินแดนที่พระเจ้ามอบให้พวกเขามากขนาดไหน
1
กองกำลังอิสราเอล คือหนึ่งในกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก (Source: The Time of Israel)
6. เลบานอน : Lebanon, Switzerland of the East
ถ้าพูดถึงประเทศเลบานอน หลายคนน่าจะนึกถึงเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ท่าเรือของเมืองเบรุต ภาพการระเบิดในครั้งนั้นเหมือนกับระเบิดปรมาณูถูกหย่อนลงในบริเวณนั้นก็ไม่ปาน ความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นทำให้คณะรัฐบาลของเลบานอนทั้งคณะต้องประกาศลาออก
ภาพท่าเรือ และบริเวณใกล้เคียงในเมืองเบรุตที่พังราบเป็นหน้ากลอง หลังการระเบิดครั้งใหญ่ในปี 2020 (Source: BBC)
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในสมัยก่อน โดยเฉพาะช่วงปี 1930-1960 เลบานอนคือหนึ่งในประเทศที่เจริญมากที่สุดในตะวันออกกลาง โชคดีที่ตอนที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเลบานอน ได้มีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้มากมาย ประกอบกับการมีรัฐบาลที่แข็งแกร่งหลังได้รับอิสรภาพ ทำให้เศรษฐกิจของเลบานอนเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การท่องเที่ยวของเลบานอนก็ยังบูมถึงขีดสุดโดยเฉพาะกับเหล่าบรรดาคนดังที่อยากมานอนอาบแดดริมทะเล หรือเล่นสกีบนเขาหิมะที่มีอยู่ทั่วประเทศ
น้ำตก Baatara Gorge หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเลบานอน (Source: Viator)
และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเลบานอนเลือกที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศในตอนนั้นคืออุตสาหกรรมธนาคาร และการเงิน โดยใช้นโยบายทางการเงินคล้ายกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลของลูกค้าเป็นความลับสูงสุด ทำให้เงินฝากจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในธนาคารของเลบานอน
นอกจากนี้ก่อนปี 1975 เลบานอนประกาศตนเองอย่างชัดเจนว่าตนเองจะดำเนินนโยบายเป็นกลางในทุกสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งก็เป็นนโยบายเดียวกันกับสวิสเซอร์แลนด์ยึดถือปฏิบัติตลอดมา
กรุงเบรุตในช่วงปี 1950-1960 ซึ่งถือเป็นยุคทองของเมือง จนได้รับฉายาว่า Paris of the East (Source: https://www.lebanoninapicture.com)
และท้ายสุด ภูมิประเทศของเลบานอน ยังมีภูเขาสูงเป็นจำนวนมาก โดยจะมีภูเขาที่มีหิมะปกคลุมทอดเป็นแนวยาวในทิศตะวันตก และทิศตะวันออกของประเทศ และยังมีป่าสนซีดาร์ ไม้ราคาแพงที่จะพบได้ในภูเขาสูงของเลบานอนเท่านั้น
สนซีดาร์ หนึ่งในไม้ศักดิ์สิทธิ์และสามารถพบได้ในเลบานอนเท่านั้น (Source: https://www.adventurouskate.com/places-to-visit-in-lebanon)
อุตสาหกรรมทางการเงินที่แข็งแกร่ง การวางตัวเป็นกลาง และภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหิมะสูง ทั้งหมดทั้งมวลเมื่อมารวมกัน จึงไม่แปลกที่เลบานอนจะมาพร้อมกับฉายา “Switzerland of the East : สวิสเซอร์แลนด์แห่งตะวันออก”
น่าเสียดายที่เลบานอนต้องผ่านสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 15 ปี ตั้งแต่ปี 1975-1990 จนมาถึงในตอนนี้เลบานอนกลายเป็นประเทศที่ล้มละลายจากการบริหารการเงินที่ผิดพลาดของรัฐบาล และก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าที่เลบานอน จะได้ฉายาเดิมกลับคืนมา
เมือง Baalbek ที่มีซากของเมืองโรมัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของเลบานอน (Source: https://www.adventurouskate.com/places-to-visit-in-lebanon)
7. โอมาน : Oman, The Pearl of Arabia
โอมาน ประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอารเบีย ที่มาพร้อมกับฉายา “The Pearl of Arabia : ไข่มุกแห่งอารเบีย” ซึ่งเหตุผลนั้นว่ากันว่าเป็นเพราะโอมานรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความเป็น “อารเบีย” เอาไว้ในประเทศเดียว
มัสกัต เมืองหลวงของโอมาน (Source: Wikipedia)
โอมานมีทั้งทะเลทรายกว้างใหญ่ เมืองโอเอซิสแสนสวยที่เต็มไปด้วยต้นอินทผลัมเหมือนหลุดออกมาจากนิยาย ภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยโตรกเขาจนได้ฉายาว่า Grand Canyon of Arabia และชายฝั่งทะเลที่มีอากาศดีตลอดปี เมืองหลวงอย่าง มัสกัตก็เป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย แต่ก็ไม่ได้เป็นมหานครเหมือนกับดูไบ หรืออาบู ดาบี ทำให้โอมานเหมาะมากสำหรับคนที่อยากได้ความสะดวกสบาย แต่ก็ยังอยากสัมผัสกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของอารเบียอยู่
Wadi Shab หนึ่งในเมืองโอเอซิส สถานที่ท่องเที่ยวของโอมาน (Source: travelsillustrated)
ที่สำคัญมากไปกว่านั้นในศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ไข่มุกถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของโอมาน ว่ากันว่า 95% ของรายได้ทั้งหมดของชาวโอมาน มาจากการค้าไข่มุก ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรป ก่อนที่ราคาของไข่มุกจะเริ่มตกลงจากการเริ่มทำฟาร์มหอยมุก
8. เยเมน : Yemen, The Happy Land
เยเมน อีกหนึ่งประเทศที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก ประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในตะวันออกกลาง และผ่านสงครามกลางเมืองมาหลายต่อหลายครั้งจนเคยแยกเป็นเยเมนเหนือ และเยเมนใต้มาแล้ว
ในปี 2005 สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นอีกครั้ง และยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันหลายประเทศได้มีประกาศเตือนไม่แนะนำให้คนประเทศตนเองเดินทางมายังเยเมน เพราะมีคดีลักพาตัวชาวต่างชาติเกิดขึ้นบ่อยมาก
สงครามกลางเมืองในเยเมน ที่ยังคงยืดเยื้ออย่างไม่จบสิ้น (Source: Vatican News)
แต่ในอดีต เยเมนไม่ใช่ดินแดนที่น่ากลัวเหมือนในปัจจุบัน แต่เป็นดินแดนที่ได้รับฉายาว่า “Arabia Felix หรือ The Happy Land : ดินแดนแห่งความสุข” เพราะสถานที่ตั้งของเยเมน อยู่ติดกับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตก มีชายฝั่งทางทิศใต้ที่ติดกับทะเลอารเบียยาวกว่า 1600 กิโลเมตร และที่ต่างกับดินแดนในตะวันออกกลางอื่น ๆ คือเยเมนมีภูเขาสูงจำนวนมาก
เยเมน เป็นประเทศในคาบสมุทรอารเบียที่มีภูเขาสูงจำนวนมาก ทำให้มีฝนตกชุกมากกว่าประเทศอื่น (Source: Peak Visor)
เมื่อมีทะเล มีภูเขา ทำให้เยเมนมีปริมาณฝนตกมาก แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางที่มักจะแห้งแล้ง และทุรกันดาร ในอดีตเมือง Al Mokka ของเยเมน เคยเป็นศูนย์กลางของการค้ากาแฟมาก่อน และเครื่องดื่มที่ชื่อ Mocha ที่เราดื่มกันในปัจจุบัน ก็ได้ชื่อมาจากเม็ดกาแฟที่ปลูกในเยเมน ที่มีกลิ่นคล้ายช้อคโกแลตนั่นเอง
เมือง Al Mokka เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของการค้ากาแฟโลก (Source: Sprudge)
น่าเสียดายที่ในปัจจุบันเยเมน ไม่ใช่ The Happy Land อีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่เยเมนมีศักยภาพสูงในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งถ้าคนในเยเมนกลับมาปรองดองกันอีกครั้ง เราอาจจะได้เห็นความ Happy กลับคืนสู่ใบหน้าของชาวเยเมนอีกครั้ง
ซานา เมืองหลวงของเยเมน ซึ่งเขตเมืองเก่าทั้งหมดได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก (Source: Inside Arabia)
จบไปแล้วกับอีก 8 ฉายา ของอีก 8 ประเทศในเอเชีย ครั้งหน้า Kang's Journal ขอพาทุกคนไปรู้จักกับฉายาของประเทศในทวีปอื่น ๆ กันบ้างนะครับ ว่าพวกเค้ามีฉายาอะไรกันบ้าง และแน่นอนว่าทุกตอนจะต้องแทรกเกร็ดความรู้สนุก ๆ ไว้ ยังไงฝากติดตามกันด้วยนะครับ
ติดตามอ่าน ฉายาของประเทศต่าง ๆ EP1 : East Asia ได้ที่นี่
ติดตามอ่าน ฉายาของประเทศต่าง ๆ EP2 : Southeast Asia ได้ที่นี่
Source:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา